xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.เตรียมอุทธรณ์ค่าโง่ทางด่วนภาค 2 “วิเชียร” สั่งยุติเจรจาไกล่เกลี่ย “ช.การช่าง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด กทพ.สั่งยุติเจรจาไกล่เกลี่ย “ช.การช่าง” คดีลาภมิควรได้ทางด่วนบางนา-ชลบุรี วงเงิน 5,000 ล้านบาท และให้เข้าสู่กระบวนการตามปกติของศาลอุทธรณ์ เผย “วิเชียร” หัก “สุรสิทธิ์” ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอม หลังเสนอให้บอร์ด กทพ.ยอมรับและจ่ายเงินให้เอกชนเพื่อยุติคดี เหตุเป็นแนวทางที่ทำให้ กทพ.เสียหายอย่างมาก

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ที่มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 มีนาคมมีมติเห็นชอบตามที่ กทพ.เสนอให้ยุติการเจรจาการไกล่เกลี่ยประนีประนอมคดีระหว่างกิจการร่วมค้า บีบีซีดี กับ กทพ. ที่เกิดขึ้นจากสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้าง โครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง (ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 721/2551 หมายเลขแดงที่ 3602/2554) ในคดีลาภมิควรได้ และให้ กทพ.ทำหนังสือแจ้งให้บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) โจทก์ในคดีนี้และแถลงศาลอุทธรณ์ว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ เพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป

ทั้งนี้ การเจรจาไกล่เกลี่ยดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีค่าโง่ 6,200 ล้านบาท ของทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนบางนา-ชลบุรี) ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้ กทพ.ชนะคดี ต่อมากิจการร่วมค้าบีบีซีดี ได้สร้างเงื่อนไขใหม่โดยยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายในประเด็นลาภมิควรได้ ซึ่งศาลชั้นต้นรับคำฟ้องและตัดสินให้ กทพ.เป็นฝ่ายแพ้คดี ต้องจ่ายเงินกว่า 5,000 ล้านบาท โดย กทพ.ได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อต้นปี 2555 โดยตามขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อในกระบวนการพิจารณา ดังนั้น บอร์ด กทพ.จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ย มี พล.ต.อ.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ บอร์ด กทพ.เป็นประธานคณะอนุกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ย

แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ พบว่า การเจรจาของคณะอนุกรรมการฯ มีแนวโน้มให้ กทพ.ยอมรับการจ่ายมาโดยตลอดและวงเงินได้ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าดอกเบี้ยรวมอยู่ด้วย และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2556 ทาง บริษัท ช.การช่างได้ทำหนังสือทวงถามเข้ามาเนื่องจากในวันที่ 19 มีนาคมนี้จะถึงกำหนดการศาลจะมีการพิจารณาอีกครั้ง ทำให้มีการเร่งเสนอบอร์ด กทพ.ให้ยอมรับและจ่ายเงินให้เอกชนตามข้อเรียกร้องเพื่อยุติคดีฟ้องร้องดังกล่าว

“ที่ประชุมบอร์ดทั้งประธาน และผู้ว่าฯ กทพ.พิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่สามารยอมรับการจ่ายเงินให้เอกชนตามที่คณะอนุกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ยเสนอมาได้ เพราะเป็นการตัดสินใจที่ไม่เป็นธรรมต่อ กทพ.อย่างร้ายแรง อีกทั้งก่อนหน้านี้ศาลฎีกาพิพากษาให้ กทพ.ชนะคดีค่าโง่ทางด่วนไปแล้ว บอร์ดจึงมีมติให้ยุติการเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีที่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ยื่นฟ้อง กทพ.คดีลาภมิควรได้ และให้เข้าสู่กระบวนการตามปกติของศาลต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับคดีระหว่าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดีและในนามกิจการร่วมค้า บีบีซีดี กับ กทพ.จำเลยในข้อหาหรือฐานความผิด ลาภมิควรได้นั้น ทาง ช.การช่างได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง กทพ.ต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 721/2551 โดยอ้างว่า ผลแห่งคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 7277/2549 ทำให้กทพ.ได้ทางพิเศษสายบางนา-บางพลี-บางปะกง มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย กทพ.มีหน้าที่คืนทางพิเศษให้แก้โจทย์ แต่เนื่องจากทางพิเศษตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว กทพ.จึงต้องชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,683,686,389.76 บาท และดอกผลอันเกิดจากค่าผ่านทาง ซึ่งจำเลยเรียกเก็บจากผู้ใช้ทางพิเศษตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 จนกว่า กทพ.จะชดใช้เงินจำนวนตามฟ้อง

ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2554 ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งสำนักงานคดีแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า คำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าว ยังไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงควรอุทธรณ์ต่อไป และ กทพ.มีหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดว่า กทพ.เห็นควรอุทธรณ์ตามความเห็นดังกล่าว

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ศาลอุทธรณ์นัดไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท โดยฝ่ายโจทก์แถลงว่าประสงค์ที่จะเจรจาประนีประนอมความในดดีนี้ ฝ่ายจำเลยตกลงที่จะดำเนินการไกล่เกลี่ยด้วย

ในขณะที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบเกี่ยวกับการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและพิจารณาเห็นว่า การดำเนินการเจรจามีผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินของ กทพ.เป็นจำนวนสูงขอให้ กทพ.พิจารณาใช้ความระมัดระวังและดำเนินการรักษาประโยชน์ของ กทพ.อย่างสูงสุด ซึ่ง กทพ.มีความเห็นว่าการดำเนินการตามความเห็นของสำนักงานคดีแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะทำงานต่อสู่คดีลาภมิควรได้ของสำนักงานอัยการสูงสุดที่มีความควรอุทธรณ์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น