ปิดกล่องประมูลโครงการสู้น้ำ 3.5 แสนล้าน “เค-วอเตอร์” ชน “อิตาเลียน-ไทย” ทุกโมดูล ส่วน “ซัมมิทฯ-ล็อกซเล่ย์” แจมแค่ 2 โมดูล ด้าน “ทีมไทยแลนด์” ถอดใจนาทีสุดท้าย “ธงทอง” คาดปลายเดือน พ.ค.คัดเลือกเสร็จ ก่อนเซ็นสัญญาช่วง มิ.ย. เชื่อทันตามกรอบ พ.ร.ก. ปัด 2 ผู้รับเหมาถอนตัวไม่เกี่ยวโครงการเพ้อฝัน พร้อมเปิดโรงยิมทำเนียบฯ ทำโกดังชั่วคราว ฉีดปลวกทั่วบริเวณหวั่นเอกสารชำรุด
วันนี้ (3 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ได้แถลงข่าวสรุปผลการยื่นเอกสารทางเทคนิคและซองราคาเพื่อประมูลงาน ตามกรอบพระราชกำหนดเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทว่า จนถึงเวลา 14.00 น. ซึ่งเป็นเวลาสิ้นสุดการยื่นข้อเสนอได้มี 4 กลุ่มบริษัทเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ได้แก่ 1. บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น หรือ K-Water 2.ITD POWER CHINA JV ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือไอทีดี กับบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า ของประเทศจีน 3. กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที และ 4. กลุ่มบริษัทค้าร่วมล็อกซเล่ย์ จากเดิม 6 กลุ่มริษัทที่ผ่านเข้ารอบ โดยที่กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทยได้ขอถอนตัวไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งกิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ ได้ทำหนังสือขอไม่ยื่นข้อเสนอเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
นายธงทองกล่าวต่อว่า ในการยื่นข้อเสนอครั้งนี้ได้มีจำนวนเอกสารในส่วนของต้นฉบับจำนวน 105 กล่อง และสำเนาอีก 2,014 กล่อง รวมทั้งสิ้น 2,179 กล่อง น้ำหนักราว 20 ตัน โดยในส่วนต้นฉบับได้เก็บรักษาไว้ที่สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ส่วนสำเนาได้มีการเก็บรักษาไว้ในอาคารยิมเนเซียมของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมตรีในบริเวณทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ในส่วนของซองราคาได้มีการปิดผนึกเก็บรักษาอย่างปลอดภัย โดยจะเก็บไว้จนกว่ากระบวนการพิจารณาทางเทคนิคจะเสร็จสิ้น จากนี้ทางคณะทำงานซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวน 50 คนจะร่วมกันอ่านรายละเอียดข้อเสนอ เพื่อให้ความเห็นประกอบการตัดสินใจคัดเลือกต่อไป นอกจากนี้จะมีคณะกรรมการอีกหนึ่งชุดทำหน้าที่ทางด้านการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยใช้เวลาในช่วงนี้ประมาณ 3 สัปดาห์ คาดว่าปลายเดือน พ.ค.นี้จะแล้วเสร็จ
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงเกณฑ์การให้คะแนนด้วยว่า จะมีการพิจารณาใน 3 ด้าน คือ เรื่องแนวคิดในการทำงาน ร้อยละ 20 เรื่องรายละเอียดทางเทคนิค ร้อยละ 60 และเรื่องประสบการณ์อีกร้อยละ 20 โดยบริษัทที่ได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 80 จะได้รับการพิจารณาในส่วนของเรื่องราคาต่อไป หากข้อเสนอรายใดคะแนนไม่ถึงก็จะไม่พิจารณาในเรื่องราคา จากนั้นจะมีการพิจารณาตามลำดับผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดที่จะได้รับสิทธิ์ในการเปิดซองราคา เพื่อให้คณะกรรมการฯ เจรจาต่อรองราคาให้เหมาะสมตามมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ และอาจจะมีเนื้อหาบางส่วนในด้านเทคนิคที่สามารถยืดหยุ่นได้ด้วย เมื่อเจรจาเสร็จสิ้นก็จะนำไปสู่การร่างสัญญาต่อไป อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถตกลงกับผู้ที่ได้คะแนนมาลำดับแรกได้ ก็จะเปิดซองราคาของผู้ที่มีคะแนนรองลงไปตามลำดับ
“หวังว่าช่วงประมาณปลายเดือน พ.ค. ไม่เกินต้นเดือน มิ.ย.นี้จะสามารถรายงานไปทาง กบอ. และคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยที่การเซ็นสัญญายังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากจะต้องนำข้อเสนอทางเทคนิคที่มีการเจรจาต่อรองนำไปร่างเป็นสัญญาอีกครั้ง ซึ่งจะดำเนินการในช่วงเดือน มิ.ย.ต่อไป” นายธงทองระบุ
นายธงทองกล่าวอีกว่า ในแต่ละโมดูลมีผู้เสนอราคาและเทคนิคไม่ต่ำกว่า 2 ราย โดยในโมดูลที่ 6 และ 8 ได้มีผู้ยื่นเอกสารจำนวน 3 ราย ส่วนอีก 7 โมดูลที่เหลือมีผู้ยื่นเอกสาร 2 ราย คือ K-Water กับ ITD POWER CHINA JV ซึ่งก็ไม่ขัดข้อกำหนดของคณะกรรมการฯ เพราะตามข้อกำหนดแม้ว่าจะเหลือรายเดียวก็ยังพิจารณาต่อไปได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการถอนตัวของ 2 กลุ่มบริษัทมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินโครงการหรือไม่ นายธงทองกล่าวว่า คงไม่มี เพราะผู้ที่ถอนตัวก็ให้เหตุผลว่าไม่สามารถทำได้ตามเพดานงบประมาณที่ได้กำหนดไว้ แต่ในเมื่อก็ยังมีผู้เข้ามายื่นข้อเสนอก็แสดงว่าโครงการเหล่านี้ยังมีความเป็นไปได้ ก็อยู่ที่วิธีคิดของแต่ละบริษัท แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่รัฐบาลได้บอกกับสาธารณชนเป็นเรื่องความฝัน ยังมีผู้ที่สามารถทำได้จริงอยู่
สำหรับข้อสังเกตในส่วนของกรอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทที่กำหนดสิ้นสุดในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้อาจทำให้การคัดเลือกผู้ดำเนินโครงการไม่ทันตามกำหนดนั้น นายธงทองกล่าวว่า ถือเป็นคนละส่วนกัน การดำเนินการที่จะเสร็จสิ้นในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ ไม่ได้หมายถึงการเซ็นสัญญา แต่เป็นเพียงการทราบตัวเลขงบประมาณ เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทดังกล่าว ส่วนการเซ็นสัญญาอาจจะล่วงเลยไปอีก อาจจะมีการเซ็นสัญญาในช่วงต้นเดือน ก.ค.ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในเดือน มิ.ย.จะทราบตัวเลขที่แน่นอน เพื่อไปดำเนินการในส่วนของกระทรวงการคลังต่อไป
เมื่อถามว่าส่วนใหญ่ในแต่ละโมดูลมีเพียง 2 รายเข้าร่วมยื่นข้อเสนอ หากทั้ง 2 รายไม่ผ่านเรื่องคุณสมบัติจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายธงทองกล่าวว่า อาจจะเร็วเกินไปที่จะตอบคำถามในส่วนนี้ เพราะ แต่ถึงวันนั้นอาจจะมีการแก้ปัญหาที่ว่าได้ ซึ่งหากมีตัวเลขงบประมาณของโครงการที่ชัดเจนก็อาจจะกันส่วนนั้น และดำเนินการตาม พ.ร.ก.ไปก่อนได้เช่นกัน ทั้งนี้ตนในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกฯ อาจจะไม่มีหน้าที่ในการคิดหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นหน้าที่ของ กบอ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 08.00-14.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) สำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้กลุ่มบริษัทเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจากการเสนอกรอบแนวคิด 5 กลุ่ม มายื่นซองราคาและซองเทคนิคเพื่อเข้าแข่งการประมูล ที่ตึกสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ทำเนียบรัฐบาล โดยมี 5 กลุ่มบริษัทที่มีสิทธิ์มายื่นซอง ประกอบด้วย 1. บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น หรือ เค-วอเตอร์ 2. ITD POWER CHINA JV ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือไอทีดี กับบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า ของประเทศจีน 3. กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที 4. กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ และ 5. กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์
บรรยากาศตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นไปอย่างคึกคัก มีสื่อมวลชนมาเฝ้าติดตามรายงานข่าวเป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มบริษัทต่างๆ ต่างทยอยขนกล่องสำเนาเอกสารด้านเทคนิคทุกโครงการทยอยมาส่ง โดยเฉพาะ 2 กลุ่มใหญ่อย่าง ITD POWER CHINA JV และ K-Water ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นได้ถึง 9 โมดูล ทั้งคู่ได้ใช้รถบรรทุกขนสำเนาเอกสารที่มีจำนวนมากมาส่งที่ตึก สบอช. โดยกลุ่มบริษัท ITD POWER CHINA JV ได้ใช้รถบรรทุก 6 ล้อ จำนวน 18 คัน และ K-Water ใช้รถบรรทุก 6 ล้อ 4 คัน และรถตู้อีก 2 คันขนกล่องเอกสารมา
ทั้งนี้ ทาง สบอช.ได้ใช้พื้นที่ภายในตึกสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น ที่จะใช้เป็นโรงยิมออกกำลังกาย เป็นสถานที่เก็บสำเนาเอกสารทั้งหมด โดยมีเจ้าหน้าที่ใช้น้ำยาฉีดป้องกันปลวกทั่วบริเวณเพื่อป้องกันปลวกกัดกินเอกสาร พร้อมกับล็อกประตูปิดไว้อย่างดี
ทั้งนี้ ในเวลา 13.15 น. ปรากฏว่า กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ได้ส่งตัวแทนมายื่นเอกสารถึงคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก แจ้งการถอนตัวจากการยื่นซองราคาและซองเทคนิคเพื่อเข้าแข่งการประมูลดังกล่าว ซึ่งเอกสารนี้ลงนามโดยนายณรงค์ แสงสุริยะ กรรมการบริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนและผู้มีอำนาจของกิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาของเอกสารดังกล่าวระบุว่า กิจการร่วมค้าฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสำรวจและศึกษาเพื่อจัดเตรียมข้อเสนอให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดและขอบเขตของทีโออาร์ รวมถึงข้อสรุปต่างๆในการประชุมชี้แจง เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ากิจการร่วมค้าฯ ไม่สามารถดำเนินงานภายใต้วงเงินที่กำหนดได้ ดังนั้น กิจการร่วมค้าฯ จึงไม่สามารถยื่นข้อเสนอ Definitive Design ของโมดูล A3 (การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์) และโมดูล A6 กับ B4 (ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ) ของโครงการเพื่อเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
สำหรับกิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ ประกอบด้วย 8 บริษัท คือ 1. บริษัท ช.การช่างจำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ช.การช่าง (ลาว) จำกัด 3. บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด 4. บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 6. บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด 7. บริษัท ทิพากร จำกัด และ 8. บริษัท โรจน์สินก่อสร้าง จำกัด
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ สบอช.ได้ปิดการรับยื่นซองราคาและซองเทคนิคเพื่อเข้าแข่งการประมูลดังกล่าว โดยสรุปว่า มีกลุ่มบริษัท 4 กลุ่มที่มายื่นซองครบ ได้แก่ 1. บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น หรือ K-Water จำนวน 9 โมดูล 2. ITD POWER CHINA JV จำนวน 9 โมดูล 3. กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที จำนวน 1 โมดูล และ 4. กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ จำนวน 1 โมดูล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
โมดูลที่ 1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ K-Water และ ITD POWER CHINA JV
โมดูลที่ 2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท ได้แก่ K-Water และ ITD POWER CHINA JV
โมดูลที่ 3 การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ K-Water และ ITD POWER CHINA JV
โมดูลที่ 4 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำในพื้นที่แม่น้ำยม น่าน และเจ้าพระยา จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท ได้แก่ K-Water และ ITD POWER CHINA JV
โมดูลที่ 5 การจัดทำทางผันน้ำ (Flood Diversion Channel) ขนาดประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งการก่อสร้างถนนเพื่อรองรับคมนาคม จำนวน 1.53 แสนล้านบาท ได้แก่ K-Water และ ITD POWER CHINA JV
โมดูลที่ 6 ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ 4,000 ล้านบาท ได้แก่ K-Water, ITD POWER CHINA JV และกลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์
โมดูลที่ 7 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ K-Water และ ITD POWER CHINA JV
โมดูลที่ 8 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท ได้แก่ K-Water, ITD POWER CHINA JV และกิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที
และโมดูลที่ 9 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ จำนวน 5,000 ล้านบาท ได้แก่ K-Water และ ITD POWER CHINA JV