xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ยันบาทแข็งถึงขั้นวิกฤตแล้ว จี้ลดดอกเบี้ย 1% ใช้ยาแรงคุมเงินไหลเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.เสนอ 5 มาตรการแก้ปัญหาเงินบาทแข็ง ชี้ปัจจุบันถึงขั้นวิกฤตแล้ว พร้อมเรียกร้อง ธปท.ใช้ยาแรงคุมเงินไหลเข้า พร้อมจี้ให้ลดดอกเบี้ยทันที 1%

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังประชุมเตรียมการกำหนดท่าทีของ ส.อ.ท.เพื่อพบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 26 เม.ย. 2556 นี้ โดยระบุว่าขณะนี้มีสัญญาณการเก็งกำไรจากค่าเงินบาทภายในประเทศเนื่องจากเงินบาทแข็งค่ามากกว่าในภูมิภาค ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกระทบต่อ Supply chain ต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ และยังกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ส.อ.ท.จึงเสนอให้มีการบริหารจัดการ 5 ข้อ คือ 1. เสนอให้มีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนแบบภาวะวิกฤต 2. เปลี่ยนนโยบายจาก Inflating Targeting ไปสู่นโยบาย Exchange Rate Targeting แทน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ 3. เร่งดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1% 4. ใช้นโยบาย Capital control ว่าจะต้องห้ามนำเงินลงทุนออกไปจากประเทศเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน และหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ควรปรับระยะเวลาให้มากขึ้นเป็น 6 เดือน เป็นต้น และ 5. ปรับปรุงนโยบายการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ที่เสนอมาตรการแก้ไขค่าเงินบาทที่แข็งค่า 7 ข้อนั้น ส.อ.ท.จะยังคงข้อเสนอดังกล่าวไว้อยู่แต่จะเพิ่มเติมในบางรายละเอียด ซึ่งเข้าใจว่า 7 มาตรการก่อนหน้านี้ที่ ธปท.ไม่ดำเนินการเพราะคงมองว่าเป็นคนละสถานการณ์กัน ซึ่งตอนนี้ ธปท.จะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นขึ้นเพราะการแข็งค่าในอัตราปัจจุบันถึงขั้นวิกฤตแล้ว ทั้งนี้ ปัญหาค่าบาทแข็งไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะกับอุตสาหกรรมที่ส่งออกอย่างเดียวแล้ว อุตสาหกรรมที่นำเข้าวัสดุจากต่างประเทศแล้วนำมาผลิตในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และไม่เพียงแต่ภาครัฐที่ปรับเป้าการส่งออกเอกชนก็ปรับเป้าการส่งออกเช่นกัน

“แบงก์ชาติจะอ้างว่าไม่ทราบสาเหตุของการเกร็งกำไรของต่างชาติคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งตอนนี้เงินบ่ทไทยแข็งค่ากว่าภูมิภาคมาก เพราะตั้งแต่ต้นปีมาเราแข็งกว่าภูมิภาคอยู่ที่ระดับ 5.6% ถือว่าเยอะมาก ดังนั้น ส.อ.ท.จะไม่ยอมนิ่งเฉยและจะเร่งประสานงานเพื่อขอเข้าพบแบงก์ชาติโดยเร็วโดยคาดว่าจะได้พบและยื่นข้อเสนอในช่วงต้นสัปดาห์หน้า”

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้แล้ว และมองว่าไตรมาส 2-3 ผู้ประกอบการจะกำหนดราคาขายได้ยากขึ้น ส.อ.ท.เป็นห่วงผู้ส่งออกจะรับคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศในช่วงเหลือของปีได้อย่างไร ทั้งนี้ การที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้มีการบุกตลาดใหม่ ได้แก่ รัสเซีย แอฟริกา อเมริกากลาง และตะวันออกกลางนั้น ถือเป็นตลาดเก่าอยู่แล้ว ดังนั้นต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันยุทธศาสตร์การค้าชายแดนในประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และขยายไปถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยต้องการให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปกระจายสินค้าในใจกลางประเทศนั้นๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

ทั้งนี้ ปัจจุบันยอดการค้าผ่านแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านมียอดประมาณ 980,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการเท่านั้น ยังมีตัวเลขที่ไม่เป็นทางการอีก อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการส่งออกตลอดปี 2556 ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ว่าจะเติบโตเมื่อเทียบกับปี 55 ที่ ร้อยละ 8-9 นั้นเป็นกรณีเลวร้าย โดยพิจารณาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระดับปัจจุบันที่ 28 บาทเศษต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกตลอดปีนี้อาจเติบโตได้ร้อยละ 5 เท่านั้น หากแข็งค่ามากกว่านี้เกิน 27 บาทต่อ ดอลลาร์สหรัฐก็จะยากประเมินว่าการส่งออกจะเป็นเช่นไร

“ช่วงที่ผ่านมาผู้ซื้อสินค้าหลีกเลี่ยงการสั่งออเดอร์สินค้าไทย เพราะปัญหาค่าเงินและค่าแรงทำให้ลูกค้าหันไปซื้อสินค้าคู่แข่ง ซึ่ง 7 มาตรการที่เคยเสนอแบงก์ชาติไปก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และหากเงินบาทยังแข็งค่าอยู่ หรือลงมา 27 บาทก็คงจะตัวใครตัวมันแล้วรีบหนีไปต่างประเทศเสียจะได้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมในปรัเทศไทยส่งออกกว่า 60-70% ที่กระตุ้น GDP ให้กับประเทศไทย”

นายวัลลภกล่าวว่า ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมสินค้าและการเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเงินและอัญมณี ชิ้นส่วนและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่นแผงวงจรไฟฟ้า เซรามิก เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น