ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รับลูกกันอย่างรวดเร็วทันใจ หลังจากที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร สั่งงานผ่านระบบสไกป์เข้ามายังที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ในเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการเดินหน้าให้สภาลงมติวาระ 3 จะมีปัญหา ก็ให้ ส.ส.และส.ว.เสนอร่างแก้ไขเป็นรายมาตราไปก่อน
และสไกป์ย้ำอีกครั้งในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยในวันที่ 19 มีนาคมว่า อยากให้แก้รายมาตรา เพราะถ้าเดินหน้าแก้ทั้งฉบับจะมีปัญหาถูกยื่นตีความทำให้รัฐบาลล้มได้ แต่ถ้าแก้ไขเป็นรายมาตราก็ไม่มีปัญหาอะไร สามารถทยอยแก้ไขได้ ถ้าไม่แก้เป็นรายมาตราก็คงแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้
วันรุ่งขึ้น 20 มีนาคม กลุ่ม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล นำโดย นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการบริหารงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิป นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ส.ว.เลือกตั้ง นำโดยนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ส.นนทบุรี นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี เป็นต้น ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตามช่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งหมด 3 ร่าง
แยกเป็นร่างที่นายอุดมเดชยื่น เสนอแก้ไขประเด็นที่มาของ ส.ว. ประกอบด้วยมาตรา 111, 112, 113, 114, 115, 117, 118 และมาตรา 120 มีผู้เข้าชื่อทั้งสิ้นจำนวน 303 คน แยกเป็น ส.ส.เข้าชื่อ 248 คน และ ส.ว.จำนวน 55 คน
ร่างแก้ไขฉบับนี้ จะให้วุฒิสภามี ส.ว.เลือกตั้งจำนวน 200 คน และให้ ส.ว.เลือกตั้งสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งได้ติดต่อกันหลังจากครบวาระ โดยไม่ต้องเว้นวรรคเหมือนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน และให้ตัด ส.ว.สรรหาทิ้ง แต่ไม่กระทบกับ ส.ว.สรรหาที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน แต่เมื่อครบวาระจะไม่มีการสรรหาใหม่อีกแล้ว
ขณะที่นายดิเรก ถึงฝั่ง ได้ยื่นร่างแก้ไขมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมืองที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และมาตรา 68 เกี่ยวกับการให้ประชาชนยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ มีผู้เข้าชื่อทั้งสิ้นจำนวน 308 คนแยกเป็น ส.ส.เข้าชื่อ 248 คน มี ส.ว.60 คน
ร่างฉบับนี้ จะแก้ไขมาตรา 68 ให้ประชาชนยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความกฎหมายโดยตรงไม่ได้ ต้องยื่นให้อัยการสูงสุดพิจารณาก่อนเท่านั้น ส่วนมาตรา 237 จะแก้ไขให้ยกเลิกการตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และห้ามยุบพรรคการเมือง กรณีที่กรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ส่วนนายประสิทธิ์ โพธสุธน ยื่นแก้ไขมาตรา 190 เรื่องการให้รัฐสภารับรองการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ มีผู้เข้าชื่อ 310 คนแยกเป็น ส.ส.เข้าชื่อจำนวน 248 คน มี ส.ว. 62 คน ร่างฉบับนี้จะแก้ไขมาตรา 190 ให้การลงนามหนังสือหรือสัญญากับต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศ ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกต่อไป
เห็นชัดเจนว่า การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทั้ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.เลือกตั้งกลุ่มของนายดิเรก-นายประสิทธิ์ ได้แบ่งงานกันทำและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันและกัน โดยฝ่าย ส.ส.ก็แก้ไขประเด็นที่มาของ ส.ว.เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ ส.ว.เลือกตั้งให้สามารถลงเลือกตั้งติดต่อกันได้หลายๆ สมัยโดยไม่ต้องเว้นวรรค ขณะเดียวกันการยกเลิก ส.ว.สรรหา ก็ทำให้รัฐบาลก็ได้ขจัดเสี้ยนหนามที่มาจากกลุ่ม ส.ว.สรรหา และเปลี่ยนวุฒิสภาให้กลับสภาพเป็น “สภาผัวเมีย”เหมือนยุค นช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นายกฯ ได้อีกด้วย
ขณะที่ฝ่าย ส.ว.ก็แก้ไขมาตรา 237 เพื่อยกเลิกการลงโทษยุบพรรคการเมืองและการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เปิดทางให้ผู้สมัคร ส.ส.ได้ซื้อเสียงกันตามใจชอบ เป็นการแลกเปลี่ยน
นายดิเรกเองก็ยอมรับว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่าง ส.ส.กับ ส.ว.ครั้งนี้ ก็เพราะว่า หาก ส.ส.หรือ ส.ว.เป็นแกนนำยื่นเรื่องของตัวเอง ก็กังวลว่าจะถูกตีความเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้
แต่กระนั้นก็ตาม นายดิเรกก็ยังเชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้ง 3 ร่าง จะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้
น่าจะมาจากความมั่นใจที่รัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภา และเมื่อรวมกับเสียงจาก ส.ว.ส่วนหนึ่งก็น่าจะผ่านฉลุย
ขณะเดียวกันขบวนการตีปี๊บสร้างความชอบธรรมให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้ ก็เริ่มเดินหน้าขานรับกันเป็นพรวน ตั้งแต่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ไม่เว้น แม้แต่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา
ด้วยข้ออ้างเดิมๆ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีที่มาไม่ชอบธรรม เพราะมาจากการรัฐประหาร 2549 เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้นักการเมืองอ่อนแอ และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล
ขณะเดียวกัน แม้จะมั่นใจในจำนวน ส.ส.และ ส.ว.ที่สามารถคุมเสียงได้ ก็ไม่วายเล่นเล่ห์เพทุบาย หลอกให้ ส.ว.บางคนมาเซ็นชื่อเสนอร่างฯ
จนต่อมา ส.ว. 6 คน ประกอบด้วย นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ และนายจารุพงศ์ จีนาพันธ์ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์, นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ ส.ว.สรรหา และ พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ ส.ว.หนองคาย ได้ขอถอนชื่อจากการเป็นผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่นายดิเรกเป็นผู้ยื่น เนื่องจากพบว่ามีการสอดไส้การแก้ไขมาตรา 68 เข้าไปในภายหลัง
นายนิรันดร์ ระบุว่า ตนไม่เห็นด้วยในการแก้ไขมาตรา 68 ให้ประชาชนยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุดช่องทางเดียว เนื่องจากอัยการสูงสุดมีแค่คนเดียวต้องกลั่นกรองเรื่องที่มีจำนวนมาก ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 9 คน ดังนั้นจึงเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวดีอยู่แล้ว
ดูจากเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง ถึงแม้จะไม่ใช่การแก้ไขทั้งฉบับ แต่เจตจำนงค์ของการแก้ไขก็เหมือนเดิม คือการลดอำนาจขององค์กรอิสระที่จะตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ลดอำนาจการตรวจสอบจากภาคประชาชน เพิ่มอำนาจนักการเมืองทุนสามานย์ให้เข้ามาใช้อำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการแก้ไขรายมาตราเพื่อเปิดทางให้สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับขึ้นมาใช้แทนฉบับเดิม ซึ่งจะมีผลในการลบล้างความผิดและคืนทรัพย์สินแก่ นช.ทักษิณอีกด้วย
นั่นคือ หากแก้ไขมาตรา 68 สำเร็จ และมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากต้องค้างอยู่ในวาระ 3 เพราะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า หากจะยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ขึ้นมาใช้แทนฉบับเดิมจะต้องถามความเห็นประชาชนก่อน ซึ่งคำวินิจฉัยนี้มีที่มาจากการยื่นร้องของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ตามมาตรา 68
นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทยในฐานะวิปรัฐบาลก็ยอมรับว่า หากแก้ไขมาตรา 68 ได้สำเร็จและมีผลบังคับใช้ โอกาสในการโหวตวาระ 3 ก็สามารถดำเนินการได้โดยชอบธรรม แต่ขณะนี้ยังแขวนไว้อยู่
มองจากจุดนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร และบริวาร ยังคงจุดมุ่งหมายเดิมที่จะแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศเพื่อเปิดทางให้นักการเมืองทุนสามานย์เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องอยู่นั่นเอง