xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นUNสอบกู้เงิน3.5แสนล. คค.รับไม่คุ้มทุน-จวกไฮสปีดเจ๊ง 2 หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (22 เม.ย.56) เมื่อเวลา 10.30 น. นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำทางทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการระบายน้ำรวมทั้งอดีตกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ เพื่อขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3.5 แสนล้าน เพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยการออกทีโออาร์ในโครงการดังกล่าว อาจนำมาซึ่งการทุจริตคอรัปชัน ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ.2546 (UNCAC 2003) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีและได้ให้สัตยาบันไว้ในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2554 และอาจไม่สอดคล้อง ขัดเจตนารมณ์ที่ที่ยูเอ็นได้ประกาศไว้ในอนุสัญญาฯ
นายอุเทน กล่าวว่า การยื่นหนังสือต่อยูเอ็น เพราะพบการไม่โปร่งใสและส่อให้เกิดการคอรัปชัน โดยเฉพาะการออกทีโออาร์ในโครงการดังกล่าวที่ส่อขัดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ.2546 (UNCAC 2003) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีและได้ให้สัตยาบันไว้เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานของ กบอ. นอกจากนี้ยังอาจมีประเด็นที่อาจก่อให้เกิดช่องว่างทางการทุจริต อาทิ การเร่งรีบผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำทำให้ไม่สามารถศึกษาข้อมูลและผลกระทบได้อย่างละเอียดรอบคอบ ดังจะเห็นได้จากความไม่ชัดเจนของทีโออาร์ในการจัดหาและปฏิบัติได้ อาจเป็นผลทำให้การคัดเลือกผู้รับจ้างไม่โปร่งใส นอกจากนั้นการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนั้นการดำเนินโครงการดังกล่าวโดยไม่มีออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 มาตรา 58 และมาตรา 87 ที่สำคัญการดำเนินโครงการไม่มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยจากนี้จะไปยื่นหนังสือที่ศาลปกครองเพื่อขอให้คุ้มครองก่อนการประมูลจะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ค.นี้
วันเดียวกัน มีการประชุม คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีตัวแทนจากสำนักงบประมาณ สำนักปลัดกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมเข้าชี้แจง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ยอมรับต่อที่ประชุมว่า โอกาสที่รถไฟความเร็วสูงจะคุ้มทุนจากค่าโดยสารมีน้อยมาก แต่อยากให้มองว่าโครงนี้จะเป็นโอกาสและเครื่องมือใหม่ในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาถึงทางตันแล้วและไม่สามารถโตไปมากกว่านี้ได้ด้วยเครื่องมือเดิมๆ
“เหมือนกับการสร้างถนน4 เลนของกรมทางหลวง ก็ไม่เคยเก็บค่าผ่านทางอะไรได้ แต่ถนนที่สร้างสามารถสร้างโอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นเพราะไม่ได้มองแค่การสร้างถนนเท่านั้น” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงจะช่วยสามารถดึงมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่านการขนส่งสินค้าและการพัฒนาที่ดินโดยรอบให้มีมูลค่ามากขึ้น พร้อมกับกระจายความเจริญจากเมืองไปสู่ภูมิภาค แม้ว่ารถไฟความเร็วสูงจะไม่ได้ทำเต็มรูปแบบ แต่ยืนยันว่าในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนอย่างแน่นอนถ้ามีความพร้อมและถึงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากเวลานี้มีเพื่อนบ้านหลายประเทศที่ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง อย่างเช่น สิงคโปร์และมาเลเซียจะมีการประกาศร่วมกันว่าจะสร้างรถไฟความเร็วสูงจริงแต่ก็เป็นเพียงแนวความคิดโดยยังไม่มีการลงมือก่อสร้าง
“ไม่อยากให้มองรถไฟความเร็วสูงเป็นแค่รถไฟแต่อยากให้มองเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ ผมลงพื้นที่ต่างจังหวัดพบประชาชน พวกเขาไม่เคยถามผมว่าค่าตั๋วรถไฟความเร็วสูงจะมีราคาเท่าไหรมีแต่ถามว่าเมื่อไหร จะสร้างเสร็จพวกเขาจะได้ขนส่งสินค้าได้รวดเร็วขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น