xs
xsm
sm
md
lg

ก.ย.นี้ค่าทางด่วนจ่อขึ้นเป็น 50 บาท กทพ.เผยต้องปรับทุก 5 ปีตามสัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พฤณท์” ส่งสัญญาณ ก.ย.นี้จ่อปรับค่าผ่านทางด่วน 1, 2 ขึ้นตามสัญญา สั่ง กทพ.พิจารณาตามขั้นตอน ยันไม่คัดค้านและไม่ห่วงคะแนนเสียง หวั่นถูกเอกชนฟ้องอีก แต่ยังเบรกเก็บ VAT 7% เกรงประชาชนรับภาระซ้ำซ้อนมากไป ด้าน “ผู้ว่าฯ กทพ.” เผยคำนวณตามเงินเฟ้อคาดขึ้นอีก 5 บาท เผยรถบนทางด่วนเพิ่มเป็นวันละ 1.7 ล้านคันแล้ว ทำให้รายได้เพิ่มเป็นวันละ 61 ล้านจากเดิม 58 ล้านบาท

พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการปรับขึ้นค่าผ่านทางด่วนตามสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2556 นี้ว่า ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พิจารณาตามขั้นตอนและให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานระหว่าง กทพ. กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีแอล ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนดให้ปรับทุกๆ 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค (CPI) ที่เพิ่มขึ้น โดยหากผลพิจารณาออกมาว่าต้องปรับขึ้นก็ต้องยอมรับคงไม่สามารถยับยั้งได้เพราะต้องคำนึงถึงสัญญาสัมปทานกับเอกชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นกรณีที่ไม่ให้ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญา 

“ทางผู้บริหารบีอีซีแอลได้มาพบผมแล้ว โดยแจ้งให้ทราบว่าในปีนี้ครบ 5 ปีที่จะต้องขอปรับขึ้นค่าผ่านทาง ซึ่งผมให้ไปหารือในรายละเอียดสัญญากับ กทพ. และให้เสนอมาตามขั้นตอน ที่ผ่านมายอมรับว่าฝ่ายการเมืองไม่ให้ปรับเพราะกลัวว่าจะกระทบคะแนนเสียง และทำให้ กทพ.ถูกเอกชนฟ้องที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งนโยบายของผมเห็นว่าหากต้องปรับก็ต้องปรับเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ” พล.อ.พฤณท์กล่าว

ส่วนกรณีที่ กทพ.ต้องแบกรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) แทนผู้ใช้ทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 คิดเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาทต่อปีสะสมมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น พล.อ.พฤณท์กล่าวว่า ต้องมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อนว่าจะเหมาะสมหรือไม่กับการผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ใช้ทางในขณะนี้ จะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ใช้ทางมากเกินไปหรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางด้วย ซึ่งเห็นว่า กทพ.ยังพอรับภาระนี้ต่อไปได้ไม่เสียหายและก่อนหน้านี้เคยรับภาระมาตลอด

ด้านนายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า เบื้องต้นการพิจารณาตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) พบว่าจะต้องปรับขึ้นค่าผ่านทางประมาณ 5 บาท ซึ่งตามหลักการจะต้องเริ่มเจรจากับบีอีซีแอลตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) และต้องประกาศล่วงหน้า โดยตามสัญญาอัตราใหม่จะมีผลวันที่ 1 กันยายน 2556 

โดยจะทำให้อัตราค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ จาก 45 บาท ปรับเป็น 50 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ จาก 70 บาท เป็น 80 บาท และรถยนต์ตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปจาก 100 บาท เป็น 115 บาท 

ส่วนสัญญาสัมปทานทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ระหว่าง กทพ.กับบีอีซีแอลที่จะสิ้นสุดในอีก 9 ปีนั้น นายอัยยณัฐกล่าวว่า ยังไม่ได้พิจารณาเพราะต้องขึ้นกับนโยบายว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร จะให้ กทพ.บริหารจัดการทางด่วนเอง หรือจะเจราจรกับบีอีซีแอลเพื่อต่อสัญญาซึ่งในสัญญาระบุไว้ว่าเมื่อหมดสัญญาแล้ว กทพ.ต้องเจรจาต่อสัญญากับบีอีซีแอลก่อนวิธีการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การบริหารสัญญาเองจะมีข้อดีที่รัฐจะกำหนดหรือลดราคาค่าผ่านทางได้ง่าย โดยไม่ต้องเจรจากับเอกชนก่อน

สำหรับปริมาณจราจรบนทางด่วนล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2555 เฉลี่ย 1.7 ล้านคันต่อวัน โดยเคยสูงสุดถึง 1.8 ล้านคันต่อวัน ถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีประมาณ 5 แสนคันต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 2 ล้านคันต่อวันภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ กทพ.มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 58 ล้านบาทต่อวันเป็น 61 ล้านบาทต่อวัน ส่วนสมาชิกบัตร Easy pass ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 5.4 แสนราย หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,000 รายต่อวัน ซึ่งคาดว่าสมาชิกจะถึง 6 แสนรายภายในปีนี้แน่นอน โดยจะมีการจูงใจในเรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิกบัตรมากขึ้น เช่น มีที่จอดรถสำรองพิเศษ ห้างเซ็นทรัล พระราม 9 เป็นต้น และ กทพ.กำลังเร่งปรับปรุงด่านเพื่อเพิ่มช่อง Easy pass อีก 50 ช่องภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะทำให้มีช่อง Easy pass ประมาณ 50% ในทุกด่านเพื่อให้มีความสะดวกมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น