ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ส่อเค้าล้มเหลวไม่เป็นท่าตั้งแต่ตั้งไข่สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เพราะล่าสุดกิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย ประกาศถอนตัวจากการประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากที่มีกำหนดว่าหลังจากการชี้แจงทีโออาร์โครงการเอกชนจะต้องยื่นแบบเพื่อประมูลรอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
เรียกได้ว่า มีการถอนตัวชิ่งหนีกันทั้งในส่วนที่เป็นบริษัทเอกชนที่เข้าประมูลโครงการ และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. จนกลายเป็นการส่งสัญญาณว่า งานนี้ท่าจะไปไม่รอด แม้ว่าจะดันทุรังกันมาอย่างถูลู่ถูกังมาตั้งแต่ต้น ภายใต้ความพยายามสร้างภาพว่าไม่มีปัญหา
เหตุผลที่กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย จากหนังสือที่ส่งถึง กบอ. อย่างเป็นทางการ ระบุว่า กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย ได้แสดงความขอบคุณที่รัฐบาลไทยได้เชิญบริษัทให้เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว และได้มีการทำงานมาโดยตลอด ทางบริษัทรู้สึกดีใจแต่หลังจากที่ได้หารือกันในเชิงการค้า บริษัทตัดสินใจที่จะไม่เสนอโครงการในที่สุด ซึ่งมองผิวเผินเป็นเหตุผลที่ฟังดูดี แต่หากวิเคราะห์กันอย่างแท้จริงเรื่องนี้มีอะไรในกอไผ่แน่ๆ
มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า เบื้องหลังแท้จริงเป็นเพราะญี่ปุ่นไม่แฮปปี้ที่เข้าร่วมประมูลรอบแรกแล้วคว้างานมาได้น้อยกว่าเกาหลีทั้งที่เกาหลีไม่ได้มีประสบการณ์ในการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในประเทศไทยอย่างเช่นญี่ปุ่น การพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อขอเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมญี่ปุ่นถึงพ่ายเกาหลีอย่างเหลือเชื่อก็ไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจ จนมาถึงข้อสรุปสุดท้ายว่าอย่างนี้ต้องถอน
หน่วยงานที่ติดตามเรื่องนี้โดยตลอด คือสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 'นายประสงค์ ธาราไชย' อุปนายกสมาคมฯ ถึงกับบอกว่าไม่แปลกใจเลยที่เอกชนจะถอนตัวเพราะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล ไม่เป็นธรรม และเสี่ยงที่จะล้มเหลวสูง โดยเฉพาะการให้เอกชนเป็นผู้เจรจาขอเวนคืนที่ดินที่จะใช้ก่อสร้างเอง ทั้งที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่สำรวจเพื่อออกแบบและก่อสร้างได้ และเป็นห่วงว่า การดำเนินโครงการครั้งนี้ขัดหลักวิศวกรรม จนอาจทำให้โครงการล้มเหลว
บอกกันตรงๆ ชัดๆ อย่างไม่อ้อมค้อม เมื่อขัดกับหลักวิศวกรรม เสี่ยงสูงที่โครงการจะล้มเหลว นี่เป็นมุมของวิศวกร ขณะที่เสียงท้วงติงจากมุมมองด้านอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างกัน อย่างเหตุผลในการลาออกของคณะกรรมการ กบอ. นั่นยิ่งช่วยตอกย้ำ
แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ กบอ.บางคนก็พยายามออกมาแก้ต่าง อย่างเช่น นายอภิชาติ อนุกูลอำไพ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่อ้อมแอ้มว่า กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย ได้ทำหนังสือมายัง กบอ.เพื่อขอถอนตัวจากการยื่นประมูลรอบสุดท้าย โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลที่ชัดเจน แต่คาดว่าอาจจะเป็น เงื่อนไขด้านราคาที่ตั้งไว้แบบจีเอ็มพี ( Design-Build with Guaranteed Maximum Price (GMP)) หรือการตั้งเพดานราคาค่าก่อสร้างสูงสุด มีส่วนทำให้เอกชนไม่กล้าเสี่ยง เพราะบริษัทอาจกลัวว่าจะได้กำไรน้อย หรือขาดทุน หากชนะการประมูล แถมยังโอ่ว่า “การถอนตัวของญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า กบอ. ไม่ได้มั่ว ตั้งงบสูงๆ ให้ได้กำไรเยอะ ขนาดญี่ปุ่นยังกลัว ไม่กล้าสู้ ถ้ากำไรดี คงไม่ตัดสินใจถอนตัว”
ภายหลังกิจการร่วมค้าไทยญี่ปุ่นถอนตัว ทำให้เหลือเพียง 5 กลุ่มบริษัท ที่ยังคงเดินหน้าร่วมประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้าน ได้แก่ 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) จากเกาหลีใต้ 2.กิจการร่วมค้าไอทีดี-พาวเวอร์ไชน่า ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย, พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น, ไชน่า เก๋อโจวบ๋า, ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล วอเตอร์ฯ และ ปัญญา คอนซัลแตนท์ 3.กิจการร่วมค้าซัมมิท เอสยูที ประกอบด้วย หจก.สามประสิทธิ์, เอส.เค.วาย.คอนสตรัคชั่น และ ยูเนี่ยน อินฟาร์เทค 4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ เป็นการรวมกลุ่มของบริษัทรับเหมาไทยล้วน ประกอบด้วย ช.การช่าง (ลาว), ทีมคอนซัลติ้ง, คริสเตียนีฯ, ช.ทวีก่อสร้าง, เสริมสงวนก่อสร้าง, ทิพากร และ โรจน์สินก่อสร้าง และ 5 กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์
ส่วนกิจการค้าร่วมญี่ปุ่น-ไทย นำโดยบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ 4 บริษัท จากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ บริษัท โอบายาชิ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ไทเซอิ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท คาจิมา คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ชิมิซึ คอร์ปอเรชั่น
เมื่อกิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย ถอนตัว รายอื่นๆ ก็เริ่มออกอาการในทำนองเดียวกัน ไม่เว้นแม้แต่เค.วอเตอร์ จากเกาหลีที่ชนะรอบแรกทุกโมดูล นายมณฑล ภาณุโภคิน กรรมการผู้จัดการบริษัท เค.วอเตอร์ ประเทศไทย จากกลุ่มบริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น หรือ เค.วอเตอร์ แพลมออกมาแล้วว่า ทีโออาร์ที่ออกมามีข้อจำกัดค่อนข้างมากในเรื่องของคุณสมบัติ สิ่งที่บริษัทต้องระวังคือเรื่องจีเอ็มพีที่รัฐกำหนด เพราะว่าได้รวมค่าเวนคืนไว้ในค่าก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน อย่างเส้นทางฟลัดเวย์ ซึ่งยังไม่มีการสำรวจจริงโดยละเอียด ขณะที่เงื่อนเวลาที่รัฐบาลให้ทำงานค่อนข้างสั้น
ตลอดระยะเวลา 45 วัน ที่บริษัท เค.วอเตอร์ ตระเตรียมทำเอกสารและลงพื้นที่บ้างในบางจุด ภายใต้เวลาที่จำกัด ทำให้เห็นปัญหาในภาพรวมของทั้งโครงการเกิดขึ้นทุกโมดูล และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ค่าเวนคืน เนื่องจากเป็นการกำหนดแบบจีเอ็มพี หรือการันตีงบประมาณก่อสร้างสูงสุด โดยไม่มีการเพิ่มวงเงินในภายหลัง ขณะนี้บริษัทได้ตั้งทีมกฎหมายเข้ามาช่วยดูในเงื่อนไขต่างๆ ในแง่กฎหมายว่าจะมีทางออกตรงไหนบ้าง ตลอดจนสิ่งที่บริษัทต้องแบกรับหลังจากที่ได้ยื่นโครงการไปแล้ว เช่น ในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย ระหว่างทำงานเกิดน้ำท่วม แผ่นดินไหว ซึ่งในทีโออาร์ได้ระบุไว้ว่าบริษัทเอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
เงื่อนไขที่ออกมา สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ามีปัญหาในทุกจุดและมีความเสี่ยงสูงมาก โดยเฉพาะการกำหนดเงื่อนไขแบบจีเอ็มพีนั้น “อุเทน ชาติภิญโญ” อดีตประธานคณะกรรมการประธานผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) คีย์แมนคนสำคัญหนึ่งในทีมที่ปรึกษา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และเป็นอดีตกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยที่เพิ่งลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ออกมาตั้งคำถามตรงๆ ว่า ทีโออาร์ที่ระบุเรื่องการก่อสร้างแบบ Design-Build with Guaranteed Maximum Price (GMP) แปลว่าอะไร
“ถ้าให้ผมตีความก็คงแปลว่า สร้างไปออกแบบไปด้วยการประกันราคาอันสูงที่สุด ซึ่งอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะที่คุณปลอดประสพพูดหลายครั้งบอกว่าคิดไปทำไปเป็นการก่อสร้างรูปแบบใหม่ คือให้เงินไปแล้วค่อยศึกษา ถามว่าถ้ามันไม่คุ้ม คุณทำยังไง ยกเลิกไหม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐควรประเมินก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ทำไปประเมินไป ผมก็เลยไปถามยูเอ็นเพื่อให้ช่วยศึกษาตรงนี้” อดีตประธานคณะกรรมการประธานผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ให้ความเห็น
ซ้ำยังเปิดหน้าชกจะจะ ด้วยการยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้ตรวจสอบคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ ที่อาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น และอาจไม่ชอบด้วยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ.2546 (UNCAC 2003) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี และได้ให้สัตยาบันที่สหประชาชาติไว้แล้ว เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554
ความมั่วซั่วของ กบอ. ภายใต้การนำของนายปลอดประสพ นั้น ทำให้ก่อนหน้านี้ไม่นาน นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ต่อนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่า กบอ.ได้จัดทำข้อกำหนดและขอบเขตของงาน ทีโออาร์เรียบร้อยแล้วและได้พิจารณาคัดเลือกคู่สัญญาออกแบบก่อสร้าง ถือว่าเป็นการลาออกหลังจากงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้ว แต่โดยส่วนตัวมีความกังวลเช่นเดียวกับบริษัทญี่ปุ่นที่ตัดสินใจถอนตัวจากโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
กระนั้นก็ดี ความไม่ชอบมาพากลของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านยังโผล่มาให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะการที่กลุ่มภาคีเครือข่ายภาคประชาชนดาหน้ากันออกมาฟ้องร้องดำเนินคดี รวมถึงยื่นเอกสารให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความผิดปกติด้วย
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย(Thaiflood.com) พร้อมด้วยตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคเสถียร และมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องโครงการน้ำของรัฐบาล ภายใต้การบริการงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่ สำนักงาน ป.ป.ช.
“ที่ผ่านมาภาคประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมว่าร่างทีโออาร์บริหารจัดการน้ำ ดังกล่าวมีการศึกษาผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ดังนั้น จึงมีความเป็นห่วงว่าอาจมีการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ รวมทั้งจะได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการทบทวนโครงการนี้แล้วด้วย เพราะโครงการไม่มีการศึกษาที่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน”ปรเมศวร์ มินศิริ แจกแจงถึงเหตุผลที่ไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.
ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย ) กล่าวว่า โครงการทั้ง 9 โมดูล ที่ทางรัฐได้นำเสนอเพื่อเป็นการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมนั้น ไม่สามารถตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เท่าที่ควร เนื่องจากเป็นแผนที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจารณ์หรือเสนอแนะทางออกในการแก้ปัญหา ทำให้แต่ละพื้นที่เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาผลประโยชน์ของตนเองจากข้อมูลที่มีแก้ปัญหาอุทกภัย ตามภูมิศาสตร์ในพื้นที่แบบต่างคนต่างทำ
“เมื่อประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเสนอทางออกของปัญหาอย่างเสรี ขณะที่รัฐบาลวางแผนบริหารจัดการทั้ง 9 โมดูลออกมาจึงไม่สอดคล้องกับการปรับตัวและแผนรับอุทกภัยของชุมชนหลายพื้นที่ อีกทั้ง หลายโครงการไม่เกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม แต่เป็นโครงการที่อกหักในอดีตแล้วถูกนำมายำรวมกัน ที่สำคัญคือขณะนี้ชัดแล้วว่าโครงการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนตามที่เคยให้เหตุผลไว้ในเมื่อครั้ง พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ฉะนั้น ควรกลับไปทำตามขั้นตอน เน้นรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อให้เป็นแผนที่สอดคล้องกับแผนชุมชน และปรับแก้โครงการใหม่ เพราะเบิกงบประมาณโยนความรับผิดชอบให้บริษัทรับเหมาก็อาจเกิดปัญหาทิ้งงานกลางค้นได้ อย่างที่เคยมีตัวอย่างมากมายในอดีต” นายหาญณรงค์ กล่าว
นอกจากนั้นในวันเดียวกัน ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมทนายความได้เข้ายื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ (กยน.) คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กน.อช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ต่อศาลปกครองกลางขอให้มีคำสั่ง เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดร่วมกันจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการโดยจัดทำประชามติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญโดยงบประมาณของผู้ถูกฟ้อง รวมทั้งสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 85 และมาตรา 87 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 60 มาตรา 63 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5 ประกอบมาตรา 11 ให้ครบถ้วนก่อนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับแผนงานต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย โดยระหว่างพิจารณาขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องยุติการเปิดซองประมูลในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ระงับการเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างไว้ จนกว่ารัฐบาลจะดำเนินการให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า แผนการบริหารจัดการน้ำจะมีทั้งการสร้างเขื่อน 18 แห่ง, ทำทางน้ำหลาก หรือฟลัดเวย์ และแก้มลิง ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ทั้งเรื่องพื้นที่เกษตรกรรม การเวนคืนที่ดิน ซึ่งตามกฎหมายแล้วภาครัฐต้องทำ 1 รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA, การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง หรือ EHIA และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่รัฐบาลไม่ว่าจะเป็น กนอช.หรือ กบอ.กลับไม่ดำเนินการทั้งยังเร่งเปิดซองประมูล
ขณะเดียวกันก็มีข้อท้วงติงจากเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ ถึงความไม่ชอบของการดำเนินการตามแผนงานทั้ง 9 แผนงาน และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า ที่ได้จัดทำแผนการบริหารจัดการอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ ก็มีข้อเสนอว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องสร้างทุกโครงการ เพราะสามารถใช้มาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างทดแทนได้ แต่ กนอช.และ กบอ.กลับไม่ใส่ใจหรือนำผลศึกษาดังกล่าวมาปรับประยุกต์ใช้สะท้อนว่า กนอช. และ กบอ.มุ่งแต่จะใช้เงิน ที่จะต้องกู้มาดำเนินการตามจำนวนและเวลาที่กำหนดไว้ให้หมดไปโดยเร็ว ภายในรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น โดยไม่หวังผลในอนาคตว่าโครงการต่างๆ เหล่านั้นจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่เพียงใด ซึ่งการเล็งเห็นผลว่าจะเกิดความล้มเหลวในการดำเนินการดังกล่าวทำให้ กลุ่มกิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย รีบทำหนังสือขอถอนตัวจากโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะหลายโครงการหรือกิจกรรมจะต้องได้รับการต่อต้านคัดค้านจากภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเป็นอย่างมาก เช่น การสร้างเขื่อนที่ตามโครงการแสร้งใช้ถ้อยคำว่าเป็นอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง ป่าสัก และในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นอีก 17 ลุ่มน้ำ การจัดทำทางน้ำหลากหรือทางผันน้ำ รวมทั้งจัดทำทางหลวงระดับประเทศไปพร้อมๆ กัน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ดำเนินโครงการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลเหล่านี้เสียก่อน
“หากโครงการบริหารจัดการน้ำชะลอออกไปก็จะไม่กระทบต่อการรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้งของประเทศ เพราะตามสถิติแล้วจะมีภัยพิบัติขนาดใหญ่เกิดขึ้น 10 ปีต่อ 1 ครั้ง ดังนั้นรัฐบาลควรสร้างกระบวนการที่ถูกต้อง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน”ศรีสุวรรณให้ความเห็น
ถ้าหากเป็นเช่นนี้ บทสรุปจะออกมาเช่นใด จะออกมาแบบที่ “อุเทน ชาติภิญโญ” ว่าหรือไม่ คือปล่อยให้แท้งไปก่อนแล้วค่อยมาเริ่มต้นใหม่ว่าสิ่งไหนจำเป็นต้องทำ และ พ.ร.ก.นี้จะหมดอายุเดือนมิถุนายนนี้แล้ว ก็ปล่อยให้หมดไป เพราะทีโออาร์ก็มีเพียงไม่กี่หน้า แต่ละโมดูลก็ลอกกันไปมา หากดันทุรังก็มีความเสี่ยงสูงที่จะล้มเหลว หรือผลออกมาไม่ดีแน่ เพราะการไม่ศึกษารายละเอียดก่อนค่อยดำเนินโครงการ ไม่รัดกุม เหมือนกับมีเจตนาเอื้อให้เกิดการหาประโยชน์โดยมิชอบ