xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"หอบหลักฐานถอดถอน"ปู" จงใจฝ่าฝืนกม.ปปช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนาย บัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ เข้าให้ถอยคำต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณียื่นคำร้องขอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้สืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และได้มีการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีเอาไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานในที่ประชุม เป็นหัวหน้าของรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี ไม่ดำเนินการตามกฎหมายป.ป.ช. จงใจฝ่าฝืนกฎหมายป.ป.ช. กรณีไม่เปิดเผยราคากลาง ซึ่งการเข้าให้ถ้อยคำกับป.ป.ช.ครั้งนี้ ตนได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของความเสียหายที่เกิดจากการไม่บริหารจัดการงบกลาง ตามที่กฎหมายกำหนด โดยยืนยันไปว่า ความผิดของนายกรัฐมนตรี ถือว่าสำเร็จ
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะประชุมพิจารณาเรื่องคุณสมบัติ ส.ส.ของตน กรณีที่ถูกปลดออกจากราชการว่า ไม่รู้สึกกังวล ศาลคงพิจารณาว่า จะรับเรื่องไว้หรือไม่ โดยหากรับเรื่องไว้พิจารณา ตนก็พร้อมชี้แจง แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่อง ตนก็ไปสู้ของตนในศาลปกครอง โดยตนยืนยันว่า คำสั่งที่ปลดตนออกจากราชการนั้น ผิดกฎหมาย และตนได้ฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนไม่ให้คำสั่งนี้มีผลแล้ว ซึ่งศาลปกครองรับไว้เป็นคดีแล้ว แต่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ไปยื่นเรื่องโต้แย้งว่า ศาลไม่มีสิทธิ์รับเรื่อง เรื่องนี้ก็จึงต้องไปสู่ศาลแพ่ง ที่จะพิจารณาว่า ศาลปกครองนั้นมีอำนาจหรือไม่ ถ้าศาลแพ่งเห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจ ศาลปกครองก็จะกลับมาเดินหน้าพิจารณาเรื่องนี้ แต่ถ้าศาลแพ่งเห็นว่าเป็นอำนาจของศาลแพ่ง หรือศาลอื่น ก็จะต้องเข้าสู่คณะกรรมการซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยว่า จะเป็นอำนาจของศาลใด นอกจากนี้ตนยังได้ฟ้องอาญา โดยร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเริ่มต้นกระบวนการทางอาญาด้วย เพราะพล.อ.อ.สุกำพล เป็นรมว.กลาโหม เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
“ผมมองว่าก่อนหน้านี้พล.อ.อ.สุกำพล ให้สัมภาษณ์ จะท้าทายว่า จะเอาเรื่องนี้ให้มันจบเร็วๆ แต่ผมกลับมองว่า มาประวิงเวลาด้วยวิธีการยื่นเรื่องโต้แย้งว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจแบบนี้ ก็ไม่ต่างจากที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ที่ไม่ยอมไปขึ้นศาล กรณีที่ถูกผมฟ้องโดยอ้างว่า ไม่มีทนาย ก็ประวิงเวลาเช่นกัน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนที่ดีเอสไอ เตรียมแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 กับตน และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวยืนยันว่า ถือเป็นเรื่องที่ชัดเจนแล้วว่า เป็นการกลั่นแกล้งและหากตนเห็นว่าสิ่งทีดีเอสไอ ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตนก็จะดำเนินการฟ้องร้องกลับแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวานนี้ (1พ.ค.) ได้มีการพิจารณา กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของ ส.ส. 134 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพภาพการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ เป็นนายทหารกองหนุน โดยที่ประชุมคณะตุลาการฯ ได้พิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ และการพิจารณายังไม่ได้ข้อยุติ จึงขอให้เลื่อนการพิจารณาคำร้องดังกล่าวออกไปในการประชุมครั้งต่อไป โดยคำร้องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาว่า จะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่

** ร้องป.ป.ช.เอาผิดอาญา"ปู-ครม.-กบอ."

วานนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Thaiflood.com) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง คณะกรรมการป.ป.ช. เรื่อง ขอให้ไต่สวนชี้มูลความผิด ดำเนินคดีอาญากับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)
เนื่องจากผู้ร้องเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อาทิ มาตรา 3 มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 66 มาตรา 67 มาตรา 75 มาตรา 76 และมาตรา 78 และไม่ได้ถือปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 กรณีการใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ในโครงการก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัย และขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการโดยเร่งด่วน เพราะข้อกำหนดและทีโออาร์ ได้กำหนดให้ผู้ยื่นขอเสนอในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ระหว่างเวลา 8.30 น.–14.00 น. ทั้งนี้ได้มอบเอกสารโออาร์ จำนวน 47 หน้า ของไจก้า ประเทศญี่ปุ่น ให้ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาด้วย โดยมีนายวิทยา คมพิทักษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับหนังสือ
นายปรเมศวร์ กล่าวว่า จากการติดตามตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการหลายคณะ ออกมติ ครม. และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีหลายฉบับ ซึ่งเป็นที่มาของการมาร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากพบว่า ขบวนการต่างๆ ที่ดำเนินการอาจจะขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. และราชกฤษฎีกาบางฉบับ อีกทั้งเงื่อนไขค่อนข้างเอื้อต่อเอกชน โดยเฉพาะเอกชนจากต่างประเทศ ในการที่จะเข้ามารับงบประมาณก้อนนี้ไป โดยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็ไม่เหมือนเดิม อย่างที่เคยทำมา ซึ่งอาจจะเอื้อให้เกิดช่องทางการทุจริตได้
ทั้งนี้ ประเด็นหลักๆ ที่อาจเอื้อให้มีการทุขจริตคือ พื้นที่ที่ประสบภัย คือ พื้นที่แถบเจ้าพระยา ท่าจีน ซึ่งกินพื้นที่ 33 เปอร์เซ็นของประเทศ แต่กลับเลือกใช้วิธีการ "ดีไซด์บิว" หมายถึง การศึกษาไปทำไป ซึ่งเห็นว่าอาจจะไม่เหมาะ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ขนาดนี้ จึงมีการตัดแบ่งเป็นโมดูล ต่างๆ 10 โมดูล ซึ่งบางโมดูลก็มีคำถามว่า เนื้องานมีความซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ทำไปแล้ว แต่ก็มีการใส่เข้ามาในโมดูลนั้น และหลายๆเนื้องานจะไปทำเรื่องความเหมาะสมว่าจะไปทำที่ไหน จะไปศึกษาว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ภายหลังที่เลือกแล้วว่า จะเอาเอกชนรายใดเข้ามาดำเนินการ
นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ซึ่งการปรับกระบวนการที่ไปทำภายหลังนั้น มีประเด็นที่เราได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า หากมีการทำสัญญาไปแล้ว จะมีการเบิกเงินล่วงหน้าได้ 5 เปอร์เซ็น ในการก่อสร้าง และถึงเวลาเงินก้อนนี้สามารถนำไปทำให้ผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพบิดเบือนได้หรือไม่ เพราะเป็นการทับซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ว่า ผู้ได้ผลประโยชน์จะเป็นผู้เข้าไปดำเนินการทีหลังจากการทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมว่าสิ่งแวดล้อมเมื่อทำลายไปแล้วไม่สามารถนำกลับมาเป็นแบบเดิมได้
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นข้อสังเกตหลักคือ เมื่อตอนน้ำท่วมวันที่ 7 พ.ย.54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวขอบคุณไจก้า จากญี่ปุ่น ที่มาช่วยเรื่องน้ำท่วม และวันที่ 9 พ.ย. ได้ร้องขอผ่านทางเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นไปว่า ขอให้ญี่ปุ่น ข้ามาช่วยวางแผนการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งญี่ปุ่นใช้เวลาไม่กี่วัน คือ วันที่ 17 พ.ย. ก็ตอบรับกลับมาว่ายินดีช่วย จากนั้นญี่ปุ่นลงทุนกับประเทศไทยเป็นร้อยล้าน บางโครงการที่แก้ไขได้เลยลงทุนเป็นพันล้าน และร่วมมือกับหน่วยงานด้านน้ำในเมืองไทย เช่น กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรน้ำ มีการบินสำรวจถ่ายภาพ เพื่อให้ได้ตัวเลขเพื่อนำมาปรับทำแผน จนกระทั่งได้แผนออกมาเมื่อเดือนก.พ. 55 ซึ่งใช้เวลา 1 ปี ซึ่งเราพบว่าแผนดังกล่าวมีความสมบูรณ์ เฉพาะรายงานสรุปผู้บริหารมีทั้งหมด 47 หน้า ซึ่งตัวเลขต่างๆ สามารถบอกได้เลยว่า แผนมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำได้ดี ซึ่งในบางจุดดีกว่ารัฐบาล เช่น อยุธยา
"ข้อที่ 2 สามารถดำเนินการได้เร็ว หากดำเนินการตามแผนก็สามารถช่สวดหลือประชาชนได้ทันที มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เวนคืนที่ดินน้อย งบประมาณใช้น้อย เพียงแสนกว่าล้าน เพราะฉะนั้นจึงเป็นคำถามหลักว่า เหตุใดจึงไม่ได้เลือกแต่เลือกบริษัทอื่นอย่างเช่น เกาหลี เมื่อเดือนเมษายน รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ.และรัฐมนตรีหลายคน ไปเยือนเควอเตอร์ ที่เกาหลี คือ ก่อนที่จะออกทีโออาร์ ซึ่งหลังจาก้เมื่อออกทีโออาร์แล้ว ตัวบริษัทแคนดิเดตหรือบริษัทที่มีโอกาสที่จะได้รับสัญญา ก็เป็นบริษัทที่เกาหลี ซึ่งเป็นข้อสังเกต อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องให้ ป.ป.ช.ช่วยดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม"นายปรเมศวร์กล่าว
นายปรเมศวร์ กล่าวว่า แผนที่มีการคิดคำนวนออกมาอย่างชัดเจนระหว่างความร่วมมือของไจก้าและข้าราชการและรัฐบาล โดยมีงบประมาณให้เลือกคืองบประมาณที่ใช้เต็มที่ 1.9 แสนล้าน ซึ่งประหยัดกว่า แต่ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีแผนรายละเอียด คือ ตามโครงการนี้รัฐบาลผลักภาระรายละเอียดโครงการให้กับเอกชน ซึ่งจะเข้ามารับสัญญาเป็นผู้ทำ ดังนั้น เมื่อเห็นท่าทีของกบอ.ที่ออกมาตำหนิว่าของญี่ปุ่นไม่ดี ตนจึงขอตั้งคำถามว่า ในขณะที่แผนหนึ่งสำรวจชัดเจน มีตัวเลขพร้อม กับของรัฐบาลที่ยังไม่มีอะไรเลยนอกจากสิ่งคราวๆ ที่อยู่ในกระดาษ เหตุใดจึงตัดสินแล้วว่าของเขาไม่ดี ทั้งนี้จึงอยากให้เอาข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อตัดสินว่าแผนใดเหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด

**ร้องศาลปค.เบรกแผนจัดการน้ำ

วานนี้ (1 พ.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมทนายความ ได้เข้ายื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ (กยน.) คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กน อช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัย (กบอ.) ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำสั่ง เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3 .5 หมื่นล้านบาท และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมด ร่วมกันจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศอย่างทั่วถึง ก่อนดำเนินการโดยจัดทำประชามติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ โดยงบประมาณของผู้ถูกฟ้อง รวมทั้งสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 85 และมาตรา 87 และพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 60 มาตรา 63 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5 ประกอบมาตรา 11 ให้ครบถ้วนก่อนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับแผนงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย โดยระหว่างพิจารณาขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา สั่งให้ผู้ถูกฟ้องยุติการเปิดซองประมูลในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ระงับการเซ็นต์สัญญาจัดซื้อจัดจ้างไว้ จนกว่ารัฐบาลจะดำเนินการให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า แผนการบริหารจัดการน้ำ จะมีทั้งการสร้างเขื่อน 18 แห่ง, ทำทางน้ำหลาก หรือฟลัดเวย์ และแก้มลิง ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ทั้งเรื่องพื้นที่เกษตรกรรม การเวนคืนที่ดิน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ภาครัฐต้องทำ 1 รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA, การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง หรือ EHIA และ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่รัฐบาลไม่ว่าจะเป็น กน อช. หรือ กบอ. กลับ ไม่ดำเนินการทั้งยังเร่งเปิดซองประมูล
ขณะเดียวกัน ก็มีข้อท้วงติงจากเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ ถึงความไม่ชอบของการดำเนินการตามแผนงานทั้ง 9 แผนงานและองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า ที่ได้จัดทำแผนการบริหารจัดการอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ ก็มีข้อเสนอว่า อาจะไม่จำเป็นต้องสร้างทุกโครงการ เพราะสามารถใช้มาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างทดแทนได้ แต่ กนอช. และกบอ. กลับไม่ใส่ใจหรือนำผลศึกษาดังกล่าวมาปรับประยุต์ใช้ สะท้อนว่า กนอช.และกบอ. มุ่งแต่จะใช้เงิน ที่จะต้องกู้มาดำเนินการตามจำนวน และเวลาที่กำหนดไว้ให้หมดไปโดยเร็ว ภายในรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น โดยไม่หวังผลในอนาคตว่า โครงการต่างๆ เหล่านั้นจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพียงใด ซึ่งการเล็งเห็นผลว่า จะเกิดความล้มเหลวในการดำเนินการดังกล่าวทำให้ กลุ่มกิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย รีบทำหนังสือขอถอนตัวจากโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะหลายโครงการ หรือกิจกรรมจะต้องได้รับการต่อต้านคัดค้านจากภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเป็นอย่างมาก เช่น การสร้างเขื่อนที่ตามโครงการแสร้งใช้ถ้อยคำว่า เป็นอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง ป่าสัก และในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นอีก 17 ลุ่มน้ำ การจัดทำทางน้ำหลาก หรือทางผันน้ำ รวมทั้งจัดทำทางหลวงระดับประเทศไปพร้อมๆ กัน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ดำเนินโครงการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลเหล่านี้เสียก่อน
ด้านนายศรีสุวรรณ มั่นใจว่า หากโครงการบริหารจัดการน้ำชะลอออกไป ก็จะไม่กระทบต่อการรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง ของประเทศ เพราะตามสถิติแล้วจะมีภัยพิบัติขนาดใหญ่เกิดขึ้น 10 ปีต่อ 1 ครั้ง ดังนั้นรัฐบาลควรสร้างกระบวนการที่ถูกต้อง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น