ประธาน กบอ.โชว์ทุบถังเก็บน้ำพลาสติกทดสอบก่อนส่งชาวบ้าน ชี้ถูกและดีกว่าไฟเบอร์กลาส อ้างญี่ปุ่นถอนตัวทีโออาร์เหตุสู้ราคาไม่ได้ สนเป็นแค่ที่ปรึกษา เชื่อคงกลัวกำไรน้อย โวใครออกอีกก็ไม่ง้อ งงอดีตทีมผันน้ำฟ้องศาลปกครองระงับกู้ 3.5 แสนล้านเพื่ออะไร ไม่รู้ “รอยล” ลาออก กบอ. บอกใครไม่อยากอยู่ก็ไปได้ ลั่นไม่กระทบเหตุเลยขั้นตอนไปแล้ว คุยปีนี้ไม่แล้งมาก ขู่ทำฟลัดเวย์ผ่าน ปชป.
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.00 น. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดการสาธิตและทดสอบความทนทานของถังพลาสติกของบริษัทเอกชนหลายบริษัท ซึ่งคาดว่าจะใช้เป็นถังเก็บน้ำกลางสำหรับประชาชนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยนายปลอดประสพได้ทดสอบความทนทานของถังเก็บน้ำโดยการใช้ค้อนทุบด้วยความแรง ซึ่งผลการทดสอบถังน้ำไม่มีความชำรุดหรือมีน้ำรั่วไหลออกมา จากนั้นนายปลอดประสพได้ใช้สว่านเจาะลงไปที่ถังเก็บน้ำด้วย ซึ่งครั้งนี้ถังเก็บน้ำได้เกิดรูรั่วจนน้ำไหลออกมาจากตัวถัง
ภายหลังการทดสอบ นายปลอดประสพกล่าวว่า ปัจจุบันภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาทำให้รัฐบาลต้องขุดเจาะบ่อบาดาล และนำน้ำไปไว้ตามหมู่บ้าน ซึ่งจะใช้ถังไฟเบอร์กลาสซึ่งมีราคาแพง และขณะนี้มีถังพลาสติกที่ราคาถูกกว่า และคุณภาพดีขึ้น วันนี้จึงมาทดสอบ และการใช้ถังดังกล่าวจะทำให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทั่วถึงขึ้น และหลังจากนี้จะให้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำเนื้อพลาสติกไปตรวจสอบเพื่อให้ความมั่นใจกับสำนักงบประมาณ และหากผ่านการตรวจสอบแล้วก็จะกลายเป็นมาตรฐานที่จะได้ใช้ถังน้ำในราคาถูกกว่าเดิมเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐบาล และปภ.จะเป็นผู้บริหารจัดการแจกจ่ายถังน้ำดังกล่าว
ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวถึงการซื้อถังเก็บน้ำดังกล่าวว่า จะมีการจัดซื้อถังน้ำ 2,000 ลิตร จำนวน 22,800 ถัง แจกจ่ายไปยังจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง 15 จังหวัดที่มีผู้เดือดร้อนจากภัยแล้งเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของจังหวัด โดยใช้งบประมาณ 200 กว่าล้านบาท และการแจกจ่ายถังน้ำดังกล่าวหากการตรวจสอบเสร็จสิ้นจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์
ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ยังกล่าวถึงการที่บริษัทของประเทศญี่ปุ่นขอถอนตัวออกจากโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ 3.5 แสนล้านว่า เนื่องจากสู้ราคาไม่ได้ จึงเห็นได้ว่าเราประหยัดงบประมาณอย่างที่สุดแล้ว และสิ่งที่เขาระบุมาในจดหมายขอถอนตัวได้ระบุว่าขอบคุณที่พิจารณาให้เขาผ่านเข้าสู่การประมูล ซึ่งเขาก็เข้าใจทีโออาร์ของเราอย่างดี แต่จากที่ทางบริษัทของญี่ปุ่นได้ประชุมกันแล้วและขอไม่เข้าร่วมทีโออาร์ต่อ และกังวลเรื่อง Maximum Guarantee Price หรือวงเงินสูงสุด หากต่อไปมีอุบัติเหตุและราคาจะสูงกว่าที่ตกลงกันไว้ ซึ่งตนก็ได้ระบุไปว่าหากเกิดอะไรขึ้นมาก็จะไม่ให้ราคาสูงกว่าที่ตกลงกันไว้
เมื่อถามว่า ทางบริษัทญี่ปุ่นกังวลเรื่องการเวนคืนที่ดินในการก่อสร้างโครงการหรือไม่ นายปลอดประสพกล่าวว่า การเวนคืนไม่ใช่ปัญหาเพราะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และรัฐบาลเป็นผู้ออกให้และเป็นผู้จ่ายเงิน แต่บริษัทมีหน้าที่ไปสำรวจว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมเท่านั้น และขณะนี้ทางญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะเป็นบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งการจะเป็นบริษัทที่ปรึกษาจะมีพันธะเรื่องการก่อสร้างไม่ได้ ซึ่งตรงนี้คาดการณ์ว่าการที่ถอนตัวครั้งนี้เกรงว่าจะได้กำไรน้อยและสนใจการเป็นบริษัทที่ปรึกษามากกว่า เป็นการออกไปด้วยดี และขั้นตอนหลังจากนี้บริษัทที่ยังร่วมประมูลทีโออาร์ก็แข่งขันกันไป ไม่มีการคัดเลือกใหม่ และใครอยากออกอีกก็เชิญตนไม่ง้อ เพราะตนมีหน้าที่หาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดและถูกที่สุด และหลังจากนี้ในวันที่ 3 พ.ค.จะมีการเปิดให้เอกชนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยื่นซองอีกครั้ง และจะทราบผลภายใน 15 วัน
นายปลอดประสพกล่าวถึงกรณีนายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำทางทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการระบายน้ำ จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือที่ศาลปกครอง วันนี้ (25 เม.ย.) เพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราวการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีการออกทีโออาร์ที่อาจนำมาซึ่งการทุจริตคอร์รัปชัน ตามที่ได้เคยยื่นต่อสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่า นายอุเทนตนเคยเห็นหน้าแต่ไม่เคยพูดคุยกัน และนายอุเทนมีตำแหน่งเยอะแยะไปหมด และตนก็ไม่เคยรู้ว่ามีตำแหน่งดังกล่าวด้วย และการที่ไปร้องต่อศาลปกครองนั้นตนก็ติดตามจากหนังสือพิมพ์ แล้วก็ไม่เข้าใจว่าร้องเรื่องอะไร อยากจะไปตั้งพรรคหรือทำอะไรก็ให้ไปทำเถอะ อย่าดังแบบนี้ และเรื่องดังกล่าวไม่มีผลอะไรต่อตน และการที่บริษัทญี่ปุ่นถอนตัวเพราะกลัวสู้ราคาไม่ได้ ก็แสดงให้เห็นว่าเราประหยัดงบที่สุดแล้ว ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ไปซี้ซั้วอะไร
นายปลอดประสพให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ลาออกจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และ กบอ.มีทั้งคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรายชื่อบุคคล ซึ่งใครไม่อยากอยู่ก็สามารถลาออกได้ แต่หากแต่งตั้งโดยตำแหน่งก็ไม่สามารถออกได้ และตนก็ไม่ได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับนายรอยล เป็นเพียงนักวิชาการคนหนึ่งและไม่กระทบกับการทำงาน หากมีนักวิชาการลาออกอีกก็จะไม่กระทบ เพราะขณะนี้เลยขั้นตอนของนักวิชาการไปแล้ว การตัดสินใจเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ที่คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่นายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน และเมื่อเลือกบริษัทที่จะมารับทำงานได้แล้วตนก็จะไปกำกับดูแลเรื่องการก่อสร้าง พร้อมยืนยันว่าไม่มีปัญหาความขัดแย้งใน กบอ. และก่อนหน้านี้มีเพียงนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่มักจะไม่แสดงความคิดเห็นในห้องประชุม แต่กลับออกไปพูดนอกห้องประชุม ซึ่งก็ไม่ถือเป็นความขัดแย้งแต่อย่างใด
ส่วนที่นายปราโมทย์เป็นห่วงเรื่องภัยแล้งนั้น นายปลอดประสพกล่าวว่า ตนมองว่าก็ไม่ถือว่าแล้งมาก ปัจจุบันฝนก็เริ่มตกแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องภัยแล้งน้ำท่วม และหากเกิดน้ำท่วมใหญ่จะเสียหายมากกว่าภัยแล้ง ต่อไปอีก 5 ปีโครงการเสร็จก็จะไม่มีปัญหาดังกล่าว ต่อไปน้ำจะท่วมอยู่ที่เดียว โดยตนจะทำฟลัดเวย์ให้น้ำผ่านพรรคประชาธิปัตย์