xs
xsm
sm
md
lg

ผลประโยชน์ลงตัว “ทักษิณ-ส.ว.” ชำเรา “รัฐธรรมนูญ”เพื่อตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

ทักษิณ ชินวัตร
เป็นไปตามใบสั่งจากแดนไกล ที่พรรคเพื่อไทยหัน 360 องศา เปลี่ยนกรรมวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีหลังการประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทยเมื่อ 11 มีนาคม 2556 ทักษิณ ชินวัตร สไกป์ไปยังห้องประชุมส.ส.เพื่อไทยว่า ให้ส.ส.ของเพื่อไทยเปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550

จากที่จะแก้ทั้งฉบับด้วยการยกร่างใหม่ขึ้นมา แต่ยังยึกยักเดินไปไม่ได้ เพราะติดขัดเรื่องการทำประชามติที่ยังไม่คืบหน้าเรื่องค้างเติ่งมาหลายเดือน ให้ไปใช้วิธีแก้ไขรายมาตราโดยให้ส.ส.ของพรรคเตรียมร่วมมือกับสมาชิกวุฒิสภาเดินหน้าเรื่องนี้ก่อนจะปิดสภาฯ

ทักษิณ สั่งการได้ไม่กี่วันประมาณหนึ่งสัปดาห์ ที่ประชุมวิปรัฐบาลเมื่อ 18 มีนาคมที่ผ่านมาก็เห็นชอบในการให้ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลประสานกับส.ว.สายใกล้ชิดรัฐบาลที่มีแกนนำคือดิเรก ถึงฝั่งส.ว.นนทบุรี เร่งเสนอวาระแก้ไขรธน.รายมาตราเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแบบเร่งด่วน

จนนำไปสู่การยื่นญัตติแก้ไขรธน.รายมาตราแบบฉับไวต่อสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา อันมีคณะสมาชิกรัฐสภา ยื่นแก้ไขรธน.แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามแผนที่ตระเตรียมการไว้ ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับส.ว.ทั้งสายเลือกตั้งและสรรหาที่ใกล้ชิดพรรคร่วมรัฐบาล

คือกลุ่มแรกเป็นร่างแก้ไขรธน.รายมาตราที่เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทยนำโดย อุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี และอดีตประธานวิปรัฐบาลที่ยื่นแก้ไขเรื่องที่มาของ ส.ว. ได้แก่ มาตรา 111, 112, 113, 114, 115, 117, 118 และมาตรา 120 คือแก้เพื่อ
โละทิ้งส.ว.สรรหายกแผง

แล้วกลับไปใช้ระบบเดิมแบบรธน.ปี 40 คือให้มี ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมดจำนวน 200 คนอย่างเดียว ไม่ให้มีส.ว.สรรหา และให้ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระอีกไม่นานจากนี้ สามารถกลับไปลงรับสมัครเลือกตั้งได้ จากที่ปัจจุบันรธน.ปี 50 ให้สว.เลือกตั้งชุดนี้เมื่อพ้นวาระแล้วไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก ต้องเว้นวรรคหนึ่งสมัย แต่ไม่กระทบกับ ส.ว.สรรหาที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันคือถึงแก้ไขรธน.เสร็จมีการบังคับใช้แล้ว แต่ ส.ว.สรรหาชุดปัจจุบันก็ยังอยู่ต่อไปได้จนครบวาระ

ส่วนร่างที่ 2 เป็นร่างแก้ไขรธน.รายมาตราที่มีแกนนำคือดิเรก ถึงฝั่งที่ยื่นร่างแก้ไขมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง และการตัดสิทธิการเมือง 5ปีกรรมการบริหารพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค และมาตรา 68 เกี่ยวกับสิทธิในการยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่ามีการกระทำที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง ผู้ร้องจะยื่นโดยตรงต่อศาลรธน.ไม่ได้ ต้องยื่นให้อัยการสูงสุดพิจารณาเท่านั้น

และร่างที่ 3 เป็นร่างที่ยื่นโดยประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรีที่ยื่นแก้ไขมาตรา 190 เรื่องการให้รัฐสภารับรองการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ฝ่ายบริหารไปตกลงกับประเทศต่างๆ ก็พบว่าตามร่างแก้ไขรธน.ที่ยื่นไปมีการเปลี่ยนเป็นว่าการการลงนามหนังสือหรือสัญญา มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศ ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกต่อไป

สรุปรวมก็คือ มีการยื่นร่างแก้ไขรธน.ออกเป็น 3 คณะ แต่เห็นได้ชัดว่า การดำเนินการทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกันระหว่างพรรคเพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.ที่ต้องการจะเสพอำนาจต่อไปอีก ที่มีการจับมือกันแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

ดูได้จากเรื่องการแก้ไขรธน.เรื่องให้ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก ก็พบว่าตัวตั้งตัวตีของเรื่องนี้ คือฝั่งส.ส.รัฐบาลที่ออกหน้าทำแทนให้พวกส.ว.เลือกตั้งสายรัฐบาล เพราะพวกนี้รู้ดีว่า หากให้ส.ว.เป็นเจ้าภาพ มันต้องมีข้อครหาทางการเมืองว่าแก้ไขรธน.เพื่อต่ออายุตัวเองจะได้ลงสมัครเป็นส.ว.ได้อีก

ที่สำคัญสุ่มเสี่ยงจะโดนยื่นตีความไปที่ศาลรธน.ว่าเป็นการแก้ไขรธน.ที่ผู้ยื่นร่างแก้ไขรธน.คือพวกส.ว.ได้ประโยชน์ ที่อาจจะขัดรธน.มาตรา 122 ว่าด้วยการทำหน้าที่ที่ต้องปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทางส.ส.รัฐบาลเลยรับหน้าที่เป็นคนยื่นร่างแก้ไขรธน.มาตราดังกล่าวให้เสียเอง

แล้วก็ให้พวกส.ว.เป็นฝ่ายยื่นร่างแก้ไขรธน.มาตราที่พวกพรรคร่วมรัฐบาลอยากให้แก้ไข อย่างเช่นมาตรา 190 -มาตรา 68

สำหรับมาตรา 68 หากจำกันได้ ถือเป็นเป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทยกันเลยทีเดียวที่ต้องการแก้ไขเพื่อจำกัดอำนาจของ

”ศาลรัฐธรรมนูญ”

ไม่ให้มารับเรื่องตีความในคำร้องประเภทว่า มีการกล่าวหาว่ามีการล้มล้างการปกครอง หลังจากที่แผนชำเรารัฐธรรมนูญทั้งฉบับของเพื่อไทยต้องสะดุดลงมาร่วมปี ก็เพราะศาลรธน.ไปใช้อำนาจมาตรา 68 พิจารณาคำร้องคดีแก้ไขรธน.มาตรา 291 ของพรรคร่วมรัฐบาลเองโดยไม่ได้ถูกส่งมาจากอัยการสูงสุด

ทำให้เพื่อไทย ต้องการแก้ไขมาตรา 68 เพราะเกรงว่าจะเกิดกรณีแบบที่ศาลรธน.ไปรับคำร้องคดีแก้ไขรธน.มาตรา 291 แบบก่อนหน้านี้ ซึ่งทำเอารัฐบาลเพื่อไทยลุ้นหนักว่าจะตกม้าตายกันง่ายๆ แบบเรื่องแก้มาตรา 291 ขึ้นมาอีก แต่ฝ่ายเพื่อไทยก็คงดูจะเหนียมที่จะออกหน้าเรื่องนี้เอง จึงให้ส.ว.ก๊วนรัฐบาลรับหน้าเป็นเจ้าภาพยื่นแก้ไขมาตรา 237 และมาตรา 68แทนไป

แค่นี้ก็เห็นแล้วชัดแล้วว่า มันเป็นการยื่นร่างแก้ไขรธน.แบบ จับมือกันของพรรคร่วมรัฐบาลกับกลุ่มส.ว.สายใกล้ชิดรัฐบาล เพื่อเดินหน้าทะลวงเรื่องแก้ไขรธน.ให้สำเร็จโดยเร็วเพื่อที่จะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

อย่างถ้าการแก้ไขรธน.ครั้งนี้ เสร็จเร็ว ส.ว.เลือกตั้งชุดนี้ที่จะหมดวาระลงในปีหน้าก็จะได้ประโยชน์จะได้สิทธิลงสมัครส.ว.อีกหนึ่งสมัย

กรณีนี้ส.ว.เลือกตั้งได้ประโยชน์เต็มๆ ตรงตามข้อเรียกร้องที่ส.ว.เลือกตั้งต้องการอยู่แล้วเพราะรู้ดีว่าหากใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามร่างแก้ไขรธน.มาตรา 291 ของเพื่อไทยที่ค้างการโหวตวาระ 3 อยู่ในรัฐสภา

นับเวลาดูแล้ว ไม่ทันการแน่นอน เพราะไหนจะกว่าจะสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็มาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วก็ไปทำประชามติอีก ให้เร่งยังไงก็ไม่ทัน ส.ว.เลือกตั้งชุดนี้จะหมดวาระไปก่อน

จึงไม่แปลกที่ทำไมส.ว.เลือกตั้งสายรัฐบาล ถึงจับมือกับฝ่ายรัฐบาลในการยื่นร่างแก้ไขรธน.รายมาตราครั้งนี้ ก็เพราะตัวเองได้ประโยชน์ไปเต็มๆ

ขณะที่พรรคเพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ประโยชน์ เพราะหากมีการแก้ไขมาตรา 68 -190-237 เสร็จ ก็ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลไม่ต้องกังวลการเมืองอะไรมาก

ที่ทำได้ทันทีหากการแก้ไขรธน.รายมาตราดังกล่าวสำเร็จก็คือ การเดินหน้าโหวตรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ 3 ที่ค้างอยู่ในรัฐสภาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรธน.ทั้งฉบับ เพราะหมดความกังวลแล้วว่า จะมีการยื่นเรื่องไปให้ศาลรธน.วินิจฉัยเอาผิดอะไรได้อีกกับพวกสมาชิกรัฐสภาที่ไปโหวตดังกล่าว

เช่นเดียวกับการแก้ไขมาตรา 190 ก็ทำให้ต่อไปการไปทำข้อตกลงอะไรต่างๆ กับต่างประเทศ ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะเข้าข่าย 190 หรือไม่ ทำให้การตัดสินใจอะไรต่างๆ เร็วขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนตรวจสอบจากรัฐสภา หากรัฐบาลไปทำข้อตกลงบางอย่างกับต่างประเทศแล้วถูกตั้งข้อสงสัยถึงความไม่ โปร่งใสหรือทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบหรือเป็นการทำข้อตกลงที่ทำให้คนบางกลุ่ม ได้ประโยชน์

“ทีมข่าวการเมือง”เห็นว่า รัฐธรรมนูญ บางมาตรา ถ้ามีการใช้แล้วพบว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี มีข้อบกพร่องมากกว่าประโยชน์ หากจำเป็นต้องแก้ไขก็ควรต้องแก้ไข ไม่ใช่จะฝืนดันทุรังใช้กันโดยที่เห็นชัดว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี

อย่างมาตรา 237 ที่เห็นชัดว่าเสียงส่วนใหญ่แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์หรือนักกฎหมาย-นักรัฐศาสตร์เกือบทุกสำนักต่างก็เห็นพ้องว่าควรแก้ไข ไม่ควรให้มีการยุบพรรคการเมืองหรือตัดสิทธิการเมืองคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทุจริตเลือกตั้งแบบเหมาเข่ง แบบนี้ ถ้าแก้ไขให้เหมาะสมกับความเป็นจริงของการเมืองไทยก็เป็นสิ่งที่หลายคนเข้าใจได้

เพียงแต่สิ่งที่ “ทีมข่าวการเมือง”อยากเห็นก็คือ ขอเพียงให้การแก้ไขรธน.ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าต่อจากนี้ คนที่เสนอแก้ไขและสมาชิกรัฐสภาที่จะร่วมอภิปรายสนับสนุนและร่วมโหวตเห็นชอบการแก้ไขรธน. คนเหล่านี้ต้องทำให้สังคมเข้าใจและเชื่อมั่นโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆว่า

ไม่ใช่การแก้ไขรธน.เพื่อประโยชน์ฝ่ายตัวเอง- ปิดกลั้นการตรวจสอบจากฝ่ายต่างๆ รวมถึงแก้ไขรธน.เพื่อเพิ่มอำนาจให้ตัวเองไปกระทำการใดๆ ที่จะเป็นความผิดต่อกฎหมายหรือทำให้ส่วนรวมเสียหาย

เพราะเมื่อดูเหตุผลความจำเป็นแล้วก็ยังพบว่าหลายฝ่ายก็ยังติดใจว่าการยื่นแก้ไขรธน.บางมาตรา มีความจำเป็นเพียงพอหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีมาตรา 68 หรือกรณีแก้ไขเรื่องที่มาของส.ว.

ที่เห็นได้ว่าเป็นการแก้ไขที่ทำให้คนบางกลุ่มคือนักการเมืองได้ประโยชน์เป็นหลัก ส่วนรวมไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก

ตรงนี้ก็ต้องแจงให้ได้ถึงเหตุผลความจำเป็นในการแก้ไขส่วนนี้ ไม่เช่นนั้น แม้ต่อให้มีเสียงข้างมากลากไป จนแก้ไขกันสำเร็จ แต่อาจมีข้อเคลือบแคลงเรื่องความชอบธรรมติดค้างอยู่
อุดมเดช รัตนเสถียร
ดิเรก ถึงฝั่ง
ประสิทธิ์ โพธสุธน
กำลังโหลดความคิดเห็น