xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวโปรเจกต์น้ำ3.5แสนล. ศาลปค.ยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 2 พ.ค.) ศาลปกครองกลาง ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนฉุกเฉินในคดีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ (กยน.) คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(กน อช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3 .5 แสนล้านบาท โดยการไต่สวนฉุกเฉินของศาลครั้งนี้ จะรับฟังข้อมูลเพื่อนำไปพิจารณาว่าจะรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ และจะมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาสั่งระงับการเปิดซองประมูล ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ไว้จนกว่าที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามที่นายศรีสุวรรณร้องขอ หรือไม่
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ เดินทางมาพร้อมกับ นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้จัการศุนย์ข้อมูลไทยฟลัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เพื่อเข้าชี้แจง โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า จะชี้ให้ศาลเห็นว่ารัฐดำเนินการ กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำ และกำหนดทีโออาร์ โครงการบริหารจัดการน้ำ 10 โมดูล ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร แลไม่มีการดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ และด้านสังคม ตามที่ได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่ได้มีการเปิดช่องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำ จึงจำเป็นที่ศาลปกครอง จะต้องมีคำสั่งระงับการยื่นซองประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำในวันนี้ (3พ.ค.) ไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต หรือมีการฟ้องร้องระหว่างรัฐ และเอกชนตามมาในภายหลัง
ขณะที่นายปรเมศ กล่าวว่า จะชี้แจงต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับการเปิดซองในวันนี้ (3 พ.ค.) โดยจะอ้างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดราคากลาง ทั้งนี้โครงการที่รัฐบาลได้กล่าวอ้าง ไม่มีการกำหนดพื้นที่ฟลัดเวย์อย่างชัดเจน ก่อนที่จะมีการดำเนินการโครงการ ทั้งนี้ ตนไม่ติดใจการดำเนินการของรัฐบาล แต่เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล จึงได้ยื่นร้องเพื่อประโยชน์ของประเทศในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หากศาลสั่งระงับ ก็จะมีผลในทันที
สำหรับในส่วนของรัฐบาลผู้ถูกร้อง ก็มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ. นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการกฤษฎีกา และนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมชี้แจง
ทั้งนี้ นายสุพจน์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ยืนยันว่าการกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำทั้งหมด รัฐได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทั้งหมดแล้ว และในวันนี้ ก็ไม่ใช่การเปิดซองประมูล แต่เป็นวันที่จะให้เอกชนยื่นซองราคา และซองเทคนิคให้พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณารายละเอียดอีก หากศาลไม่มีคำสั่งระงับ ก็จะเดินหน้าต่อไป แต่ถ้าศาลสั่งระงับขั้นตอนนี้ก็จะเกิดความเสียหายต่อการดำเนินโครงการ ที่ได้ใช้เวลาในการทำแผนมานาน โดยจะต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทำให้เกิดความล่าช้า และประชาชนอาจต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ทั้งนี้ต้องรอดูว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างใดออกมา คาดว่าจะเป็นในช่วงกลางคืน
ต่อมาเวลา 21.00 น. ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งรับคำฟ้องของนายศรีสุวรรณ กับพวก รวม 45 คน ไว้พิจารณาวินิจฉัย แต่มีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว ที่ขอให้ศาลสั่งระงับการยื่นซองประมูลโครงการในแผนบริหารจัดการน้ำไว้ก่อนจนกว่าศาลมีคำพิพากษา โดยศาลเห็นว่า ในคดีนี้แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการจัดทำแผนแม่บทจัดการทรัพยากรน้ำ ผู้ถูกร้องทั้ง 4 ไม่ได้มีการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตาม มาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ โดยผู้รับมอบอำนาจของนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า แผนดังกล่าว ยังไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอ ที่จะสามารถนำไปเสนอให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งถือได้ว่าคำฟ้องมีมูลตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ผู้รับมอบอำนาจของนายกฯ ชี้แจงว่า ในวันที่ 3 พ.ค.นี้ จะมีการดำเนินการรับซองข้อเสนอ จากกลุ่มผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเท่านั้น และภายหลังจากนั้น จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อเสนอ การเจรจาต่อรองราคา และเสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต่อ กบอ. ผู้ถูกฟ้องที่ 4 และครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติตามลำดับ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน จึงจะมีการทำสัญญากับผู้ที่ได้รับการคัดเลือก จะเห็นได้ว่าในวันที่ 3 พ.ค. และหลังจากนั้นอีกอย่างน้อย 2 เดือน จะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่มีผลเป็นการก่อนิติสัมพันธ์ กับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งยากแก่การเยียวยาในภายหลังได้
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลจึงเห็นว่า ชั้นนี้ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่ศาลจะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว จึงมีคำสั่งให้ยกคำขอของผู้ฟ้องทั้ง 45 ราย
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในวันที่ 3 พ.ค. เวลา 09.30 น. นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาติดตามความคืบหน้าและทวงถามศาลปกครองกลาง กรณีได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนทีโออาร์ โครงการบริหารจัดการน้ำ 10 โมดูล ของกบอ. และขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการประมูล หลังจากมีกระแสข่าวว่า ศาลไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาเนื่องจากตนเองไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดี

**ทีโออาร์มีช่องโหว่ แนะชะลอโปรเจกต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงเสวนาหัวข้อ "โปรเจกต์น้ำ 3.5 แสนล้าน ชะลอหรือไปต่อ? " ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการเชิญผู้ร่วมเสวนามาร่วมงาน อาทิ นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล ศปภ. นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นายประเชิญ คนเทศ ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานเครือข่ายความร่วมมือฝ่าภัยพิบัติคนนครปฐม ทั้งนี้ มีการเชิญ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ กบอ. มาร่วมเสวนาด้วย แต่นายปลอดประสพ ไม่ได้ตอบรับมาร่วมเสวนา
นายอุเทน กล่าวเปิดเวทีว่า ตนมีโอกาสเห็นทีโออาร์ และสงสัยเพราะยิ่งดูยิ่งเหมือนมหากาพย์ แต่ไม่รู้ว่าใครเขียนมหากาพย์เรื่องนี้ จึงฝากถามว่า คนร่างและผู้มีส่วนกับทีโออาร์ ว่า "Who are you" มีใครบ้าง ขอให้แสดงตัวออกมา เพราะตนเห็นด้วยที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ไม่เห็นด้วยที่เขียนทีโออาร์แบบนี้ เพราะมีช่องโหว่ ที่อาจจะก่อให้เกิดการทุจริตได้ หากดู 9 โมดูล มีใครทราบหรือไม่ว่า อันไหนจะเริ่มอันแรก และอันไหนจะทำในเวลาต่อมา และทุกอันระบุว่า ใช้เวลา 5 ปี แล้วท่านเชื่อหรือไม่ว่า ใน 5 ปีจะสำเร็จ
"มีหลายโครงการที่ที่ใช้งบเวอร์ ทั้งโครงการทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา รถเมล์ยูโรทู ที่เขียนว่า เมื่อมีแล้วขสมก.จะได้กำไรอย่างไร แต่สุดท้ายก็ขาดทุน รวมทั้งแอร์พอร์ตลิ้งค์ ก็เขียนฝันให้ประชาชน ผมอยากรู้ว่าใครเขียนฝันให้ครม.ผลาญเงิน และใครเขียนทีโออาร์นี้ ขอให้แสดงตัวออกมา แล้วออกมาตอบซะ และขอให้อย่าคิดอะไรให้มันมากเกิน เพื่อใช้งบเยอะ" นายอุเทน กล่าว
นายอุเทน กล่าวอีกว่า ในทีโออาร์นั้นในส่วนของบทนำ เขียนหลวม ๆ ที่เขียนว่ารัฐบาลเสนอประกาศให้ผู้สนใจมาเสนอกรอบความคิดและอ้างต่อว่ารัฐบาลได้พิจารณากรอบความคิด ตนถามว่าในจำนวนผู้รับเหมาที่เสนอกรอบแนวคิดมา กบอ.บอกได้หรือไม่ว่า มีรายละเอียดอย่างไร กบอ.ถึงเห็นดีเห็นงามด้วย เพราะคัดมาเหลือแค่ 3 ราย คุณกำลังบอกอะไรกับประชาชน คุณล็อคไว้เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ และเขียนอีกว่า บริษัทที่ผ่านกรอบแนวคิดไหนก็มีสิทธิ์ยื่นในโมดูลนั้น ดังนั้นมันตีความอย่างอื่นไม่ได้ และรัฐบาลอย่าใช้ความน่ากลัวของน้ำท่วม มาเป็นเงื่อนไขในการหลอกประชาชน
นายอุเทนกล่าวว่า หลักการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ตนน้อมนำแนวพระราชดำริฯ คือหาใช้ทางที่น้ำเดินสะดวก คือปลายน้ำ ที่ไม่น่าจะใช้เงินเกิน 1.5หมื่นล้านบาท ก็สามารถแก้ปัญหาปลายน้ำได้ เหตุใดต้องใช้ถึง 3.5แสนล้าน ดังนั้น คณะกรรมการกบอ.ชุดนี้ คิดไม่เป็น เพราะคิดแต่จะใช้เงิน

**เชื่อมีฮั้วประมูล-เกาหลีฮุบงานใหญ่

นายต่อตระกูล ยมนาค กล่าวว่า ตนติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่ออกพ.ร.ก.กู้ 3.5แสนล้านบาท ซึ่งสิ่งที่วิศวกรรม และวิศวกร และผู้ที่ทำงานด้านการก่อสร้างติดตามตลอดว่าเมื่อไรจะมีทีโออาร์ ออกมา และตั้งแต่แรกที่เชิญบริษัทที่สนใจเข้ามารับฟังโดยไม่มีทีโออาร์ และจากนั้นก็มีการลดเงื่อนไขลงเรื่อยๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านโครงการหมื่นล้าน ก็เหลือ 2 พันล้าน จนเหลือ 200 ล้าน ซึ่งถ้าเป็นการประมูลปกติ ก็ถือว่ามีปัญหา เพราะหากจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขอะไร ก็ต้องประกาศให้ทราบ แล้วก็รอเวลาเป็นปีถึงได้มีทีโออาร์ออกมา และพบว่าโครงการออกมาประหลาดมาก ที่คัดเลือกคนที่มาประมูลก่อน และบอกผู้รับเลือกว่า ทีโออาร์ยังไม่มี ขอให้รอก่อน และเมื่อทีโออาร์ ออกมาก็มีจำนวนไม่กี่หน้า โครงการฟลัดเวย์มูลค่า 1.5แสนล้านบาท มีความหนาแค่ 10 หน้า เทียบกับที่ตนสร้างบ้านราคาล้านเดียว ยังมากกว่า
ส่วนกรณีที่บริษัทร่วมค้าญี่ปุ่นถอนตัวออกจากการประมูล ในวันที่ 3 พ.ค.นั้น นายต่อตระกูล กล่าวว่า ทีมเจแปนที่เป็นทีมมือหนึ่งของญี่ปุ่น ถือว่ามีความรู้มากในการทำโครงการขนาดใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของการทำไม่เป็น หรือขี้กลัว แต่เขารู้ว่าโครงการนี้เสี่ยงมากกับการทำงาน เสี่ยงอันตรายกับทีโออาร์ หนา 10 หน้า เพราะนอกจากเรื่องเทคนิคแล้ว เขาก็ต้องมีความสามารถด้านมนุษยสัมพันธ์ด้วย ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับคนที่ใหญ่กว่า นายปลอดประสพ ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าบริษัทเควอเตอร์ จากเกาหลี จะได้โครงการมากที่สุด ส่วนจีนจะได้รองลงมา และล็อกซเลย์ จะได้งานชิ้นเล็กๆ ราคาไม่เกินหมื่นล้าน
"แต่ที่ให้จับตางานคือชิ้นใหญ่ในส่วนของโมดูล A5 ในเรื่องการทำฟลัดเวย์ ที่มีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ให้จับตาว่ามีเอกชนรายเดียวที่เข้าประมูลครบทุกโครงการ แต่ผมเชื่อว่าเขาต้องเลือกเอางานที่คุ้มค่าที่สุด ดังนั้น วันที่ 3พ.ค. ตั้งแต่เช้า ถึงบ่ายสองโมง ที่อาจจะมีบางบริษัททำไม่ทัน หรือส่งไปแล้วเอกสารไม่ครบ ต้องติดตามผู้มีสิทธิ์ทุกโมดูล จะเสนอทั้งหมดหรือไม่ แล้วถ้ามาตีตารางดู จะพบว่ามีหมอดูดูว่า มีการหลบกัน อันนี้ไม่เอา คุณเอาไป" นายต่อตระกูล กล่าว
นายต่อตระกูล กล่าวอีกว่า เชื่อว่าจะมีบริษัทที่หลบให้กัน ถ้าในวงการก่อสร้างสมัยเดิม จะเป็นธรรมเนียมที่สมาคมวิศวกรรมก่อสร้าง จะมีห้องที่เรียกว่า “ห้องประชุมฮั้ว” แต่ปัจจุบันห้องนี้ไม่ต้องใช้ เพราะถูกทุบทิ้งไปแล้ว เพราะสมัยนี้ระบบอีออกชั่น รัฐบาลจัดให้ได้ เพราะลักษณะอย่างนี้มีบริษัทเข้าไปแข่งขันน้อยกว่างานที่มี งานเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน แต่มีบริษัทเข้าไปประมูลแค่ 3 บริษัท ถือว่าน้อยไป ดังนั้นจึงต้องแบ่งกันทำ ต้องจัดสรรงานกัน แต่ในการยื่นซองนั้น ถ้ามีเกินหนึ่งบริษัท ถือว่าเพียงพอแล้วในการยื่น แต่ถ้าดูว่ามีการเฉลี่ย 2 บริษัทต่อโมดูล นั่นก็ถือว่าน่าสงสัยแล้ว
นายต่อตระกูล กล่าวว่าวันที่ 3 พ.ค. จะเป็นวันสำคัญหลังจากที่ล่าช้ากว่าเดิมที่กำหนดไว้ 15 มี.ค. เพราะคณะกรรมการล่าช้าเอง จึงทำให้ทีโออาร์ช้ากว่ากำหนดไปด้วย ดังนั้นความล่าช้าไม่ได้อยู่ที่ประชาชนร้องเรียน แต่เป็นความล่าช้าของกรรมการเอง ส่วนนักวิชาการเราเตือนมานานแล้วว่า ขั้นตอนต้องมีมากกว่านี้ เพราะสุ่มเสี่ยงมากในหลายข้อถ้าทำต่อไป เพราะอาจทำให้ผู้ร่วมงานทั้งหมดโดนดำเนินคดีด้วย หากเกิดความเสียหาย ที่อาจจะโดนคณะกรรมการป.ป.ช.เชิญไปให้การ เพราะเรื่องลักษณะนี้ มีข้าราชการดีดีระดับปลัดกระทรวง ผู้ว่าการของรัฐวิสาหกิจ เคยถูกจำคุก เคยเสียคนเพราะไปร่วมทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้
"คนที่ร่วมงานทั้งหลาย ทั้ง นายอุเทน นายรอยล จิตรดอน ก็ถอนตัวออกมาก่อน เพราะทุกคนได้เห็นแล้ว แต่ไม่พูดอะไร และไม่คัดค้าน ซึ่งอันตรายอย่างยิ่ง และผมทราบมาว่า ขณะนี้ป.ป.ช.มีการตั้งคณะทำงานมานานแล้ว แต่ไม่เปิดเผยตัว รวบรวมเอกสารเรื่องนี้มาตั้งแต่วันแรก มีนายพลายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีต ส.ว. เป็นคณะทำงานด้วย ซึ่งทั้งสองท่านจะให้ข้อมูลได้ และผมเชื่อว่าก่อนที่ กบอ.จะประกาศตัดสินว่าใครชนะ คิดว่า ป.ป.ช. น่าจะยื่นข้อเสนอความสุ่มเสี่ยงความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.ไปยังรัฐบาลก่อน จึงฝากเพื่อนข้าราชการ นักวิชาการ ที่รู้ว่ามีความสุ่มเสี่ยง ควรทำบันทึกเปิดผนึกถึง ป.ป.ช.เป็นการส่วนตัว แล้วท่านจะได้เป็นแค่พยาน โดยไม่ต้องเป็นผู้ต้องหา " นายต่อตระกูล กล่าว

** เชื่อเซ็นสัญญามีปัญหาแน่

นายเสรี ศุภราทิตย์ กล่าวว่า ถึงวันนี้เรายังไม่มีคำตอบที่ดีที่สุด แต่เราจะทำสัญญาแล้ว นี่คือข้อเสียหายอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นอย่างเพิ่งทำสัญญากับผู้รับเหมาได้หรือไม่ ถ้าไจก้าหาทางออกให้ แต่บอกว่าไม่พอก็หาคำตอบต่อไปว่าทางออกที่ดีที่สุดคืออะไร โดยการไปคุยกับภาคประชาชน แล้วจากนั้นค่อยทำทีโออาร์ แต่ทั้งนี้ตนเข้าใจว่ากระบวนการถูกรวบรัด เพราะเป็นเรื่องของการเมืองที่ออกเป็น พ.ร.ก.ฯ แล้วจากนั้นก็บอกว่าต้องทำ และเบิกงานในเดือนมิ.ย. ซึ่งอันนั้นเราไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องของการเมือง แต่ในทางปฏิบัติยังทำไม่ได้ในหลายๆ ประการ
ถ้าทำโครงการ A1 (อ่างเก็บน้ำ) แล้วอาจจะไม่ต้องทำ A5(ฟลัดเวย์) ก็ได้ เพราะถ้าทำอ่างแล้ว ก็ไม่ต้องทำฟลัดเวย์ก็ได้ เพราะแต่ละสัญญาเกี่ยวโยงซึ่งกันโดยปฏิเสธไม่ได้ ความผูกพันของสัญญาจะช่วยลดงบประมาณมหาศาล ตนเข้าใจว่า เขาประเมินแบบคร่าวๆ แต่ไม่ได้ลงไปศึกษาจริงๆ ซึ่งน่ากังวลมาก เพราะอยู่ ๆ นำเงินมาโดยไม่มีอะไรที่เป็นคำตอบที่ดีที่สุด เป็นปัญหาว่าจะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร
"หลังจากวันที่ 3 พ.ค. ผมคิดว่าช่วงเวลาที่เขาให้เวลาจะประกาศผล คงเป็นไปไม่ได้ เพราะคำถามยังไม่มีคำตอบ และคิดว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นแน่นอน และผมเชื่อว่าจะไม่มีการเซ็นสัญญาแน่นอน คาดเดาว่าจากนี้จะมีการยื้อต่อไป การเซ็นสัญญาจะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าเรื่องจะกลับเข้ามาสู่กระบวนการ และเดาว่า จะต้องมีการหาคำตอบก่อนหนึ่งปี ว่าสิ่งที่ดีที่สุดคืออะไร เพราะเท่าที่เราคลุกคลีวงใน ข้าราชการระดับสูงหลายคนมีความกังวล ทำไมต้องกลับไปที่สำนักนายกฯ ทั้งที่กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทานก็เป็นหน่วยงานตรง จึงอาจจะเกิดอาการยื้อ สั่งอะไรมาก็ไม่ทำและนักวิชาการน้ำเขาก็ห่วงว่าเซ็นสัญญาแล้วจะทำไม่ได้ในเวลา 5 ปี" นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า ตนขอให้รัฐบาลทำโร้ดแมปก่อนได้หรือไม่ จากนี้ต่อไป ขอเวลา 1 ปีให้ศึกษาให้ดี ว่าตกลงว่าทางออกที่ดีที่สุดคืออะไร เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาในตัวของมันเอง ต้องถามว่าประชาชนจะเอาด้วยหรือไม่ ควรไปทางไหน พอเห็นทางเลือกที่ดีที่สุด ก็จะมีการออกแบบประเมินราคา เพราะอาจจะทำแค่วงเงินแสนล้านบาทก็ได้ อย่างที่ญี่ปุ่นบอก และตนเพิ่งไปดูงานที่ญี่ปุ่นมา และย้ำว่าไจก้า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการร่วมค้าของญี่ปุ่นที่ถอนตัว แต่กิจการร่วมค้าเขาเชื่อผู้เชี่ยวชาญ เขาเชื่อผลการศึกษาของไจก้า ที่มาพูดคุยกับนักวิชาการของไทย เขาเลยถอย ถ้าดันไปเขาอาจจะมีอุปสรรคอะไรก็แล้วแต่ ดังนั้นเราอย่าไปกลัวน้ำท่วม แล้วบอกว่าต้องเร่งทำ เพราะที่ท่วมผ่านมาเป็นเรื่องการบริหารจัดการเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของโครงสร้าง
นายเสรี ยังตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเราเซ็นสัญญา 3.5แสนล้านบาท แล้วเรากำลังจะมีโครงการพัฒนาระบบคมนาคมวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ต้องบอกด้วยว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับ 3.5แสนล้านบาท เพราะโครงการ 2 ล้านล้าน อาทิ รถไฟความเร็วสูง อาจจะเป็นเส้นทางเดียวกับฟลัดเวย์ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นกระทรวงคมนาคม ควรจะคุยกับ กบอ. และสภาพัฒน์ ควรดูเรื่องนี้ แต่ตนก็เข้าใจว่า สภาพัฒน์ฯก็คงไม่ทราบรายละเอียดอะไร เพราะยังไม่เห็นตัวโครงการ
ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชน นายประเชิญ คนเทศ ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานเครือข่ายความร่วมมือฝ่าภัยพิบัติคนนครปฐม กล่าวว่า อยากชี้ว่า ทีโออาร์ในส่วนของ A5(ฟลัดเวย์) สามารถใช้ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่อยู่เดิมก็ได้ เพราะจะได้ไม่ต้องใช้เงินมากมาย แต่ทั้งนี้ชาวบ้านก็ยังไม่ไว้ใจกับกระดาษไม่กี่แผ่น อย่างไรก็ตาม มีข้อห่วงใยของภาคประชาชนคือ อยากให้พูดถึงการมีส่วนร่วม เพราะประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสียด้วย จึงขอให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมในการมีข้อตกลงร่วมกันอย่าง สร้างสรรค์ ให้ประชาชนรู้ข้อมูลข่าวสาร ยืนยันว่าเราไม่ได้คัดค้าน แต่การขึ้นป้ายโครงการว่ามาจากเงินภาษีของประชาชน แล้วถามว่าให้ประชาชนอยู่ตรงไหน แล้วพอมาประชุมก็เอาสำเนาบัตรประชาชนเราไปแล้วก็บอกว่าพวกเราเห็นด้วย

** ป.ป.ช.รับตั้งกก.สอบประมูลน้ำ3.5เเสนล.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่ นายต่อตระกูล ยมนาค ระบุในการเสวนา ว่า ป.ป.ช.ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้เเล้วนั้น นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวชี้แจงว่า ตอนนี้ ป.ป.ช. มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประมูล 3.5 เเสนล้านบาทของรัฐบาลจริง เเต่อยู่ในขั้นตอนที่มอบให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อที่จะส่งให้กรรมการป.ป.ช.พิจารณา เพื่อมีมีติก่อนตั้งอนุกรรมการป.ป.ช.สอบสวนต่อไป โดยระยะเวลาที่ตั้งไว้นั้นได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งส่งเรื่องเข้ามาให้เร็วที่สุด เพราะประชาชนสนใจเรื่องนี้มาก
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องที่ภาคประชาชน กังวลการประมูลโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท อาจผิดกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ว่า อยากย้ำไปยังรัฐบาลว่า ต้องชี้แจงให้ชัดว่า การเร่งรัดประมูลโครงการเช่นนี้ เพื่อตอบสนองใครหรือไม่ ตนยืนยันว่า รัฐบาลควรจะมีแนวคิดว่า ถ้าโครงการไม่พร้อมก็ไม่ต้องกู้ แต่ถ้าไปคิดว่า เอาเงินมาก่อนอย่างเดียวนั้น ขอให้ตระหนักว่า สุดท้ายภาระการใช้เงิน มันอยู่ที่พวกเราคนไทยทุกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น