ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คงจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงนัก หากจะบอกว่า ถ้าจับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมากางเมื่อไหร่ ก็เป็นเรื่องในทันที ซึ่งล่าสุดก็เป็นคิวของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เป็นกรณีฉุกเฉิน โดยสั่งให้รัฐสภา ระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง รับวินิจฉัยคำร้องของนายสมชายหลังจากใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาวินิจฉัย กรณี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา กับพวก ซึ่งเป็น ส.ว.และ ส.ส.รวม 312 คน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่า จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ.... ต่อประธานรัฐสภา เพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่เป็นเรื่องของสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ นายสมชายยังเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคที่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน พรรคประชาธิปไตยใหม่ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเรียกว่ารอดตัวไปสำหรับพลพรรคเครือข่ายนายใหญ่แห่งดูไบ เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมาเช่นนี้ รัฐสภาจึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ไปต่อได้ ซึ่งที่สุดแล้ว มาถึงขณะนี้บรรดาเครือข่ายนายใหญ่ในสภาก็สามารถเข็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ให้ผ่านวาระแรกของสภาไปได้สมใจตามบัญชานายใหญ่เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนดูไบ แถมยังช่วยให้พรรคเพื่อไทยปลอดภัยจากอุบัติเหตุการเมืองมากกว่าการดันทุรังยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
สำหรับทั้ง 3 ร่าง หลังจากรัฐสภารับหลักการวาระ 1 จะเข้าสู่การแปรญัตติ มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 3 ชุด รวบรวมทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เบ็ดเสร็จชุดละ 45 คน เพื่อแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีการวางคนในกรรมาธิการต่าง ๆ ครบถ้วนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมกันเลยทีเดียว โดยการประชุมของทั้ง 3 คณะ แบ่งเป็นการพิจารณาแก้ไขมาตรา 190 กรณีการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศได้เลือก นายกฤช อาทิตย์แก้ว เป็นประธานกรรมาธิการ มาตรา 111 ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาใร นายสามารถ แก้วมีชัย เป็นประธานกรรมาธิการ ส่วนมาตรา 68 และมาตรา 237 เรื่องสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและการยุบพรรคมี นายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธานกรรมาธิการ
อย่างไรก็ตาม พิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญในแต่ละฉบับแล้ว ก็มิได้พ้นไปจากความกระเหี้ยนกระหือรือของนายใหญ่อีกเช่นเคย โดยจำนวน 3 ฉบับ ที่ถูกเข็นเข้าสู่วาระการประชุมของทั้ง 2 สภา ด้วยการลงชื่อของ ส.ส.และ ส.ว. กว่า 600 คน ก็ปรากฏหน้าเดิมๆ เครือข่ายของแก๊งนายใหญ่แทบทั้งสิ้น
ร่างที่ 1 "อุดมเดช รัตนเสถียร"ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าของ ร่าง ยื่นแก้ไขประเด็นที่มาของ ส.ว.
ร่างที่ 2 "ดิเรก ถึงฝั่ง" ส.ว.นนทบุรี เป็นผู้ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ตัดมาตรา 237 ในประเด็นการยุบพรรคการเมือง และยกเลิกการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ส่วนมาตรา 68 จำกัดให้การร้องเรียนในกรณีพบเห็นการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องยื่นผ่านการตรวจสอบจากอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียว
ร่างที่ 3 เป็นของ "ประสิทธิ โพธสุธน" ส.ว.สุพรรณบุรี เป็นผู้ยื่นให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
เรียกว่าแยกกันเดินรวมกันตีแบบเบ็ดเสร็จครบครันเลยทีเดียว ซึ่งการเลือกแก้รายมาตราของพลพรรคนายใหญ่ก็เพราะว่าเคยเจอตอมาแล้วเมื่อครั้งอดีต ทำให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยอมเปลี่ยนจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มาเป็นการแก้รายมาตรา เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกฝ่ายค้านเล่นเกมภายหลัง เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการยกร่างใหม่ทั้งฉบับจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อต้องผ่านการทำประชามติก่อน
อย่างไรก็ดี มาถึงขณะนี้ หมายความว่ารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์สามารถดันทุรังผ่านด่านในสภาได้ ถึงจะยังไม่ครบสามวาระก็ตามที แต่นี่ก็เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นเป้าประสงค์ของนายใหญ่แห่งดูไบได้เป็นอย่างดี
ยิ่งหากพิจารณากางกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทำให้พรรคเพื่อไทยมีทั้งทุนมีทั้งอำนาจ และสามารถตัดเสี้ยนหนามที่ขวางหูขวางตาระบอบทักษิณออกไปด้วย โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่จะลิดรอนสิทธิของประชาชนในการปกป้องรัฐธรรมนูญ
แน่นอน ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 โดยจำกัดสิทธิประชาชนที่ต้องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้ยื่นคำร้องต่ออัยการเท่านั้น ไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงเหมือนปัจจุบัน เพราะต้องบอกว่าองค์กรเช่นศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นก้างขวางคอ ขวางหูขวางตานายใหญ่และพรรคเพื่อไทยแค่ไหน
ขณะที่การทำหน้าที่ของอัยการ มาถึงวันนี้คงไม่ต้องขยายความให้มากความ ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จึงเห็นเจตนาชัดเจนว่าจงใจที่จะลิดรอนสิทธิของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้เลือกช่องทางเดียวคือการยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น
และเมื่อไหร่ก็ตามที่ทำสำเร็จ ระบอบเผด็จการโดยรัฐสภาก็จะสมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุดังกล่าวคงไม่เกินเลยไปนักที่จะใช้คำว่า หวานคอแร้งตระกูลชิน เสียนี่กะไร
ส่วนที่มาของส.ว. วางแนวให้คณะกรรมการสรรหาที่มาจากฝ่ายตุลาการมีอำนาจเพียงสรรหาบุคคลและให้วุฒิสภาคัดเลือก ไม่ใช่ให้อำนาจวุฒิสภาแค่การให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอเท่านั้น พร้อมกับตัดสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาจากฝ่ายตุลาการ นายใหญ่จึงต้องวางยุทธศาสตร์ใหม่ โดยให้มี สว.จากการเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่กลั่นกรององค์กรอิสระแทน สว.ระบบลูกผสมในปัจจุบัน เพื่อที่รัฐบาลจะได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จควบคุมบงการได้ทั้งสองสภาเพราะส่วนหนึ่งย่อมมั่นใจในการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าอย่างไรเสียคนเสื้อแดงที่สั่งซ้ายหันขวาหันได้ก็จะพร้อมเลือกคนที่นายใหญ่หรือส.ส.เพื่อไทยเป่าหูแบบไม่มีระบบกลั่นกรองอยู่แล้ว
ขณะที่มาตรา 190 เป็นที่ชัดเจนว่ามาตราดังกล่าวถือเป็นการตัดสิทธิประชาชนและตัดสิทธิ ส.ส. ในการตรวจสอบการทำสัญญากับต่างประเทศ ซึ่งอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างนายใหญ่คนเสื้อแดงกับประเทศต่างๆ
ขณะเดียวกัน หากจับสัญญาณแนวรบอีกด้านของ นช.ทักษิณก็จะพบว่า แก๊งเสื้อแดงเตรียมปฏิบัติการก่อหวอดสำแดงพลังและความห้าวเป้งในรอบนี้กันอย่างยกใหญ่ทีเดียว นั่นแสดงให้เห็นว่ารอบนี้นายใหญ่หมายมั่นปั้นมือมิใช่น้อย
ด้าน สหายปูน-ธิดา ถาวรเศรษฐ สุดที่รักของหมอเหวง ในฐานะประธาน นปช. ประกาศกร้าวว่า เครือข่ายระบอบอำมาตย์ในประเทศไม่อนุญาตให้แก้รัฐธรรมนูญ 50 และขณะนี้ก็เบ่งงานกันทำ โดยให้นายสมชาย แสวงการไปยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อตุลาการศาลรธน. แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร นปช.เรียกร้องไปยังรัฐสภาว่า ให้เดินหน้าโหวตแก้ไข รธน.วาระ 3 ไปเลย เพราะถึงอย่างไรก็ถูกเครือข่ายอำมาตย์เล่นงาน และขอให้คนเสื้อแดงเตรียมตัวไว้ให้ดี สัญญาณต่างๆ ที่ออกมาแรง และนี่คือยกที่หนึ่งเท่านั้น
“วันที่ 10 เม.ย.ซึ่ง นปช.จะมีการจัดงานรำลึก 3 ปี เหตุสลายการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงขอให้คนเสื้อแดงมากันให้มาก เพราะความเข้มแข็งของคนเสื้อแดงเท่านั้น จะเป็นป้อมปราการสำคัญที่จะให้ระบอบประชาธิปไตยอยู่ได้อย่างยั่งยืนในประเทศนี้”
ขณะที่ นายสมหวัง อักษราสี กล่าวว่า คดีความหลังจากนี้ถ้าไม่มีความเป็นธรรมและไม่เป็นกลางคนเสื้อแดงจะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว คนเสื้อแดงทั้งประเทศเตรียมตัวให้ดี พวกองค์กรอำมาตย์กำลังเริ่มทำงาน แล้วเราจะเป่านกหวีดพร้อมกัน
เรียกว่าตั้งธงรบอย่างเป็นทางการชนิดไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แรงปรารถนาของนายใหญ่ก็ใช่ว่าทำได้อย่างสะดวกโยธิน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่นำโดย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งตั้งทัพเตรียมเคลื่อนขบวนเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยออกแถลงการณ์ คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอ เนื่องเพราะเล็งเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและรัฐสภาในครั้งนี้จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงมากกว่าที่จะเกิดผลดี
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า การชุมนุมทุกครั้งของพันธมิตรฯ ต้องมีสถานการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น และพร้อมเรียกประชุมแกนนำเพื่อตัดสินใจได้ทันที ซึ่งกรณีนี้ไม่ต้องเป็นห่วง ทุกอย่างต้องประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ
ขณะเดียวกัน หากจับสัญญาณ นช.ทักษิณ ก็จะเห็นได้ว่าเอาจริงกับการแก้ไขรอบนี้ไม่น้อยเช่นกัน เป้าหมายปลายทางที่พรรคเพื่อไทยต้องการยังคงเหมือนเดิมไม่ เปลี่ยนแปลงคือล้มรัฐธรรมนูญฉบับ2550 พุ่งเป้าล้ม-รื้อ-จัดระเบียบ องค์กรอิสระ และโครงสร้างตุลาการภิวัตน์ ซึ่งถือเป็นก้างขวางคอนายใหญ่แห่งดูไบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
กระนั้นก็ดี วาระแรกที่ผ่านสภามาได้นี้จึงเป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้นของความ วุ่นวายที่จะตามมา โปรดติดตามกันต่อไปด้วยใจระทึก