xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.รบ.-ส.ว.เลือกตั้ง ใช้แผนยื่นสลับมาตราที่ต้องการ แก้ รธน. “ดิเรก” ลั่นไม่ผ่านเลิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.ส.พรรคร่วม รบ.พร้อมด้วย ส.ว.เลือกตั้ง ยื่น 3 ร่างแก้ รธน. ปธ.สภาฯ พร้อมบรรจุสภาให้ตัดสินกันเอง ไม่เกี่ยวโหวตวาระ 3 ชี้แก้ ม.68 ตัดสิทธิ ปชช.ลดอำนาจศาลอยู่ที่มุมมอง ส.ว.นนท์แจงสลับความต้องการ ส.ส.-ส.ว. กันถูกตีความทำเพื่อตัวเอง ชี้รอบนี้ไม่ผ่านคงไม่แก้อีก “ไพจิต” ยันไม่ยุ่งวาระ 3



วันนี้ (20 มี.ค.) ที่บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 คณะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เช่น นายอำนวย คลังผา ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานพรรคร่วมรัฐบาล วิปรัฐบาล นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาวิปรัฐบาล นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทองพรรคชาติไทยพัฒนา นายพลพีร์ สุวรรณฉวี ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อแผ่นดิน นายพันธฺศักดิ์ เกตุวัตถา ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชาชน นายอภิรัต ศิรินาวิน ส.ว.บัญชีรายชื่อพรรคมหาชน ขณะที่คณะ ส.ว.เลือกตั้ง นำโดยนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ส.นนทบุรี นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี เป็นต้น ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตามช่องรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นการแยกกันยื่นจำนวน 3 ร่าง โดยนายอุดมเดชได้ยื่นแก้ไขเรื่องที่มาของ ส.ว. ให้มี ส.ส.เลือกตั้งจำนวน 200 คน และให้ ส.ว.เลือกตั้งสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งได้ติดต่อกัน โดยไม่ต้องเว้นวรรค และให้ตัด ส.ว.สรรหาทิ้ง แต่ไม่กระทบกับ ส.ว.สรรหาที่ดำรงตำแหน่งอย่างในปัจจุบัน แต่เมื่อครบวาระจะไม่มีการสรรหาใหม่แล้ว

ขณะที่นายดิเรกได้ยื่นร่างแก้ไขมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง และมาตรา 68 เกี่ยวกับการร้องศาลรัฐธรรมนูญจะยื่นโดยตรงไม่ได้ จะต้องยื่นให้อัยการสูงสุดพิจารณาเท่านั้น พร้อมทั้งให้ยกเลิกการตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปีและห้ามยุบพรรคการเมือง ขณะที่นายประสิทธิ์ยื่นแก้ไขมาตรา 190 เรื่องการให้รัฐสภารับรองการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

นายสมศักดิ์กล่าวว่า หลังจากตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ตามข้อบังคับการประชุมจะต้องบรรจุการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาภายใน 7 วัน จากนั้นเป็นเรื่องของสมาชิกจะเลื่อนมาพิจารณาก่อนหรือไม่ และตนก็ได้ทำตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างดังกล่าวนี้จะพิจารณาร่วมกันทั้ง 3 ร่างและตั้ง กมธ.ขึ้นมา 3 ชุด ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเก่าที่ยังคงอยู่ในสภาฯ ที่กำลังรอโหวตวาระ 3

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนกรณีการแก้มาตรา 68 ที่มองว่าอาจเป็นการตัดสิทธิ์ประชาชนในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และลดทอนอำนาจของศาล ตนคิดว่าเป็นการมองต่างมุม ทุกคนมีสิทธิ์มองต่างมุมอย่างคิดอะไรบ้าง ส่วนที่จะมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่นั้น ตนมองว่าเป็นการแก้ไม่มาก คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร เท่าที่ดูเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งสมาชิกพิจารณาแล้วคิดว่าเหมาะสม อีกทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ทุกเวลา

นายดิเรกกล่าวว่า คาดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้น่าจะเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนกรณีที่ ส.ว.ยื่นในสิ่งที่ ส.ส.ต้องการ เช่น มาตรา 68 และมาตรา 237 ขณะที่ ส.ส. แก้ไขในเรื่องที่มาของ ส.ว. เพราะหาก ส.ว.เป็นแกนนำยื่นเองกังวลว่าจะถูกตีความเรื่องผลประโยชน์ขัดกันได้ อย่างไรก็ตาม รูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราที่จะเสนอแก้ไขอยู่นี้ คิดว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องแล้ว หากวิธีการนี้แก้ไขไม่สำเร็จก็ไม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกแล้ว

ด้านนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทยในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวถึงการแก้ไขมาตรา 68 หากแก้ไขได้สำเร็จและมีผลบังคับใช้ทำให้โอกาสในการพิจารณาการแก้ไขมาตรา 291 ที่อยู่ระหว่างรอโหวตวาระ 3 ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาสามารถที่ดำเนินการได้โดยชอบธรรม แต่การดำเนินการดังกล่าวอยู่ที่สมาชิกรัฐสภาจะเห็นอย่างไรอย่างไรก็ตาม ขณะนี้การโหวตวาระ 3 จะแขวนไว้อยู่จะไม่มีการหยิบยกขึ้นและจะดองต่อไปเรื่อยๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเข้าชื่อสมาชิกเพื่อเสนอร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 3 ร่าง จากการตรวจสอบพบว่า ร่างที่นายอุดมเดชยื่นแก้ไขที่มาของ ส.ว. มีผู้เข้าชื่อทั้งสิ้นจำนวน 303 คน แยกเป็น ส.ส.เข้าชื่อ 248 คน และ ส.ว.จำนวน 55 คน ขณะที่ร่างของนายดิเรก ยื่นให้แก้ไขมาตรา 237 และมาตรา 68 มีผู้เข้าชื่อทั้งสิ้นจำนวน 308 คนแยกเป็น ส.ส.เข้าชื่อ 248 มี ส.ว.60 คน ขณะที่ร่างของนายประสิทธิ์ มาตรา 190 มีผู้เข้าชื่อ 310 คนแยกเป็น ส.ส.เข้าชื่อจำนวน 248 คน มี ส.ว. 62 คน





กำลังโหลดความคิดเห็น