xs
xsm
sm
md
lg

อดีตที่ปรึกษานายกฯ ยื่นศาลปกครองล้มทีโออาร์จัดการน้ำ กบอ. เหตุไร้ตรวจสอบส่อโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการระบายน้ำ(แฟ้มภาพ)
“อุเทน” ลุยร้องศาลปกครองฟ้องเพิกถอนทีโออาร์ กบอ.10 งานหลัก ขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนประมูลโครงการ แจงไม่สอบผลกระทบ ความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า ห้าม ปชช.มีส่วนร่วมตาม กม. เร่งประมูลส่อโกง

วันนี้ (25 เม.ย.) นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการระบายน้ำ ได้เดินทางมายื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ต่อศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดและขอบเขตของงาน หรือทีโออาร์ โครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ทั้ง 10 งานหลัก ที่ กบอ.เป็นผู้กำหนด และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาสั่งให้มีการระงับการยื่นซองประมูลโครงการดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ทั้งนี้ นายอุเทนกล่าวว่า กบอ.ได้ดำเนินการกำหนดข้อกำหนดและขอบเขตของงาน (TOR) โครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย จำนวน 10 งานหลัก ได้แก่ Module A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก, Module A2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, Module A3 การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว

Module A4 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำในพื้นที่แม่น้ำยม น่าน เจ้าพระยา, Module A5 การจัดทำทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดประมาณ 1,500 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งการก่อสร้างถนน เพื่อรองรับการคมนาคม, Module A6 และ B4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ

Module B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ, Module B2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ และ Module B3 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

นายอุเทนกล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าการกำหนดทีโออาร์ไม่ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมและผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการโครงการต่างๆ ก่อนกำหนดทีโออาร์ ความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินของแผนการลงทุน และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วมตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งเร่งรัดให้มีการประมูลโครงการฯ ซึ่งอาจทำให้การคัดเลือกผู้รับจ้างไม่โปร่งใส เกิดการทุจริตได้ ซึ่งหากปล่อยให้มีการยื่นซองประมูลโครงการดังกล่าวในวันที่ 3 พ.ค.อาจทำให้รัฐบาลและประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงต้องยื่นขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งยกเลิกทีโออาร์ดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบโครงดังกล่าวว่ามีความโปร่งใสหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น