xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นัยสำคัญดอกเบี้ยของ“กิตติรัตน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เมื่อเร็วๆนี้ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง บอกกับนักข่าวว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ส่งจดหมายถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานคณะกรรมการ ธปท. เพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทในปัจจุบันว่าน่าเป็นห่วงหรือไม่อย่างไร โดยผู้ว่าฯ ธปท.ได้ตอบกลับมาว่า ในฐานะผู้ว่าฯ ธปท.ไม่มีอำนาจก้าวก่ายการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ ธปท.ป็นห่วงว่าหากลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วอาจมีผลต่ออัตราสินเชื่อในตลาด และจะส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เร่งตัว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะดำเนินนโยบายแก้ปัญหา หากว่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ

กนง. หารือร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อประชุมเพิ่มเติมนัดพิเศษ เพราะนอกจาก ธปท.จะสรุปข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนให้แก่ กนง. ได้รับทราบแล้ว ทางด้าน กนง.ยังได้หารือถึงแนวทางจัดการกับปัญหาเงินบาทที่แข็งค่า โดยใช้เวลาหารือกันตั้งแต่ 15.00 น. ถึงเวลาประมาณ 18.30 น.

การหารือร่วมดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประชุมร่วมกับ ธปท. และ กระทรวงการคลัง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนายกิตติรัตน์ ระบุว่าต้องการให้มีการหารือกันในกนง. โดยต้องการให้พิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับ 2.75 % หรือ กรณีไม่ลดดอกเบี้ยก็ขอให้หามาตรการอื่นเสนอมาให้พิจารณา

แถลงการณ์ของ กนง. ระบุว่า คณะกรรมการ กนง. ได้ประชุมเพื่อรับฟังการรายงานภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนจาก ธปท. และร่วมหารือถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน โดย กนง.ได้ติดตามสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประเมินผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่า “การแข็งค่าของเงินบาทช่วงที่ผ่านมา มีสาเหตุสำคัญจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ทำให้นักลงทุนต่างประเทศมีความเชื่อมั่น ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นโอกาสที่เอื้อให้เอกชนสามารถลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต”

สำหรับในแง่ลบนั้น การแข็งค่าของเงินบาทได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก และผู้ส่งออกที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ สินค้าเกษตร และแรงงานในสัดส่วนที่สูง อย่างไรก็ตาม การปรับตัวอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการได้ช่วยลดทอนผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง ซึ่ง กนง. ประเมินว่า แม้การแข็งค่าของเงินบาทจะมีผลกระทบ แต่เศรษฐกิจในภาพรวมยังขยายตัวได้ สอดคล้องกับการประเมินของหน่วยงานอื่นๆ

“คณะกรรมการฯ มีความห่วงใยต่อความผันผวนและการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทในระยะที่ผ่านมา ซึ่งบางช่วงอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ กนง.จึงเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ภายใต้กรอบการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้วางไว้แล้ว รวมถึงการผสมผสานมาตรการและการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” แถลงการณ์ของ กนง.ระบุในตอนท้าย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กิตติรัตน์ ใช้อำนาจในฐานะที่เป็นผู้รักษา พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสอบถาม 3 ประเด็น ได้แก่ 1. อัตราดอกเบี้ยมีผลต่อเงินทุนไหลเข้าอย่างไร 2. การใช้เงินดูดซับสภาพคล่องจะเกิดผลกระทบอย่างไร และ 3. ข้อเสนอแนะที่ ธปท.มีต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสถานการณ์อย่างนี้เป็นอย่างไร

ประธานคณะกรรมการ ธปท.ได้มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่าไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ ธปท.

ข้อมูลของเงินไหลเข้าส่วนใหญ่ จะเป็นการลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ระยะยาว มากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นหรือการลงทุนในลักษณะการเก็งกำไรในระยะสั้น โดยการลงทุนส่วนหนึ่งมาจากความมั่นใจในเศรษฐกิจของไทย

ทั้งนี้ การลงทุนในระยะยาว ถือว่าเป็นประโยชน์กับประเทศไทย สถานการณ์ในขณะนี้เป็นเรื่องของการบริหารอนาคต ดังนั้นการจะออกมาตรการอะไรออกมา ต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะในอนาคตประเทศไทย จะมีการลงทุนหลายเรื่องซึ่งอาจเกิดผลกระทบได้

นั่นทำให้ ข้อสังเกตุของ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านเฟสบุ๊ก มีความน่าสนใจ

เขาให้ความเห็น ถึงสาเหตุของเงินบาทแข็งค่าและแนวทางแก้ไขว่า “รัฐควรเข้าไปดูแลตลาดพันธบัตร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บาทแข็ง แต่รัฐไม่ทำเพราะจะทำให้มีเงินมาซื้อพันธบัตรน้อยลงในอนาคต ซึ่งอาจกระทบต่อการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท”

เขาบอกว่า กราฟนี้จัดทำโดย Asian Development Bank แสดงสัดส่วนของพันธบัตรไทย ที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา สัดส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แสดงถึงเงินทุนไหลเข้าที่มุ่งเข้าไปในตลาดพันธบัตรไทยเป็นหลัก และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บาทแข็ง โดยเงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดพันธบัตร เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าเงินที่ไหลเข้าในตลาดหุ้นหลายเท่า

“วิธีลดแรงกดดันเงินบาทที่ได้ผลที่สุด ก็คือการดูแลเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตร ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายที่มีอายุเพียง 1 วัน จะไม่แก้ปัญหาตรงจุด แต่ต้องใช้มาตรการ capital control ซึ่งสามารถทำได้จากระดับอ่อน ไปถึงระดับเข้มด้วยการเก็บภาษี เริ่มทำเมื่อใด แรงกดดันบาทแข็งก็จะยุติเมื่อนั้น”

“ถามว่าทำไมกระทรวงการคลังจึงไม่เลือกใช้มาตรการด้านนี้ แต่หันไปกดดันแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ยแทน มาตรการคุมเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตร ถึงแม้จะได้ผลในการลดแรงกดดันบาทแข็ง แต่จะทำให้มีเงินมาซื้อพันธบัตรน้อยลงในอนาคต ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีแผนจะกู้เงิน 2 ล้านล้าน ก็อาจจะไม่อยากไปแตะต้องตลาดพันธบัตร เป็นเรื่องธรรมดา”

นอกจากนี้ ธุรกิจที่อาศัยเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวไปบูมโครงการต่างๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ แหล่งเงินก็จะมีน้อยลง เขาก็ย่อมไม่ชอบ เป็นเรื่องธรรมดา

ทั้งนี้ ทุกมาตรการมีข้อดีข้อเสียครับ ไม่ว่า ก. แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือ ข. ใช้ capital control หรือ ค. แบงก์ชาติเข้าไปแทรกแซงซื้อดอลลาร์ หรือแม้แต่ ง. ปล่อยให้บาทแข็งและบังคับให้ผู้ส่งออกต้องปรับตัว

นั่นคือข้อเสนอที่มีเหตุและผลว่า ทำไมกิตติรัตน์ ถึงกดดันแบงก์ชาติอย่างหนัก

โยนขี้ไปให้ ธปท.นั่นเอง !!!




กำลังโหลดความคิดเห็น