xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.เตรียมตั้งคณะอนุฯ พิจารณาปรับค่าทางด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทพ.ชงบอร์ดวันนี้ (17 ม.ค.) ขอตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับค่าผ่านทางด่วน ก่อนเดินหน้าเจรจากับบีอีซีแอล “ผู้ว่าฯ กทพ.” เผยพิจารณาตามเงื่อนไขสัญญาที่ให้ปรับทุกๆ 5 ปี ชี้ช่วยมีรายได้เพิ่มเพื่อซ่อมบำรุงและก่อสร้างทางด่วนใหม่ ด้าน “ชัชชาติ” สั่งยุติเงื่อนไขสัญญาเพื่อไม่ให้กระทบความเชื่อมั่น ย้ำดูผลกระทบประชาชนให้น้อยที่สุด

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ได้เตรียมเสนอพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าผ่านทางพิเศษ เพื่อเตรียมการปรับค่าผ่านทางของทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ที่มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในการประชุมวันที่ 17 กันยายนนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ใช้ทางพิเศษ รวมถึงไม่ให้กระทบต่อสัญญาสัมปทานกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีแอล และความเชื่อมั่นในการลงทุน

โดยการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษที่จะมีผลในวันที่ 1 กันยายน 2556 นั้น เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ที่กำหนดให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางทุกๆ 5 ปี โดยเริ่มพิจารณาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2541 โดย กทพ.จะต้องดำเนินการให้อัตราค่าผ่านทางใหม่มีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทาง ซึ่งการปรับอัตราค่าผ่านทางตามสัญญาฯ ได้มีการดำเนินการมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง เมื่อปี 2541, ปี 2546 และปี 2551 และครั้งที่ 4 ในปี 2556

ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเป็นการปรับเพื่อให้อัตราค่าผ่านทางพิเศษในปัจจุบันคงมูลค่าที่แท้จริงของอัตราค่าผ่านทางเดิม ณ วันที่เปิดใช้งาน โดยปรับบนพื้นฐานอัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำหนดโดยกระทรวงพาณิชย์

นายอัยยณัฐกล่าวว่า นอกจากการปรับอัตราค่าผ่านทางจะเป็นการปฏิบัติตามสัญญาฯ แล้ว ยังจะช่วยให้ กทพ.มีรายได้เพียงพอสำหรับการใช้คืนเงินกู้ค่าก่อสร้าง ค่าดอกเบี้ย ค่าซ่อมบำรุง และค่าบริหารจัดการทางพิเศษ เนื่องจากการก่อสร้างทางพิเศษแต่ละโครงการต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก อีกทั้งปัจจุบัน กทพ.เป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่ยังต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) แทนผู้ใช้ทางมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นเงินกว่า 12,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 900 ล้านบาท ทั้งที่หน่วยงานหรือรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์นั้น ประชาชนผู้ใช้เป็นผู้ชำระเองทั้งหมดแล้ว

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพิจารณาปรับค่าผ่านทางด่วน ให้ กทพ.ยึดเงื่อนไขในสัญญาเป็นหลัก เพราะหากไม่ปฏิบัติตามสัญญา อนาคตจะไม่มีเอกชนหรือนักลงทุนเชื่อมั่นหรืออยากร่วมดำเนินโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนว่าควรคืนให้ประชาชนรับภาระเองหรือไม่ ซึ่งนอกจากดูว่า กทพ.จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดแล้ว ก็ต้องไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุดด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น