“ชวนนท์” ยกพฤติกรรมระบอบแม้ว 4 อย่าง ชี้ไว้ใจไม่ได้ เตือนเขมรงัดเวทีมรดกโลกรุกล้ำดินแดนไทย ผ่านการพัฒนาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ถ้าทำสำเร็จต้องสู้กับอีก 7 ชาติ จี้นายกฯ ประกาศไม่หนุนขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว ด้าน “องอาจ” แนะฝ่ายการเมืองของรัฐบาล หยุดแทรกแซงการให้ข้อมูล เหตุไม่น่าไว้วางใจ ให้ข้าราชการทำแทนอย่างมืออาชีพ เตือนนายกฯ ระวังท่าทีอย่าส่งสัญญาณกระทบต่อคดี
วันนี้ (21 เม.ย.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต้อนรับทีมทนายความไทยที่ต่อสู้ในการปกป้องเขตแดนผ่านคดีปราสาทพระวิหารในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยหักล้างหลักฐานของกัมพูชาที่พยายามกล่าวอ้างมานานนับร้อยปีว่า เป็นแผนที่ที่ใช้ไม่ได้ไม่สามารถถ่ายทอดในโลกแห่งความจริงได้ ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยเดินมาครึ่งทางแล้ว ที่เหลือคือต้องพยายามให้การตัดสินของศาลออกมาเป็นคุณต่อประเทศไทย โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความจำเป็นต้องเอาจริงเอาจังก่อนมีคำพิพากษาในอีก 6 เดือนข้างหน้า และมีความเข้มแข็งมั่นคง ชัดเจนในจุดยืน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อคำตัดสินของศาลที่จะมีขึ้นในอีก 6 เดือน
นายชวนนท์ กล่าวว่า ตนมีความเป็นห่วงพฤติกรรมในอดีตของรัฐบาลที่มาจากพรรคไทยรักไทยใน 4 ประเด็น ดังนี้ 1.การแถลงด้วยวาจาของทนายความกัมพูชาพูดชัดเจนว่าความคิดที่เป็นต้นตอของปัญหา คือการที่กัมพูชาพยายามจะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และรัฐบาลที่สนับสนุน คือรัฐบาลไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการคัดค้านในเรื่องนี้
2.เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลมีนายนพดล ปัทมะ เป็น รมว.ต่างประเทศ ก็ได้ไปลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ยินยอมให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยทนายความกัมพูชายังกล่าวอ้างว่าแผนที่แนบท้ายในแถลงการณ์ไทยไม่ได้มีการยืนยันเรื่องเส้นสันปันน้ำ สิ่งเหล่านี้ทำให้ตนไม่สบายใจ เพราะพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย คือพรรคการเมืองที่มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน
3.ในยุคที่นายนพดล ยังย้ายทุตวีรชัยออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ซึ่งถือเป็นมรสุมที่รุมเร้านายวีรชัยในชีวิตข้าราชการประจำมากที่สุด และในคำฟ้องของ ป.ป.ช.ก็ยังระบุว่า การย้ายนายวีรชัย เป็นพราะมีบันทึกช่วยจำคัดค้านเรื่องแถลงการณ์ร่วมฯ ทำให้นายนพดล เสนอ ครม.ให้นายวีรชัย พ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่นายวีรศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ทักท้วง แต่นายนพดลก็ยังยืนยันที่จะย้าย โดยระบุว่าไม่สามารถทำงานร่วมกับนายวีรชัยได้
4.หลังจากที่นายวีรชัย ไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก จากการแต่งตั้งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และยังแต่งตั้งทีมทนายทั้งหมดเพื่อสู้คดีปราสาทพระวิหารโดยมอบหมายให้นายวีรชัยเป็นหัวหน้าทีมทนาย ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยเคยเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์รับผิดชอบ แต่ตอนนี้ตีกินผลงานไปแล้ว แต่พวกตนไม่ติดใจในเรื่องนี้ โดยสิ่งที่เป็นปัญหาคือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น นายสุรพงษ์ ได้ปลดนายวีรชัย ออกจากคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา จึงขอถามสามัญสำนึกปกติของคนไทยว่า อยากให้นายวีรชัยทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาหรือไม่ ทำไมนายสุรพงษ์จึงปลดออก ที่อ้างว่าเป็นข้อเสนอของกระทรวงนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะนายวีรชัย มีความเข้าใจต่อปัญหาไทย-กัมพูชาอย่างลึกซึ้ง เป็นความจงใจที่จะทำให้คณะกรรมาธิการเจรจาฝ่ายไทยอ่อนแอลงใช่หรือไม่ จากพฤติกรรมในอดีตตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนถึงเพื่อไทย จึงเป็นเรื่องที่คนไทยยังสบายใจไม่ได้ เพราะผลงานรัฐบาลร่างทรงทักษิณ ไม่มีผลงานใดที่เข้าข้างประเทศไทยเลย
นายชวนนท์ กล่าวว่า เรื่องที่ 5 คือเรื่องที่จะเกิดในอนาคต คือการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 37 ที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฏาคมนี้ ที่ประเทศกัมพูชา เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยผู้แทนของฝ่ายไทยพูดชัดว่าครั้งนี้จะไม่แข่งกับกัมพูชาเหมือนในอดีต แต่ยินยอมให้เป็นเจ้าภาพการประชุมมรดกโลก โดยไทยยอมเป็นรองประธาน เท่ากับสนับสนุนกัมพูชาเป็นเจ้าภาพการประชุมดังกล่าว ซึ่งมีความหมายมาก เนื่องจากที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ขัดขวางเรื่องการเสนอพัฒนาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารที่จะกระทบถึงอธิปไตยไทยเหนือพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ดังนั้นการที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพนั้น ก็จะมีบทบาทในการกำหนดวาระ และมีโอกาสในการล็อบบี้ฝ่ายต่างๆ เป็นจุดเสี่ยงที่จะทำให้ไทยเสียพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร
“เป็นแผนสองที่กัมพูชาวางไว้และรอดำเนินการอยู่ที่พนมเปญ เพราะจะมีผลต่อคำตัดสินของศาลโลกในปลายปีด้วย เนื่องจากหากขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารได้อย่างสมบูรณ์ จะมี 7 ชาติเข้ามาบริหารพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เท่ากับว่าไทยต้องสู้กับอีก 7 ประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากจากตระกูลทักษิณทั้งสิ้น นายกฯต้องออกมายืนยันว่าจะยังสนับสนุน หรือจะคัดค้านกัมพูชาอย่างเต็มที่แม้จะเป็นการประชุมในดินแดนของกัมพูชาก็ตาม” นายชวนนท์ กล่าว
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศควรให้ข้อมูลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อประชาชนให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องและให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด โดยต้องทำต่อเนื่องจนถึงวันที่ศาลโลกมีคำตัดสิน และอยากให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการ ส่วนฝ่ายการเมืองควรละเว้นที่จะนำเสนอเพราะอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคมว่าจะรักษาประโยชน์ประเทศชาติอย่างเพียงพอหรือไม่ จึงควรให้เป็นภาระหน้าที่ของฝ่ายประจำที่จะให้ข้อมูลที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่า รัฐบาลไทยต้องระมัดระวังไม่ให้การดำเนินการใดๆ นับแต่นี้เป็นต้นไปส่งผลกระทบต่อการพิจารณาของศาลโลก หรือกระทบต่อการนำข้อมูลพฤติกรรมรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายกัมพูชา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมไปเป็นเหตุผล ข้อมูลประกอบการวินิจฉัย รัฐบาลจึงต้องระมัดระวังท่าทีไม่ให้เกิดการนำการแสดงออกหรือการส่งสัญญาณใดๆ ไปเป็นผลต่อการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารในศาลโลก
“แม้ว่าผู้นำรัฐบาลปัจจุบันจะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้นำกัมพูชาก็ตาม แต่ทั้งผู้นำรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาจะต้องไม่ตั้งอยู่บนความประมาท เพราะกัมพูชาอาจมีพฤติกรรมที่กระทำการโดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ลึกซึ้งดังกล่าว เพื่อที่ฝ่ายกัมพูชาจะได้บรรลุเป้าหมายจากการนำคดีปราสาทพระวิหารขึ้นศาลโลก ดังนั้นรัฐบาลต้องระมัดระวังเหตุการณ์ตามแนวชายแดนด้วย เพราะจากนี้ไปจนถึงวันที่จะมีคำพิพากษาของศาลโลกเป็นช่วงเวลาสำคัญ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงบทบาทของตัวเองที่จะทำให้ความขัดแย้ง หรือคดีความที่นำไปสู่ศาลโลกในครั้งนี้มีผลคำพิพากษาออกมาอย่างเหมาะสม และไม่ทำอะไรที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย” นายองอาจกล่าว