xs
xsm
sm
md
lg

รับลูกชำเรา“รธน.”รอบใหม่ ปมยุบพรรค ที่มาส.ว. หนังสือสัญญาตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(18 มี.ค.56) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยภายหลังการประชุมประจำสัปดาห์ว่า ที่ประชุมได้มีการนำข้อหารือของคณะ ส.ว.จำนวน 50-60 คน นำโดย นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และ การศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นควรให้มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา อาทิ มาตรา 68 และมาตรา 237 ในส่วนของการยุบพรรคการเมืองและการตัดสิทธิ์ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมไปถึงมาตรา 190 ที่เกี่ยวข้องกับการทำข้อตกลงกับต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังมีการเสนอแก้ไขบางมาตราเพื่อให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งสามารถที่จะมีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกครั้งหลังจากครบวาระ 6 ปี เนื่องจากเห็นว่าได้มาทำหน้าที่ ส.ว.จากการเลือกตั้งของประชาชน มิใช่มาจากการสรรหา จึงควรได้รับโอกาสในการลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะเสนอแยกเป็นรายมาตรา เพราะที่ผ่านมามีข้อกังวลในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อีกทั้งหากมาตราใดไม่มีปัญหาก็สามารถดำเนินการแก้ไขได้ก่อน ส่วนมาตราใดมีผู้คัดค้านก็แก้ไขเป็นประเด็นๆไป เรื่องนี้ทางวิปพรรคร่วมรัฐบาลจะดูรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในเร็วๆนี้ โดยคาดว่าภายในสมัยประชุมนี้จะสามารถบรรจุเพื่อให้มีการรับหลักการในวาระที่ 1 ได้ ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามในส่วนของการแก้ไขมาตรา 291 ที่ยังค้างอยู่ในวาระการประชุมก็ให้คงอยู่เช่นนั้นไปก่อน เพราะข้อกฎหมายไม่ได้มีข้อห้ามในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่น
อีกด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สว. นนทบุรี ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการสมานฉัทน์ เพื่อปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ สว.อุดรธานี นายโสภณ ศรีมาเหล็ก สว.น่าน และนายยุทธนา ยุพฤทธิ์ สว.ยโสธร ร่วมกันแถลงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.มาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรค 2. มาตรา 190 เกี่ยวกับกรอบการเจรจาระหว่างประเทศที่ต้องเสนอต่อรัฐสภา และ 3. มาตรา 117 เพื่อให้แก้ไขที่มาและวาระการดำรงตำแหน่งของสว.โดยเตรียมยื่นร่างแก้ไขเสนอต่อรัฐสภาในวันที่ 20 มี.ค.นี้
นายดิเรก กล่าวว่า ขณะนี้มีสว.สรรหาและสว.เลือกตั้งร่วมลงชื่อประมาณ 60 คน เห็นควรว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ใน 3ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1.แก้ไขมาตรา 237 และ มาตรา 68 เรื่องการยุบพรรค เพราะเห็นว่าการลงโทษผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควร และต้องการให้ระบุชัดไปเลยว่าการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 68 ให้อัยการมีอำนาจในการรับเรื่องร้องเรียน โดยไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงอย่างที่ผ่านมา
ข้อ 2. แก้ไขมาตรา 190 เพราะที่ผ่านมาทำให้ต้องนำเรื่องที่สมควรเป็นความลับต้องมานำมาเปิดเผยต่อรัฐสภา จนทำให้เสียเปรียบในการชิงไหวชิงพริบกับประเทศอื่นๆ จึงเห็นว่าจะต้องมีการแก้ไขมาตรานี้ให้ชัดเจน และ 3.แก้ไขมาตรา 117 เรื่องที่มาของสว.จากการเลือกตั้ง ซึ่งจะแก้ไขให้สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คนโดยอาศัยสัดส่วนตามประชากรว่าจังหวัดใดควรมีสว.กี่ราย เช่น สว.1คนต่อประชากร 3 แสนคน ส่วนสว.สรรหาที่เหลือวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ก็ให้อยู่จนครบวาระ เมื่อครบวาระแล้วก็ให้สภาพส.ว.สรรหา หมดสิ้นไป
นายดิเรก กล่าวา การดำเนินการครั้งนี้ เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างสส.และส.ว. โดยอาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ระบุว่ามีจำนวนสมาชอกสภาผู้แทนราษฎรและสว.มีจำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของทั้ง 2 สภาฯ คือ 126 คน ที่สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้
เมื่อถามว่าเรื่องนี้เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์กับสว. หรือไม่ นายดิเรก กล่าวว่า ไม่ใช่แน่นอน เพราะคณะกรรมการสมานฉันท์ฯที่ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยเสนอให้มีการแก้ไขมาแล้ว จึงไม่ได้เป็นการปิดบัง ซ่อนเร้น อำพราง และไม่เกี่ยวกับการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สไกป์มายังที่ประชุมพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ระบุให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา
ที่รัฐสภา นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงกรณี ที่นายวสันตร์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ว่า เป็นเพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยคดีโดยวางอยู่บนพื้นฐานนิติรัฐ นิติธรรม แต่เป็นการใช้ทัศนะทางการเมืองของตนเอง มากกว่า เพราะนายวสันต์ก็ได้บอกว่า บ้านเมืองอยู่ในความวุ่นวาย กลุ่ม นปช. ไปปิดล้อมบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่บ้านสี่เสาเทเวศน์ เมื่อ 1 ก.ค. 50 แต่ข้อเท็จจริงคือ ตอนนั้นยังเป็นกลุ่ม นปก. ไม่ใช่ นปช. อีกทั้งยังไม่ใช่การปิดล้อม แต่เป็นการไปขอคำชี้แจงว่า พล.อ.เปรม อยู่เบื้องหลัการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 ใช่หรือไม่ และการตัดสินยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 51ห่างจากเหตุการณ์ดังกล่าว 1 ปี 4 เดือน
เหตุผลดังกล่าวจึงเป็นเพียงการจับแพะชนแกะ แต่ความวุ่นวายทางการเมืองที่ใกล้กับวันตัดสินคดี คือการที่กลุ่ม พันธมิตรฯยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ที่เคยมีข้อกล่าวหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญรีบทำการวินิจฉัย เพื่อหาทางลงให้กับกลุ่มพันธมิตรฯ นั้นมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ส่วนการย้ายสถานที่อ่านคำวินิจฉัยก็สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่การแจ้งกระทันหัน และไม่ให้โอกาสทำคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง คำตัดสินดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง บ้านเมืองไม่ได้สงบอย่างที่กล่าวอ้าง เพราะหลังจากยุบพรรคพลังประชาชน กลุ่มส.ส.งูเห่าได้ย้ายไปร่วมกับเผด็จการจัดตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้น นำมาซึ่งการชุมนุมขนาดใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยุบสภา จนกระทั่งเกิดสลายการชุมนุมสังหารประชาชน 99 ศพ เมื่อ เม.ย. – พ.ค. 53
นอกจากนี้ นายวสันต์ ก็ได้ยอมรับแล้วว่าการวินิจฉัยถอด นายสมัคร สุนทรเวช ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้นผิดพลาดด้วยการนำข้อกฎหมายมาวางก่อน แล้วค่อยนำข้อเท็จจริงมาใส่ ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการดังกนี้ 1.กล่าวขอโทษ ยอมรับความผิดพลาดต่อประชาชน และสมาชิกพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย 2.คืนเกียรติยศให้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี 3.พิจารณาลาออกทั้งคณะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณธรรม จริยธรรมของตนเองว่าจะทำอย่างไร.
กำลังโหลดความคิดเห็น