xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ยื่นศาลปกครองกลาง ฟ้องนายกฯ ขอคุ้มครองชั่วคราวเบรกประมูลแผนจัดการน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (แฟ้มภาพ)
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นศาลปกครองกลาง ฟ้องนายกฯ-กยน.-กนอช.และ กบอ.ขอถอนแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน จี้ทำประชามติตามงบฯ และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิ่งแวดล้อมก่อน พร้อมขอคุ้มครองชั่วคราวยุติการเปิดซองประมูลศุกร์นี้

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมทนายความได้เข้ายื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ (กยน.) คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กน.อช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ต่อศาลปกครองกลางขอให้มีคำสั่ง เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดร่วมกันจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการโดยจัดทำประชามติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญโดยงบประมาณของผู้ถูกฟ้อง รวมทั้งสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 85 และมาตรา 87 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 60 มาตรา 63 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5 ประกอบมาตรา 11 ให้ครบถ้วนก่อนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับแผนงานต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย โดยระหว่างพิจารณาขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องยุติการเปิดซองประมูลในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ระงับการเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างไว้ จนกว่ารัฐบาลจะดำเนินการให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า แผนการบริหารจัดการน้ำจะมีทั้งการสร้างเขื่อน 18 แห่ง, ทำทางน้ำหลาก หรือฟลัดเวย์ และแก้มลิง ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ทั้งเรื่องพื้นที่เกษตรกรรม การเวนคืนที่ดิน ซึ่งตามกฎหมายแล้วภาครัฐต้องทำ 1 รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA, การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง หรือ EHIA และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่รัฐบาลไม่ว่าจะเป็น กนอช.หรือ กบอ.กลับไม่ดำเนินการทั้งยังเร่งเปิดซองประมูล

ขณะเดียวกันก็มีข้อท้วงติงจากเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ ถึงความไม่ชอบของการดำเนินการตามแผนงานทั้ง 9 แผนงานและองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า ที่ได้จัดทำแผนการบริหารจัดการอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ ก็มีข้อเสนอว่าอาจะไม่จำเป็นต้องสร้างทุกโครงการ เพราะสามารถใช้มาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างทดแทนได้ แต่ กนอช.และ กบอ.กลับไม่ใส่ใจหรือนำผลศึกษาดังกล่าวมาปรับประยุต์ใช้สะท้อนว่า กนอช.และกบอ.มุ่งแต่จะใช้เงิน ที่จะต้องกู้มาดำเนินการตามจำนวนและเวลาที่กำหนดไว้ให้หมดไปโดยเร็ว ภายในรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น โดยไม่หวังผลในอนาคตว่าโครงการต่างๆ เหล่านั้นจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่เพียงใด ซึ่งการเล็งเห็นผลว่าจะเกิดความล้มเหลวในการดำเนินการดังกล่าวทำให้ กลุ่มกิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย รีบทำหนังสือขอถอนตัวจากโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะหลายโครงการหรือกิจกรรมจะต้องได้รับการต่อต้านคัดค้านจากภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเป็นอย่างมาก เช่น การสร้างเขื่อนที่ตามโครงการแสร้งใช้ถ้อยคำว่าเป็นอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง ป่าสัก และในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นอีก 17 ลุ่มน้ำ การจัดทำทางน้ำหลากหรือทางผันน้ำ รวมทั้งจัดทำทางหลวงระดับประเทศไปพร้อมๆ กัน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ดำเนินโครงการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลเหล่านี้เสียก่อน

ด้านนายศรีสุวรรณมั่นใจว่า หากโครงการบริหารจัดการน้ำชะลอออกไปก็จะไม่กระทบต่อการรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้งของประเทศ เพราะตามสถิติแล้วจมีภัยพิบัติขนาดใหญ่เกิดขึ้น 10 ปีต่อ 1 ครั้ง ดังนั้นรัฐบาลควรสร้างกระบวนการที่ถูกต้อง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น