“องอาจ” บี้นายกฯ เรียกอดีตที่ปรึกษานายกฯ แจง เหตุยื่นคุ้มครองชั่วคราวโครงการ 3.5 แสนล้านจัดการน้ำ ทำเฉยสังคมข้องใจมีเอี่ยวโกง อ้าง ป.ป.ช.ชี้ทจุริตสูงถึง 50% ย้ำผลสอบประมูลขัด รธน.-พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ไม่ศึกษาผลกระทบ พร้อมแนะแนวทางคุย BRN จุดยืนชาติต้องชัด ถกข้อเสนอรอบคอบ อย่าปล่อยการเมืองจุ้น
วันนี้ (28 เม.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านระบายน้ำ ยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในโครงการแก้น้ำท่วมงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ไม่ให้มีการยื่นซองประมูลในวันที่ 3 พ.ค.นี้ว่า การที่บุคคลระดับอดีตที่ปรึกษานายกฯ มาเคลื่อนไวเรื่องนี้ และมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงต้องเอาจริงเอาจังต่อการตรวจสอบเรื่องนี้ ไม่ควรเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ควรจะเรียกนายอุเทนมาสอบถามว่ามีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร แต่หากยังนิ่งเฉย สังคมก็จะเคลือบแคลงสงสัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์รู้เห็นเป็นใจกับเรื่องนี้ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่เพราะสังคมกำลังสงสัยว่าการทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น จาก 10% มาถึง 50% จากการเปิดเผยในวงสัมมนาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานต่างๆ จึงจำเป็นที่นายกฯ ต้องตรวจสอบโครงการ 3.5 แสนล้านอย่างจริงจังและเร่งด่วน
“การใช้งบ 3.5 แสนล้าน มีโครงการปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ที่จะมีการประมูลงานในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าการยื่นซองประมูลในโครงการดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพราะโครงการดังกล่าวไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง ยังมีเวลาพอที่นายกฯ จะทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส” นายองอาจกล่าว
นายองอาจกล่าวถึงการเจรจาพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในวันที่ 29 เม.ย.นี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าการเจรจาพูดคุยเป็นวิธีการหนึ่งที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าหลังการเจรจาที่ผ่านมาความรุนแรงมีนัยยะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ซึ่งกระบวนการ วิธีการและจุดยืนเป็นเรื่องที่จำเป็น ตนจึงมีข้อเสนอ 3 ประการเพื่อให้การเจรจาในวันที่ 29 เม.ย.สำเร็จด้วยดี คือ 1. คณะผู้เจรจาต้องมีจุดยืนบนผลประโยชน์ของประเทศชาติ 2. ข้อเสนอใดๆ ของคู่เจรจาควรจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 3. ไม่ควรให้การเจรจาครั้งนี้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง คณะบุคคลใดๆ เป็นอันขาด ทั้งนี้เชื่อว่าหากมีจุดยืน 3 ประการนี้ก็จะทำให้การเจรจาพูดคุยเป็นอีกวิธีการที่จะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้