รองนายกฯ ในฐานะประธาน กบอ. หนีบปลัดสำนักนายกฯ และเลขาฯ กฤษฎีกาตอบโต้ “อุเทน-ภาค ปชช.” ค้านทีโออาร์โครงการจัดการน้ำ ลั่นทำตามกฎหมายทุกขั้นตอนแต่ผู้ฟ้องจ้องหาเรื่อง อ้างหากทำตามไจก้าจะขาดทุนยับเท่าตัว กฤษฎีกายันเป็นตามระเบียบ
วันนี้ (29 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.30 น. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) นายธงทอง จันทรางสุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมแถลงชี้แจงกรณี นายอุเทน ชาติภิญโญ และกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านแผนจัดการน้ำ กบอ.ที่พยายามร้องศาลปกครองถึงการบริหารจัดการน้ำของ กบอ.
โดยนายปลอดประสพกล่าวว่า ผู้ร้องอ้างว่าการทำทีโออาร์ของ กบอ.นั้นมีความหละหลวม ไม่มีสาระ และข้ามขั้นตอนนั้น ตนยืนยันว่าทุกขั้นตอนมีที่มาที่ไป และผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบ ซึ่งทุกขั้นตอนมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายกฎหมาย ที่มีตัวแทนอัยการสูงสุด และตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงตัวแทนจากกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ และทุกขั้นตอนทีโออาร์มีการตอบข้อซักถาม และไม่มีคำตอบใดที่ตอบแล้วผู้ถามไม่รู้เรื่อง และไม่มีใครที่อ่านทีโออาร์ไม่รู้เรื่องยกเว้นผู้ที่จะฟ้องศาลปกครองที่อ่านไม่รู้เรื่อง เพราะจ้องแต่จะหาเรื่อง
ส่วนกรณีกลุ่มบริษัทร่วมค้าไทย-ญี่ปุ่นขอถอนตัวนั้น ทางญี่ปุ่นก็ขอบคุณไทยมาที่ให้โอกาส แต่เป็นที่ถอนตัวเพราเป็นเหตุผลทางธุรกิจ ส่วนเหตุผลที่ไม่ทำตามคำแนะของไจก้านั้น เนื่องจากไจก้าโตเกียวไม่เกี่ยวข้องกับไทย และข้อเสนอที่ระบุว่าจะลดต้นทุนนั้นก็เป็นเพียงข้อเสนอส่วนบุคคลในองค์กร ไม่ใช่ไจก้าทั้งหมด และไจก้าไม่ได้มีข้อเสนอแนะมาอย่างเป็นทางการ ตนยืนยันข้อกล่าวหาว่าไม่เป็นความจริง อาทิ ที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องก่อสร้างฟลัดเวย์ หรือทางน้ำหลากนั้น โดยสามารถใช้คลองเล็กๆ ในการระบายน้ำและจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์นั้น ตนชี้แจงว่าประเทศญี่ปุ่นเองก็มีการสร้างฟลัดเวย์ขนาดใหญ่ที่สามารถระบายน้ำได้ภายใน 2 วัน และเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าคลองเล็กๆ ที่เรามีมากมายไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ซึ่งหากเราทำตามข้อเสนอของไจก้าก็จะส่งผลให้เกินงบประมาณที่วางไว้กว่าเท่าตัว เช่น การก่อสร้างฟลัดเวย์ที่เราวางงบไว้ 1.2 แสนล้าน แต่บริษัทญี่ปุ่นที่มีไจก้าเป็นที่ปรึกษาเสนอราคาไว้ที่ 3.93 แสนล้าน และใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง 20 ปี
นายปลอดประสพกล่าวถึงข้อกล่าวหาที่ระบุว่ารัฐบาลผลัดภาระการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการให้เป็นหน้าที่ของเอกชนนั้นว่า ไม่เป็นความจริง เป็นการปล้นความจริงกลางวันแสกๆ เพราะการเวนคืนที่ดินต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และเงินก็อยู่ที่รัฐบาล เอกชนมีหน้าที่เพียงชี้จุดพื้นที่ที่เหมาะสม เอกชนทำเองไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายและหลังจากนั้นก็ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน ที่เป็นกระบวนการหลังจากนี้
ด้านนายอัชพรกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดการยื่นฟ้องของนายอุเทน ชาติภิญโญ และยังไม่ทราบว่ามีการฟ้องจริงหรือไม่ แต่ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดของ กบอ.ทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และระเบียบข้าราชการต่างๆ อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังไม่ทราบว่าผู้ฟ้องกล่าวหาประเด็นอะไร อาจจะเป็นการไม่เข้าใจในทีโออาร์ หรือไม่เข้าใจในเรื่องเทคนิค ทั้งนี้ หากศาลปกครองได้รับคำร้องดังกล่าวไว้อาจจะกระทบกับโครงการ และหากมีการคุ้มครองชั่วคราวโครงการตามทีโออาร์อาจจะต้องชะลอไว้ก่อน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงอาจจะต้องทำให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการต่างๆ เอง และจะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอนปกติ ส่วน พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่จะครบกำหนดภายในเดือน มิ.ย.นั้นจะกระทบแค่โครงการในทีโออาร์ แต่ไม่กระทบ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม คิดว่าศาลจะไม่รับคำร้อง เพราะนายอุเทนไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง และไม่เกี่ยวข้องกับการยื่นทีโออาร์
ขณะที่นายธงทองกล่าวเสริมว่า กรรมการที่กำหนดการทีโออาร์ชั้นสุดท้าย ทำด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ดูข้อกฎหมายในมิติต่างๆ อย่างครบถ้วน โดยมีผู้แทนจาก 4 หน่วยงานเข้ามาช่วยดูด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ยื่นคำฟ้องไปก็ถือเป็นสิทธิ แต่การยื่นต่อศาลปกครองต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายในกรณีดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งการปกครองใดๆเกิดขึ้นเลย ส่วนบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงนั้นต่างก็ไม่ได้มีข้อทักท้วงแต่อย่างใด ดังนั้นหากศาลรับคำฟ้องสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ พร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับสำงานการอาญาการสูงสุดในการอธิบายหรือแก้คำฟ้องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม วันศุกร์ที่ 3 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-14.00 น. บริษัทที่รับทีโออาร์ไปจะนำมายื่นซองประกวดราคา คาดว่าเอกสารที่มาคงจะเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ คณะกรรมการจะใช้เวลาอ่านประมาณ 3 สัปดาห์ ใช้ทีมงานในการอ่านประมาณ 50 คน และจากนั้นจะรายงานผลการอ่านซึ่งเป็นผลทางเทคนิคในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม จากนั้นจะดูคะแนนทางเทคนิคและราคา และดูว่าจะสามารถต่อรองกับบริษัทที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ได้หรือไม่ หากเห็นว่าไม่มีบริษัทใดเสนอเป็นที่น่าพอใจ ก็อยู่ที่ดุลพินิจของคณะกรรมการว่าจะนำไปสู่การทำสัญญาหรือไม่