ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“ขอขอบคุณคนไทยที่ให้กำลังใจในการต่อสู้คดี เชื่อว่าทำดีที่สุดแล้ว และรู้สึกภูมิใจในเรื่องของการเก็บความลับก่อนที่จะนำไปชี้แจงต่อศาลโลก ซึ่งเป็นไปตามหลักการเก็บรักษาความลับทางราชการ เพราะหากทางกัมพูชารู้ข้อมูลก่อนก็อาจดักทางการต่อสู้คดีได้”
นั่นถือประโยคเด็ดที่ “นายวีรชัย พลาศรัย” เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทยในคดีปราสาทพระวิหารให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลังเดินทางถึงท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ พร้อมคณะเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2556
เป็นประโยคเด็ดที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในฉับพลันทันที เนื่องเพราะเป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การสู้ศึกปราสาทพระวิหารในครั้งนี้ มี “ไส้ศึก” ฝ่ายกัมพูชา จ้องจะล้วงความลับในข้อต่อสู้ของประเทศไทยจนทูตวีชัยถึงกับใช้คำว่า ภูมิใจที่สามารถเก็บความลับเอาไว้ได้
แน่นอน ไส้ศึกของกัมพูชาที่ปะปนและแฝงตัวหาความลับย่อมไม่ใช่ทีมกฎหมายของทูตวีรชัยที่ประกอบด้วย ศาสตราจารย์อแลง แปลเล่ต์ ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ดและศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม.แมคเรย์ รวมถึงมิสอลิน่า มิรอง ผู้ช่วยของศาสตราจารย์แปลเล่ต์ที่กลายเป็นขวัญใจของคนไทยไปเป็นที่เรียบร้อย เพราะการให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกที่กรุงเฮกเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า มิใช่พวกเขาอย่างแน่นอน
เมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามที่ตามมามีอยู่ว่า แล้วใครล่ะที่ “เข้าข่าย” เป็น “อุปนิกขิต” หรือ “ไส้ศึกเขมร” ที่จ้องจะนำความลับของราชอาณาจักรไทยที่ไปบอกต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชาได้บ้าง
ใครเล่าที่สุ่มเสี่ยงมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าถึงชั้นข้อมูลความลับของกระทรวงการต่างประเทศอย่างง่ายดาย หรือมีอำนาจที่จะขอดูข้อมูลอันเป็นความลับขั้นสุดยอดของทีมกฎหมายได้อย่างสะดวกโยธิน
หนึ่งในบุคคลต้องสงสัยย่อมเป็นคนในกระทรวงการต่างประเทศ
หนึ่งในบุคคลต้องสงสัยย่อมเป็นคนในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เป็นไปได้ทั้งข้าราชการประจำและเป็นไปได้ทั้งข้าราชการการเมือง เพราะเป็นกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงชั้นข้อมูลได้
ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากที่ทูตวีรชัยจะ “โดยเจตนา” หรือ “ไม่เจตนา” ปล่อยชุดข้อมูลดังกล่าวออกมาเพียง 1 วัน วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 22 เมษายน 2556 ก็มีเสียงจาก “นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์มอบภารกิจให้ดูแลคดีปราสาทพระวิหารในฐานะผู้พิพากษาเก่า กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจน
กรณีนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวีรชัย ออกมายอมรับว่ามีข้อมูลบางอย่างที่ไม่บอกกับรัฐมนตรี แสดงว่าไม่ไว้ใจรัฐมนตรีหรือคนในรัฐบาลหรือไม่
นายพงศ์เทพตอบเอาไว้ว่า “ความจริงรัฐบาลเองก็ไม่ขอเข้าไปทราบในสิ่งที่เป็นเรื่องลึกๆ เพราะไม่อยากให้เกิดความแคลงใจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเมื่อไม่ทราบในรายละเอียด หากมีปัญหาอะไรขึ้นมา สมมติมีข้อมูลรั่วไหลก็จะได้ไม่ต้องมาแคลงใจกัน และก็มั่นใจว่าทีมของเราสามารถต่อสู้คดีได้เต็มที่ ผมเองยังไม่เคยถามในรายละเอียดถ้าทูตวีรชัยไม่บอก แม้แต่เอกสารต่างๆ ที่ส่งศาลแล้ว กัมพูชาทราบแล้วก็ยังไม่เคยขอจากทูตวีรชัยเลย จนใกล้วันที่จะเข้าไปฟังคำชี้แจงถึงได้ขอ”
คำตอบของนายพงศ์เทพสะท้อนให้เห็นถึงเส้นบางๆ แห่งความขัดแย้งที่ขีดคั่นระหว่างทีมกฎหมายกับนักการเมืองได้เป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นฝ่ายการเมืองคงไม่ให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่สวนกลับ ประหนึ่งต้องการเอาคืนอย่างไรอย่างนั้น
กระนั้นก็ดี การที่ทูตวีรชัยเกรงไส้ศึกกัมพูชาก็มิใช่สิ่งที่เลื่อนลอย หากแต่สามารถสืบค้นต้นตอของเรื่องอันเป็นที่มาและที่ไปของความกลัวได้เช่นกัน
หนึ่ง-ต้องไม่ลืมว่า คดีปราสาทพระวิหารเป็นคดีการเมืองที่เกี่ยวโยงถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายใหญ่ของคนเสื้อแดงซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงที่บริหารประเทศผ่านสไกป์กับนายกรัฐมนตรีฮุนเซนแห่งกัมพูชาในเรื่องขุมทรัพย์พลังงานในอ่าวไทย ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อครหาใหญ่ที่ยากจะสลัดหลุดได้ก็คือ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยสู้ศึกพระวิหารไม่เต็มที่
สอง-ต้องไม่ลืมว่า ทูตวีรชัยต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากรัฐบาลคนเสื้อแดงมาอย่างต่อเนื่อง โดนเด้งจากอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเข้ากรุด้วยข้อหากระทำการอันเป็นภัยร้ายแรงต่อนายใหญ่คนเสื้อแดงด้วยการให้ความร่วมมือในการส่งข้อมูลการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) โดนเด้งจากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายด้วยข้อหาบังอาจทำบันทึกคัดค้านการออกแถลงการณ์ร่วมหนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว โดนปลดจากคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี) โดยอ้างว่า ต้องการให้ทำหน้าที่เรื่องคดีปราสาทพระวิหารเต็มที่ ทั้งๆ ที่การเป็นคณะกรรมการเจบีซีของทูตวีรชัยน่าจะมีประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่า
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ทูตวีรชัยถึงหวาดระแวงว่าข้อมูลจะรั่ว
และสาม-ปฏิกิริยาของรัฐมนตรีเสื้อแดงที่ให้สัมภาษณ์ตอกย้ำครั้งแล้วครั้ง เล่าเกี่ยวกับทิศทางและความเป็นไปได้ของคดีกันอย่างน่าสงสัยในพฤติกรรมและความบริสุทธิ์ใจในการปกป้องอธิปไตยของชาติ
ทั้งจากท่าทีของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ออกตัวตั้งแต่ไก่โห่ว่า งานนี้ไทยมีแต่ “เจ๊งกับเจ๊ง” ไม่มีชนะ แถมเมื่อไปที่ศาลโลกเผชิญหน้ากับ “ฮอร์ นัมฮง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ก็เต็มไปด้วยความนอบน้อม
และในเวลาต่อมานายสุรพงษ์ก็ให้สัมภาษณ์เองว่า “ก่อนที่ไทยจะแถลงด้วยวาจาครั้งสุดท้าย ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศของกัมพูชา โดยตนได้บอกว่า เรื่องต่อสู้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องความสัมพันธ์ไทยกัมพูชาก็อีกเรื่องหนึ่ง ขอให้เป็นคนละเรื่องกัน เพราะถึงอย่างไรแล้วไทยกับกัมพูชาก็ยังมีเรื่องความร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจตลอดแนวชายแดน อีกทั้งความสัมพันธ์ของนายกฯ ไทย และสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก็ยังเป็นไปได้ด้วยดีเช่นเดียวกัน”
ทั้งจากท่าทีของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “ใช้ทนายชุดเดิม” ที่ตั้งโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเสมือนหนึ่งเห็นความพ่ายแพ้รออยู่เบื้องหน้าและเจตนาออกมาพูดเพื่อปัดสวะให้รัฐบาลพ้นผิดและมีเป้าหมายเพื่อทำลายพรรคประชาธิปัตย์โดยเจตนา
ทั้งจากท่าทีของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ออกมาระบุชัดเจนว่า “เมื่อศาลโลกตัดสินออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ” เพราะเกรงว่าจะไม่มีใครคบประเทศไทย ประหนึ่งปูผ้าขาวยอมแพ้
นอกจากนี้ ยังมีชุดข้อมูลที่น่าสนใจจากเอแบคโพล ที่ออกมาเปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อคณะผู้แทนไทยกรณีปราสาทพระวิหาร โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสาม หรือร้อยละ 61.3 มีความเชื่อมั่นต่อคณะผู้แทนไทยต่อการแถลงการณ์กรณีปราสาทพระวิหารในครั้งนี้ ในขณะที่ร้อยละ 33.1 รู้สึกเฉยๆ และร้อยละ 5.6 ระบุไม่เชื่อมั่น
ขณะที่เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายการทูตในกรณีปราสาทพระวิหาร พบว่า ส่วนมากหรือร้อยละ 65.6 มีความพึงพอใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความพึงพอใจต่อฝ่ายการเมือง พบว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 42.6 มีความพึงพอใจ
ถึงตรงนี้ แม้ไม่อาจฟันธงว่า ใครคือไส้ศึกตัวจริง เป็นไส้ศึกระดับบิ๊กเบิ้มหรือระดับกระจ้อยร่อย แต่เมื่อหัวหน้าคณะต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารปรารภเยี่ยงนี้ สังคมคงต้องช่วยกันค้นหาและเชื่อมโยงกันเอาเองว่า ใครคือผู้ที่อยู่ในข่ายที่มีความเป็นไปได้บ้าง
ที่สำคัญที่สุด ภายหลังการแถลงด้วยวาจาของทนายทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาในศาลโลกยุติลง และรอคำพิพากษาในเดือนตุลาคมนี้ รัฐบาลไทยไม่ควรนิ่งนอนใจหรือนั่งรอคำพิพากษาโดยไม่มีการเคลื่อนไหวหรือปฏิกิริยาใดๆ โดยเฉพาะข้อแนะนำของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล ที่เรียกร้องให้คนไทยอยู่สงบ อยู่นิ่งๆ รอฟังคำตัดสินศาลอย่างเดียวนั้นเป็นท่าทีที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้คนไทยทุกกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างสันติ หรือแสดงออกด้วยเหตุด้วยผลเพื่อเน้นคำยืนยันคำแถลงของทนายฝ่ายไทยให้มีน้ำหนักมากขึ้น