xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 16-20 เม.ย.2556

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. ไทย-เขมร แถลงด้วยวาจาเรียบร้อยแล้ว ด้านศาลโลกสั่งทั้ง 2 ฝ่ายชี้พิกัดพื้นที่รอบปราสาทที่เป็นของกัมพูชาภายใน 26 เม.ย.!
นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์  - นายฮอร์ นัมฮง รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา
ความคืบหน้ากรณีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก เปิดโอกาสให้คู่กรณี คือไทยและกัมพูชาได้แถลงด้วยวาจากรณีที่กัมพูชาได้ยื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีประสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 เพื่อยืนยันว่า พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.เป็นของกัมพูชา โดยกัมพูชา ซึ่งเป็นฝ่ายชี้แจงก่อนเมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายฮอร์ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา พร้อมทีมทนาย ได้อ้างเหตุที่ต้องยื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความว่า เป็นเพราะไทยรุกรานกัมพูชา นอกจากนี้ฝ่ายกัมพูชายังพยายามโน้มน้าวให้ศาลโลกรับรองแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 เพื่อให้พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาด้วยนั้น

ปรากฏว่า ในส่วนของฝ่ายไทย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วยทนายความฝ่ายไทย ซึ่งแถลงด้วยวาจาต่อศาลรอบแรกเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ได้ชี้ให้ศาลเห็นว่า การที่กัมพูชายื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่เคารพศาล เพราะนำเรื่องเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 มาแอบแฝงอยู่ในการยื่นขอตีความ ทั้งที่ศาลเคยปฏิเสธที่จะชี้ขาดเรื่องเขตแดนไปแล้ว ถือว่าผิดข้อกำหนดข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลก

นายวีรชัย ยังย้ำด้วยว่า ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกครบถ้วนไปแล้ว โดยที่กัมพูชาเองก็พึงพอใจและไม่เคยคัดค้าน แต่เพิ่งมาคัดค้านเมื่อกัมพูชาจะนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งกัมพูชาต่างหากที่เป็นฝ่ายรุกรานไทย รวมทั้งพยายามสร้างความสับสนให้ศาลโลกด้วยการอ้างว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นแผนที่ที่รับรองโดยคำพิพากษา ทั้งยังปลอมแปลงแผนที่เพื่อนำกลับมายื่นประกอบคำขอให้ศาลโลกตีความในครั้งนี้ด้วย

ขณะที่ ศ.โดนัลด์ แค็คเรย์ ทนายความชาวแคนาดาของไทย ขึ้นให้การด้วยวาจา โดยยืนยันว่า คำขอของกัมพูชาไม่เข้าข่ายที่จะให้ศาลโลกตีความ และว่า กัมพูชาพยายามขอให้ศาลตัดสินว่าไทยมีพันธกรณีที่ต้องถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียง โดยพยายามให้ศาลเข้าใจว่า พื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทเป็นส่วนหนึ่งของข้อพิพาทในคดีปราสาทพระวิหารตั้งแต่ปี 2505 เพื่อจะได้ตีความให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา ทั้งที่คดีปราสาทพระวิหารในครั้งนั้น ไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าว

ด้าน น.ส.เอลินา มีรอง ทนายความชาวโรมาเนียของไทย ขึ้นให้การด้วยวาจาโดยชี้ว่า กัมพูชาพยายามทำให้แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเอกสารเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ในการปักปันเขตแดน ทั้งที่ในคดีเดิมมีแผนที่ถึง 59 ฉบับ ขณะที่แผนที่ภาคผนวก 1 ก็ไม่ได้มีแค่รุ่นเดียว แต่มีหลายรุ่น และแต่ละรุ่นก็แตกต่างกัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า แผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาแนบไปกับคำฟ้องของตนเมื่อปี 2502 ก็ไม่หมือนกับแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาแนบมาในคำขอให้ศาลโลกตีความในครั้งนี้ น.ส.มิรอง ยังจับพิรุธกัมพูชาด้วยว่า “คดีเดิม กัมพูชายอมรับเส้นเขตแดนที่ไปตามสันปันน้ำ และได้ถ่ายทอดเส้นเขตแดนในแผนที่ภาคผนวก 1 ในบริเวณปราสาทพระวิหารออกมาในลักษณะที่ไม่ต่างไปจากเส้นของไทย แต่ปัจจุบันกัมพูชากลับปฏิเสธเส้นของตัวเองดังกล่าว ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงขอให้ศาลไม่รับพิจารณาคำขอตีความของกัมพูชา”

ขณะที่ ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความฝ่ายไทย ได้ขึ้นให้การด้วยวาจา โดยย้ำว่า ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ด้วยการถอนทหารและล้อมรั้วลวดหนาม พร้อมขึ้นป้าย “เขตบริเวณปราสาทพระวิหาร” ซึ่งฝ่ายกัมพูชาก็ยอมรับ สังเกตได้จากกรณีสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ประมุขกัมพูชาขณะนั้น เสด็จฯ ไปยังปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2506 และทอดพระเนตรเห็นรั้วลวดหนามอย่างชัดเจน ซึ่งมิได้ทรงติดใจแต่อย่างใด แต่การที่กัมพูชามาเปลี่ยนท่าที เพราะต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จึงเสนอแผนผังที่กำหนดพื้นที่ที่จำเป็นในการขึ้นทะเบียนฯ แต่ปรากฏว่าแผนผังล้ำเข้ามาในดินแดนไทยประมาณ 4.6 ตร.กม.ไทยจึงได้ประท้วงการขึ้นทะเบียนดังกล่าว กระทั่งปี 2551 กัมพูชาจึงขึ้นทะเบียนได้เพียงตัวปราสาทและพื้นที่โดยรอบเพียงเล็กน้อย ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกระบุแล้วว่า ทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนของกัมพูชาได้ลดขนาดลงและมีพื้นที่เพียงปราสาทพระวิหาร ไม่รวมชะง่อนผา หน้าผา และถ้ำ นั่นแสดงว่ายูเนสโกได้กลับไปสู่หลักการของคำพิพากษาปี 2505 ที่ว่า เฉพาะปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ไม่รวมชะง่อนผา

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่การแถลงด้วยวาจารอบแรกของฝ่ายไทยจะเสร็จสิ้น นายอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูซูฟ ผู้พิพากษาชาวโซมาเลีย ได้บอกให้คู่ความทั้งสองฝ่ายระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์หรือชี้จุดในแผนที่ซึ่งคู่ความคิดว่าเป็นพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 ทั้งนี้ นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก กำหนดให้ไทยและกัมพูชาส่งคำตอบพิกัดดังกล่าวในวันที่ 26 เม.ย. ภายในเวลา 17.00น. และให้ทั้งสองฝ่ายส่งข้อสังเกตต่อคำตอบของคู่กรณีด้วยภายในวันที่ 3 พ.ค.เวลา 17.00น.

วันต่อมา(18 เม.ย.) ฝ่ายกัมพูชาได้แถลงปิดการให้การด้วยยวาจาต่อศาลโลก โดย ศ.ร็อดแมน บุนดี ทนายความฝ่ายกัมพูชา ได้กล่าวโต้แย้งฝ่ายไทย โดยอ้างว่าสมเด็จสีหนุฯ เคยประท้วงการล้อมรั้วลวดหนามของไทยบริเวณปราสาทพระวิหารช่วง 4 เดือนก่อนที่จะเสด็จฯ ไปยังปราสาทฯ ศ.บุนดี ยังปฏิเสธด้วยว่า กัมพูชาไม่ได้ปลอมแปลงแผนที่ตามที่ทนายฝ่ายไทยอ้าง พร้อมกล่าวหาว่าฝ่ายไทยได้ลบเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 ลง

ขณะที่ฝ่ายไทยได้แถลงปิดการให้การด้วยวาจาต่อศาลโลกในวันที่ 19 เม.ย. โดย ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความฝ่ายไทย แถลงตั้งข้อสังเกตว่า กัมพูชาไม่ยอมตอบประเด็นที่ตัวเองกำลังขอให้ศาลโลกพิพากษาเกินคำขอในเรื่องของเส้นแบ่งเขตแดน เพราะไม่เคยมีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้น พร้อมย้ำว่า แผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถนำมาประกอบคำร้องขอให้ตีความคำพิพากษาใหม่ได้

ด้านนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้แถลงด้วยวาจาปิดท้ายว่า ท่าทีของฝ่ายกัมพูชาไม่คงเส้นคงวา การอ้างเส้นต่างๆ ในแผนที่ ก็ไม่มีความคงเส้นคงวา และยังใช้เส้นเทียมในการกล่าวอ้างเพื่อให้บริเวณโดยรอบปราสาทกินพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ด้วย พร้อมย้ำว่า ฝ่ายไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ครบถ้วนแล้ว คำขอของฝ่ายกัมพูชาจึงไม่มีมูล และไม่จำเป็นต้องตีความคำพิพากษาดังกล่าวอีก

จากนั้น ประธานศาลโลกได้แจ้งตัวแทนและทนายทั้งสองฝ่ายว่า คณะตุลาการไม่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว และจะมีคำพิพากษาในเวลาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ หลังฝ่ายไทยเสร็จสิ้นการให้ถ้อยแถลงต่อศาลโลก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์ไปแสดงความชื่นชม พร้อมขอบคุณนายวีรชัยและคณะทนายความฝ่ายไทย “ขอชื่นชมและขอบคุณจากใจในความตั้งใจของทุกคนที่ทำงานอย่างเต็มที่ ทุกคนให้การดีทุกคน โดยเฉพาะนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ตัวแทนประเทศไทย ทำได้ดีมาก ขอให้กำลังใจทุกคน”

2. รัฐสภาเสียงข้างมาก เมิน ปชป.วอล์กเอาต์ ลงมติแปรญัตติแก้ รธน.15 วัน – “สมศักดิ์” ส่อเผด็จการให้นับย้อนหลัง ด้าน ปชป. เตรียมร้อง ป.ป.ช. สอบ!
ายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรค ปชป.ชูกระดาษตำหนิการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาว่า “เผด็จการ”(18 เม.ย.)
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ได้มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติกำหนดวันแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หลังที่ประชุมเสียงข้างมากเมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย.มีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ก่อนมีมติตั้งกรรมาธิการขึ้นมา 3 คณะ คณะละ 45 คน เพื่อพิจารณาแปรญัตติใน 15 วัน แต่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้แปรญัตติ 60 วัน ซึ่งตามระเบียบต้องให้ที่ประชุมลงมติว่าเสียงส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับ 60 วันหรือ 15 วัน แต่เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จึงสรุปให้แปรญัตติ 15 วัน ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ พร้อมเรียกร้องให้นายสมศักดิ์เรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อลงมติเรื่องวันแปรญัตติใหม่ หาไม่แล้วจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายสมศักดิ์ กลัวถูกถอดถอนจึงเรียกประชุมเพื่อลงมติเรื่องนี้อีกครั้ง

ปรากฏว่า เมื่อเข้าสู่วาระการประชุม นายสมศักดิ์ แจ้งว่า การประชุมครั้งนี้ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี เสนอเพิ่มวันแปรญัตติเป็น 30 วัน และนายอรรถพร พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอวันแปรญัตติเป็น 60 วัน จึงขอดำเนินการเพื่อลงมติต่อ แต่นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงว่า การประชุมครั้งที่แล้วองค์ประชุมไม่ครบ แทนที่ประธานจะปิดประชุมอย่างเดียว กลับวินิจฉัยให้แปรญัตติ 15 วัน ถือว่าประธานทำผิดรัฐธรรมนูญชัดเจน การมาเปิดประชุมวันนี้ แสดงว่าประธานยอมรับแล้วว่าทำผิด

ด้านนายสมศักดิ์ ชี้แจงด้วยน้ำเสียงเคร่งเครียดว่า ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติวันแปรญัตติอีกครั้ง ถ้าไม่เปิดประชุมจะยื่นถอดถอน พอเรียกประชุมก็ประท้วงว่าตนทำผิดรัฐธรรมนูญอีก สรุปว่าทำอะไรก็ผิดใช่หรือไม่ พร้อมยืนยันว่า สิ่งที่ตนวินิจฉัยให้แปรญัตติ 15 วันหลังองค์ประชุมไม่ครบนั้น เป็นไปตามข้อบังคับแล้ว

จากนั้นนายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงนายสมศักดิ์ว่า เมื่อญัตติคาอยู่ในที่ประชุม ต้องนัดประชุมต่อเพื่อลงมติในวันถัดไป แต่นายสมศักดิ์กลับสรุปว่าองค์ประชุมไม่ครบและให้แปรญัตติ 15 วัน จึงถือว่าไม่ชอบ ด้านนายสมศักดิ์พยายามชี้แจงโต้แย้งเป็นระยะๆ ก่อนตัดบทว่า จะไม่ให้ประท้วงแล้ว ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ โห่ลั่นกลางสภา

จากนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้ที่ประชุมลงมติเรื่องวันแปรญัตติ นายสมศักดิ์ จึงบอกว่า จะให้สิทธิ ส.ส.ประท้วงอีก 2 คน และจะลงมติ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ยกมือประท้วงหลายคน จึงตำหนิประธานรัฐสภาว่า อย่าใช้วิธีเผด็จการ แต่นายสมศักดิ์ไม่สน ตัดสินใจปิดการใช้สิทธิประท้วง และให้ที่ประชุมลงมติเรื่องวันแปรญัตติทันที พร้อมประกาศว่า จะขอรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ทุกประการ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ขอใช้สิทธิประท้วงว่า การประชุมครั้งนี้จะไม่สามารถลงมติได้ หากประธานยังยืนยันในคำวินิจฉัยให้แปรญัตติ 15 วัน ทั้งที่การประชุมครั้งที่แล้วองค์ประชุมไม่ครบ ขณะที่นายสมศักดิ์ ยังคงยืนยันว่า การสรุปให้แปรญัตติ 15 วัน ก่อนปิดประชุมครั้งที่แล้ว เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาข้อที่ 96

ด้านนายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ขอใช้สิทธิอภิปรายว่า ข้อบังคับที่ 96 ระบุว่า หากไม่มีมติเป็นพิเศษให้ถือตามข้อบังคับคือ 15 วัน แต่เมื่อที่ประชุมมีผู้เห็นเป็นอื่น ที่เห็นต่างจาก 15 วัน ข้อยุติจึงยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นหากจะมีการลงมติ ประธานต้องยอมรับก่อนว่า ที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง จึงต้องมีการลงมติใหม่

ขณะที่นายสมศักดิ์เมินคำท้วงติงของนายชวน ยังคงยืนกรานว่าข้อบังคับการประชุมกำหนดให้แปรญัตติ 15 วัน พร้อมอ้างว่า 15 วันดังกล่าวจะครบกำหนดในวันที่ 19 เม.ย. เพราะการลงมติเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. เวลา 02.00น. ดังนั้นผลการใช้บังคับจะเกิดขึ้นในวันถัดไปคือวันที่ 5 เม.ย.

หลังนายสมศักดิ์สรุปเช่นนั้น ทำให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่พอใจ ลุกขึ้นขว้างหนังสือข้อบังคับการประชุมใส่โต๊ะ และขอใช้สิทธิประท้วง โดยชี้ว่า ถ้านับตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.ถือว่าไม่ถูกต้อง ต้องนับวันแปรญัตติจากวันที่ลงมติคือวันนี้(18 เม.ย.) พร้อมเตือนว่า ประธานกำลังเดินไปสู่กับดักตัวเอง เป็นไม้หลักปักขี้เลน

ด้านนายสมศักดิ์ ไม่สน ยังคงยืนยันในความคิดตัวเอง และเรียกให้นับองค์ประชุมเพื่อลงมติทันที ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ เดินออกจากห้องประชุมทันที ขณะที่นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ชูกระดาษที่เขียนคำว่า “เผด็จการ” เดินไปหน้าที่นั่งนายสมศักดิ์เพื่อประท้วง

ทั้งนี้ ที่ประชุมหลังพรรคประชาธิปัตย์วอล์กเอาต์ ได้มีมติ 356 เสียง เห็นชอบวันแปรญัตติเดิมคือ 15 วัน ขณะที่ 19 เสียงเห็นตามญัตติของพรรคประชาธิปัตย์คือ 60 วัน มีผู้งดออกเสียง 33 เสียง และไม่ลงคะแนน 5 เสียง จากนั้นนายสมศักดิ์ สรุปอีกครั้งว่า การยื่นเสนอคำแปรญัตติจะครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 19 เม.ย. ก่อนสั่งปิดประชุมทันที

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ตนและนายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.ของพรรค จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่า นายสมศักดิ์จงใจกระทำผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและคณะรวม 312 คน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อตัดสิทธิประชาชน และลิดรอนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญให้นายสมศักดิ์และคณะทั้ง 312 คน ส่งคำชี้แจงต่อศาลภายใน 15 วันนั้น

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.รวม 30 คน นำโดยนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี และนายอำนวย คลังผา ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ได้อ้างเป็นตัวแทนสมาชิกรัฐสภาที่ออกเสียงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่รับวินิจฉัยคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาตามมาตรา 68 โดยชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจมาสั่งให้ฝ่ายนิติบัญญัติหยุดหรือห้ามออกกฎหมาย เพราะเป็นการแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ

ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย บอกว่า ส.ส.ของพรรคจะไม่ทำคำชี้แจงข้อกล่าวหาไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามที่กำหนด 15 วัน เพราะการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 68

ขณะที่นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ พูดถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและ ส.ว.บางส่วนออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่รับวินิจฉัยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และจะไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่า หากผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการพิจารณาต่อไป ดังนั้น หากผู้ถูกร้องไม่ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจในคำร้องดังกล่าว ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกผู้ถูกร้องมาชี้แจงด้วยวาจาในขั้นตอนการไต่สวนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตุลาการฯ

3. สภาฯ เสียงข้างมาก มีมติเลื่อน กม.นิรโทษฯ เป็นวาระด่วนลำดับแรกสมัยประชุมหน้า ด้าน 40 ส.ว.ค้าน เหตุช่วยคนหมิ่นสถาบันหลุดคดี!
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา 1 ในกลุ่ม 40 ส.ว.ค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. หลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติวันแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อ เพื่อพิจารณากระทู้ทั่วไปและกระทู้ถามสด นอกจากนี้ยังได้มีการพิจารณาญัตติที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เสนอให้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน เพื่อให้สภาบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนในการประชุมสมัยหน้า

ทั้งนี้ หลังที่ประชุมมีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ได้มีการลงมติ โดยเสียงข้างมากมีมติ 283 เสียง ต่อ 56 เสียง ให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จากเดิมที่ค้างพิจารณาในลำดับที่ 5.23 ขึ้นมาพิจารณาก่อนในลำดับที่ 1 ตามที่นายวรชัยเสนอ นั่นหมายความว่า หากมีการเปิดประชุมสภาฯ ครั้งต่อไปเมื่อใด ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรก

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา 1 ในกลุ่ม 40 ส.ว.ได้ประกาศจุดยืนคัดค้านการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของนายวรชัย เนื่องจากมีบางมาตราที่ระบุชัดเจนว่าจะนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร และยังเป็นการไม่รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

นายไพบูลย์ ยังชี้ด้วยว่า หากกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อใด จะมีปัญหาและถูกตีกลับ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย เพราะจะมีมวลชนออกมาต่อต้าน รวมทั้งกล่าวหาว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่จริงใจปกป้องสถาบัน

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็เตรียมนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติฉบับที่ตนยกร่างไว้ เสนอต่อที่ประชุมสภาทันทีที่เปิดสมัยประชุมหน้า พร้อมยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์นับหนึ่งประเทศไทย และจะเป็นผลบวกต่อบุคคลทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม มีทั้งหมด 6 มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 3 ระบุว่า การกระทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ระหว่างปี 2549 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ หากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำในฐานะตัวการ ,ผู้สนับสนุน ,ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ จะไม่เป็นความผิดอีกต่อไป

4. ปภ. สรุป 7 วันอันตราย ตายสูสีปีที่แล้ว 321 เจ็บกว่า 3 พันคน “ประจวบฯ-เชียงใหม่” ตาย-เจ็บมากสุด!

เมื่อวันที่ 18 เม.ย.พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) สำหรับยอดรวมอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตราย(11-17 เม.ย.) พบว่า เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 2,828 ครั้ง ลดลงจากช่วง 7 วันอันตรายของปีที่แล้ว จำนวน 301 ครั้ง สำหรับปีนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 321 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บมีจำนวน 3,040 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 280 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เมาแล้วขับ ตามด้วยขับรถเร็วเกินกำหนด ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ รองลงมาคือ รถปิคอัพ พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือไม่สวมหมวกนิรภัย ส่วนช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ 16.00น.–20.00น. ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน

สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดในช่วง 7 วันอันตราย คือ เชียงใหม่ จำนวน 104 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 12 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ เชียงใหม่ จำนวน 110 คน ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลยช่วง 7 วันอันตราย มี 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ตราด ปัตตานี ภูเก็ต และระนอง
กำลังโหลดความคิดเห็น