“ธีระชัย” โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้ “กิตติรัตน์” มีอำนาจปลดผู้ว่าฯ ธปท. แต่ต้องแสดงเหตุผลที่ชัดเจน ระบุเหตุผลการไม่ลด ดบ. เป็นอำนาจของบอร์ด กนง. หากจะปลดก็ต้องเอาออกยกชุด ลั่นยังไม่เห็นความชอบธรรมที่จะนำ กม. มาใช้อ้างปลดผู้ว่าฯ ธปท. คนนี้เลย
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนข้อความลงแฟนเพจในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala โดยระบุว่า มีผู้สื่อข่าวสอบถามผมว่ารัฐมนตรีคลังมีอำนาจในการปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติหรือไม่ พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 28/19 กำหนดการพ้นตำแหน่งโดยการดำเนินการของรัฐมนตรีคลังไว้ 2 ข้อ ดังนี้
(4) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรีเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่
(5) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง
ตอบว่ามีอำนาจครับ แต่ต้องแสดงเหตุผลอย่างชัดแจ้ง
ขณะนี้รัฐมนตรีคลังขัดแย้งกับผู้ว่าฯ ในงานนโยบาย จึงไม่เข้าลักษณะที่จะใช้ (4) ได้ เพราะไม่มีการประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนการใช้ (5) นั้น รัฐมนตรีทำได้โดยตนเอง แต่ต้องพิสูจน์ว่ามีการบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ
สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้เป็น KPI สำหรับผู้ว่าฯ นั้น มีเฉพาะเป้าหมายเงินเฟ้อที่แบงก์ชาติต้องตกลงกับกระทรวงคลังทุกปี และขณะนี้ยังไม่เกินเป้า จึงยังไม่สามารถใช้เรื่องเงินเฟ้อในการอ้างเหตุ
สิ่งที่รัฐมนตรีพูด แต่กฎหมายมิได้กำหนดไว้ คือ ผลขาดทุนของ ธปท. แต่ถ้าจะอ้างเรื่องนี้ ก็จะมีปัญหาว่าขาดทุนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้ว่าฯ คนนี้อยู่ในตำแหน่งนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการซื้อดอลลาร์ที่เกิดขึ้นในอดีต ก่อนหน้าที่ผู้ว่าฯ คนนี้เข้าไปรับตำแหน่ง ดังนั้น จะเหมาให้ผู้ว่าฯ คนนี้รับผิดคนเดียวคงไม่ได้
สิ่งที่พูดอีกเรื่องหนึ่ง คือ การที่เงินบาทแข็ง และกระทบส่งออก แต่ถ้าจะอ้างเรื่องนี้ก็จะมีปัญหาว่า ผู้ว่าฯ เขาไม่ได้เป็นคนทำให้เงินบาทแข็ง เงินบาทมันแข็งเอง ในอดีต แบงก์ชาติเคยเข้าไปแทรกแซงด้วยการซื้อดอลลาร์เพื่อชะลอการแข็งค่า แต่ประธาน ธปท. เขาไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้แบงก์ชาติขาดทุน ผู้ว่าฯ เขาจึงไม่ได้เข้าไปแทรกแซงหนักมือเหมือนดังในอดีต
ที่จริงเมื่อเช้านี้ คุณสมชาย สกุลสุรรัตน์ ได้กรุณาชี้ให้ผมเห็นประเด็นว่า สาเหตุหนึ่งที่บาทแข็ง เนื่องจากรัฐบาลออกพันธบัตรกู้เงินมากเกินไป เปิดช่องให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตร ดังนั้น รัฐบาลเป็นคนทำให้เงินบาทแข็ง ไม่ใช่แบงก์ชาติ
สิ่งที่พูดอีกเรื่องหนึ่ง คือ การดื้อไม่ลดดอกเบี้ย แต่เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าฯ แต่เป็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ผู้ว่าฯ เป็นเพียงกรรมการคนหนึ่ง ถ้าจะปลดก็ต้องปลดกรรมการทั้งชุดเสียโน่น
สรุปแล้วผมเห็นยังไม่เห็นว่า การดำเนินการของผู้ว่าฯ ในเรื่องต่างๆ นั้น จะมีเรื่องใดที่จะเข้าลักษณะของกฎหมายที่จะปลดผู้ว่าฯ โดยชอบธรรมได้เลย