“กิตติรัตน์” ยอมเผยความในใจมีความคิดปลด “ประสาร” พ้นตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ทุกวัน ลั่นถือเป็นครั้งแรกที่ออกมาพูดว่าคิดเช่นนั้นจริง เผยต้นเหตุเพราะมีการพูดเรื่องลดดอกเบี้ยหลายครั้งแล้ว แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้ต้องส่งหนังสือไปกระทุ้ง เพราะหาก ศก. เกิดความเสียหาย ต้องมีคนรับผิดชอบ ชี้ดอกเบี้ยต้องปรับลง 1% ขณะที่ “อดีตขุนคลัง” ตำหนิไม่ควรออกมาพูดเช่นนั้น เพราะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ส่วนค่าบาทวันนี้แข็งสุดรอบ 16 ปี
นายกิตติรัตน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตนเองมีความคิดที่จะไล่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่ยอมลดอัตราดอกเบีย้นนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2.75 ให้ลดลง เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าที่ส่งผลกระทบให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรจะต้องลดลงอีก 1%
“ยอมรับว่ามีความคิดจะไล่ผู้ว่าการ ธปท. ออกจากตำแหน่งทุกวัน โดยวันนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผมออกมาพูดว่าคิดเช่นนั้นจริง เพราะที่ผ่านมา ได้หารือกับผู้ว่าการ ธปท. หลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้”
นายกิตติตรัตน์ ยอมรับว่า กรณีปัญหาเรื่องการลดดอกเบี้ยเป็นเหตุผล และประเด็นสำคัญที่ตนเองต้องทำหนังสือไปถึงแบงก์ชาติอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ดำเนินการลดดอกเบี้ย ซึ่งหากไม่ดำเนินการตามนั้น และเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจก็ต้องมีมีคนรับผิดชอบ
รองนายกฯ ระบุเพิ่มเติมว่า ธปท. มีภาระต้องคืนสภาพคล่องถึง 3 ล้านล้านบาท ทำให้มีปัญหาขาดทุนจากการดูแลถึงปีละ 1 หมิ่นล้านบาท เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สูงเกินไป
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน ไม่ควรออกมาพูดถึงการไล่ผู้ว่าการ ธปท. ออกจากตำแหน่ง เพราะจะทำให้นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่น
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว เมื่อเทียบกับภูมิภาคเดียวกัน มีหลายประเทศซึ่งมีนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศไทย ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ยืนยันว่าจะแก้ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้
นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กล่าวถึงการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในวันนี้ (19 เม.ย.) เปิดตลาดที่ระดับ 28.71.73 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 28.72/74 บาท/ดอลลาร์
โดยเมื่อเวลา 08.42 น. เงินบาทปรับตัวแข็งค่ามาทำนิวโลว์ในรอบ 16 ปีที่ระดับ 28.66/68 บาท/ดอลลาร์ โดยเชื่อว่า เงินบาทปรับตัวแข็งค่าตาม inflow มากกว่า ขณะที่ยูโร และค่าเงินในภูมิภาคไม่ได้แข็งค่า ต่างชาติขายดอลลาร์