xs
xsm
sm
md
lg

“ดิเรก” นำทีม ส.ว.แจง จับมือ ส.ส.แก้ รธน.รายมาตรา ปัดโยง “แม้ว” สไกป์สั่งลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว. นนทบุรี(แฟ้มภาพ)
ส.ว.นนท์ พร้อม ส.ว.สายเลือกตั้งแถลงเดินตาม คกก.สมานฉันท์ฯ ที่ชี้ประเด็นแก้ รธน. อ้างเสียง ส.ว.ร่วม ส.ส. 1 ใน 5 สภาเข้าชื่อ ปัดทำเพื่อตัวเอง ไม่ฮั้ว รบ. “นช.แม้ว” ไม่เกี่ยว


วันนี้ (18 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการสมานฉัทน์ เพื่อปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ ส.ว.อุดรธานี นายโสภณ ศรีมาเหล็ก ส.ว.น่าน และนายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร ร่วมกันแถลงว่า ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้เคยศึกษาในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขณะนี้ทั้งทางรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลได้เห็นควรตามแนวทางที่ตนได้เคยเสนอไว้แล้ว ซึ่งตนและ ส.ว.เลือกตั้งและ ส.ว.สรรหา ซึ่งขณะนี้ร่วมลงชื่อประมาณ 60 คน เห็นควรว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ใน 3 ประเด็น และจะยื่นร่างแก้ไข เป็น 3 ร่าง ร่างละ 1 มาตรา ในเบื้องต้น คือ 1. แก้ไขมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค ซึ่งตนเห็นว่าการลงโทษผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งฝ่ายค้านก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ จึงเสนอให้แก้มาตรานี้เป็นประเด็นแรก โดยจะแก้มาตรา 68 ร่วมด้วย คือ ให้ระบุชัดไปเลยว่าการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 68 ให้อัยการมีอำนาจในการรับเรื่องร้องเรียน โดยไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงอย่างที่ผ่านมา

นายดิเรกกล่าวว่า ข้อ 2 แก้ไขมาตรา 190 ซึ่งในประเด็นนี้ก็ต้องยอมรับว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องมีปัญหา เพราะไม่ว่าจะดำเนินการเรื่องใดๆก็ต้องเอาเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งทำให้เรื่องที่เป็นความลับถูกเปิดเผยจนทำให้เสียเปรียบในการชิงไหวชิงพริบกับประเทศอื่นๆ จึงเห็นว่าจะต้องมีการแก้ไขมาตรานี้ให้ชัดเจน โดยการเอาแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับใช้ 3. แก้ไขมาตรา 117 เรื่องที่มาของ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง เรื่องนี้พรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นด้วยว่าควรมีการแก้ไข ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เพราะ ส.ส.ไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง แต่ ส.ว.มีวาระที่สายเลือกตั้งที่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 สมัย ส่วนสรรหามีวาระ 6 ปี ซึ่งจะขอแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน ส่วน ส.ว.สรรหาที่เหลือวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปีก็ให้อยู่จนครบวาระ เมื่อครบวาระแล้วก็ให้สภาพ ส.ว.สรรหาหมดสิ้นไป คงเหลือแค่ ส.ว.เลือกตั้ง 200 คน โดยจะอาศัยสัดส่วนประชากรแต่ละจังหวัด เพื่อกำหนดสัดส่วนว่าแต่ละจังหวัดจะมี ส.ว.ได้กี่คน โดยยึดตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ประชากร 3 แสนคนต่อ ส.ว.1 คน

โดยในวันที่ 20 มีนาคม เวลา 12.00 น.จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุในวาระต่อไป ซึ่งการบรรจุระเบียบวาระขึ้นอยู่กับประธานสภาฯ ส่วนจะมีการเลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่อยู่ที่วิปทั้ง 3 ฝ่าย

นายดิเรกกล่าวต่อว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง ส.ส.และส.ว. โดยอาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ระบุว่ามีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและส.ว.มีจำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของทั้ง 2 สภา ซึ่งก็คือ 126 คน ที่สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ เมื่อถามว่าเรื่องนี้เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์กับ ส.ว.หรือไม่ นายดิเรกกล่าวว่า ไม่ใช่แน่นอน คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ประกอบไปด้วยทุกภาคส่วน ทั้งพรรครัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และ ส.ว.เห็นควรว่าควรมีการแก้ไข ยันไม่มีการฮั้วกันกับพรรครัฐบาล เพราะเมื่อครั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะก็เคยเสนอให้มีการแก้ไขมาแล้ว จึงเป็นการกระทำอย่างเปิดเผย ไม่ได้ปิดบัง ซ่อนเร้น อำพราง รวมทั้งการเดินหน้าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สไกป์มายังที่ประชุมพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ระบุให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา


กำลังโหลดความคิดเห็น