xs
xsm
sm
md
lg

“นายแบงก์” ชำแหละฟองสบู่สินเชื่อ “อสังหาฯ” เกิดได้ยาก ยกวิกฤตปี 97 ต่างกันโดยสิ้นเชิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซีอีโอแบงก์ “ซีไอเอ็มบีไทย” เปิดแผนรุกตลาดการเงินอาเซียนครบวงจร โดยการขยายเครือข่ายสาขาธุรกิจ ธุรกรรมด้านการเงินต่างๆ ในประเทศสมาชิก พร้อมมองภาวะฟองสบู่ สินเชื่ออสังหาฯ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากแต่ละบริษัทล้วนมีศักยภาพรอบด้าน โดยเฉพาะความแข็งแกร่งด้าน Cash Flow ไม่เหมือนกับปี 1997 ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจหน้าใหม่ และธุรกิจรายเล็ก ไม่มีเครดิตบูโร แต่ตอนนี้มีเครดิตบูโรเข้ามาช่วยสกรีนผู้ขอสินเชื่อ

นายสุภัค ศิวะรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า กลุ่มซีไอเอ็มบี (CIMB Group) มีจุดมุ่งหมายจะสร้างความเป็นหนึ่งในอาเซียนด้านธุรกิจการเงินแบบครบวงจร เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยการขยายเครือข่ายสาขาธุรกิจ ธุรกรรมด้านการเงินต่างๆ ในประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมทั้งสร้างพันธมิตรในกลุ่ม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และพม่า

ขณะนี้กลุ่ม CIMB อยู่ระหว่างการขยายธุรกิจในกลุ่มแบงก์อย่างครบวงจรในประเทศลาว คาดว่าจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างในไตรมาส 3/56 พร้อมทั้งเตรียมยกระดับสำนักผู้แทนในพม่าเป็นสำนักงานสาขา หลังจากตั้งมาถึง 17 ปีแล้ว แต่ยังต้องพิจารณาข้อกฎหมายอย่างละเอียดก่อน

“แม้ว่าในช่วงที่พม่าโดนแซงก์ชัน เราก็ไม่ได้ถอนการลงทุนออกไป เครดิตที่เรามีกับรัฐบาลพม่าถือว่าดีมาก เรามีแผนจะยกระดับฐานะของสำนักผู้แทนให้เป็นสาขา หรือร่วมลงทุน แต่คงต้องศึกษากฎหมายในประเทศพม่าให้ดีก่อน รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ เช่น ด้านการเมือง การเดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อไปอย่างไร ระบบสาธารณูปโภค และความรวดเร็วในการปรับโครงสร้างกฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุน”

สำหรับที่ลาวนั้น เราตั้งใจจะทำในส่วนของแบงก์ให้สมบูรณ์ก่อน ค่อยมองหาธุรกรรมอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม คาดว่าไตรมาส 3 นี้ ธุรกิจที่ลาวน่าจะเริ่มได้

นายสุภัค กล่าวว่า กลุ่ม CIMB แข็งแกร่งอยู่แล้วในอาเซียน โดยมีฐานะด้านสินทรัพย์แข็งแกร่งเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน โดย 4 อันดับที่อยู่เหนือกว่ากลุ่ม 2 แห่ง ทำธุรกรรมเฉพาะในประเทศตนเอง แต่ CIMB ทำธุรกรรมทั่วอาเซียน เพราะฉะนั้น อีก 2 ปีที่จะเปิด AEC เราจะแข็งแรงมาก

ทั้งนี้ ในปี 55 กำไรของกลุ่ม CIMB อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท 60% มาจากมาเลเซีย 25-30% มาจากอินโดนีเซีย ส่วนของไทยประมาณ 3-4% ของกลุ่มซีไอเอ็มบี

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขยายการลงทุนในอาเซียนนั้น เนื่องจากธนาคารซีไอเอ็มบีกรุ๊ป ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในอาเซียน และมีสาขาทั่วอาเซียนประมาณกว่า 2,000 สาขา ด้านการช่วยเหลือธุรกิจที่ไปลงทุนในอาเซียนไม่ใช่เฉพาะแต่การให้สินเชื่อเพียงอย่างเดียว เพราะในแต่ละพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา เป็นต้นนั้น เราสามารถเชื่อมโยงกับพันธมิตรที่อยู่ในพื้นที่ที่จะให้คำปรึกษาทั้งกฎหมาย กฎเกณฑ์ด้านการลงทุน แนะนำคู่ค้าธุรกิจ

ผู้ประกอบการของไทยที่ใช้บริการของกลุ่ม CIMB ได้แก่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ได้มาใช้บริการของ CIMB ที่อินโดนีเซียในเรื่องการบริหารเงินสด เนื่องจากปูนซิเมต์ไทยมีสาขาที่นั่นถึง 8 บริษัท นอกจากนี้ ยังมีบริษัทด้านการเกษตรที่มาใช้บริการของ CIMB ช่วยดูแลเรื่องสินเชื่อสำหรับโครงการใหม่ และปล่อยสินเชื่อสำหรับรายย่อย

ด้านการโอนเงินสำหรับประชาชนทั่วไป ลูกค้าที่ถือบัตร ATM ของ CIMBT สามารถกดเงินสดจากบัญชีตนเองในประเทศเดิมของตัวเองโดยไม่มีค่าธรรมเนียม และปีนี้ยังได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นการโอนเงินข้ามอาเซียน และทั่วโลก

“อาเซียนมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก สังเกตจากการเข้าไปลงทุนของบริษัทใหญ่ๆ เช่น เครือเจิรญโภคภัณฑ์ (CPF) เครือซีเมนต์ไทย (SCG) และยังมีแนวโน้มว่าบริษัทใหญ่ๆของบ้านเราจะมาลงทุนในอาเซียนอีกมาก”

นายสุภัค กล่าววถึงภาวะฟองสบู่ในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ว่า โอกาสที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันค่อนข้างยาก เนื่องจากแต่ละบริษัทที่อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ล้วนมีศักยภาพรอบด้าน โดยเฉพาะมีความแข็งแกร่งด้าน Cash Flow ไม่เหมือนกับปี 1997 ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจหน้าใหม่ รายเล็ก ไม่มีเครดิตบูโร แต่ตอนนี้มีเครดิตบูโรเข้ามาช่วยสกรีนผู้ขอสินเชื่อ

ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน CIMBT กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายทางธุรกิจในปี 56 สินเชื่อเติบโต 20-30% เงินฝากเติบโต 25-35% รายได้จากดอกเบี้ยเติบโต 25-30% รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโต 40-60%

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มเป็น 3.3-3.6% จาก 3.2% ในปี 55 อัตราส่วน ROE ที่ 10-13% จาก 9.9% ในปี 55 และ ROA อยู่ที่ 10-13% จาก 0.9% ในปี 55 ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) สิ้นปีนี้จะต่ำกว่า 3.4% จากปี 55 อยู่ที่ 2.8%

ด้านนายสิทธิไชย มหาคุณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สาย Corporate Finance ของ CIMBT กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจของธนาคารมีงานด้านวาณิชธนกิจที่รับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินจำนวนมาก ทั้งการออก Infrastructure Fund และ Property Fund รวมถึงการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งในส่วนของ IPO กำลังเจรจากันอยู่ประมาณ 4-5 ราย ขนาดระดมทุนตั้งแต่ 1,500-3,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มปิดดีลได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/56

ส่วน Infrastructure Fund ที่กำลังเจรจาอยู่มีทั้งที่เป็นธุรกิจพลังงาน และอุตสาหกรรม แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ แต่คาดว่าจะริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนได้ประมาณไตรมาส 4/56

นายเกษม พันธ์รัตนมาลา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ และกรรมการ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า ในปี 56 ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสแตะ 1,700 จุด ในช่วงในไตรมาส 3 หลังจากสภาพตลาดยังมีแนวโน้มที่ดีทั้งจากปัจจัยภายใน และภายนอก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ สถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป และปัญหาการเมืองในยุโรปที่อาจะส่งผลบั่นทอนจิตวิทยาการลงทุน

ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์นั้น ซีไอเอ็มบี ตั้งเป้ามีส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้นเป็นอันดับ 3 ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 8 โดยผู้ที่ครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 ในปัจจุบันคือ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ด้วยมาร์เกตแชร์กว่า 20%
กำลังโหลดความคิดเห็น