“อภิสิทธิ์” ระบุรัฐบาลเดินเกมแก้ รธน.มาตรา 68 หวังเปิดทางรื้อทั้งฉบับ ประชาชนไม่สามารถยื่นศาล รธน.วินิจฉัยได้อีก เฉ่ง “ดิเรก” อ้างมั่ว รื้อมาตรา 190 เป็นมติวิป 3 ฝ่ายในอดีต เชื่อแก้กติกาบ้านเมืองใหม่หวังกลับสู่ยุคสภาทาส เพิ่มอำนาจรัฐบาล แนะดูบทเรียนในอดีตสุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้น
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.เลือกตั้งร่วมกันเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ร่าง รวม 12 มาตราว่า พรรคประชาธิปัตย์จะตรวจสอบรายละเอียดทั้ง 3 ร่าง และจะพิจารณาในการประชุม ส.ส.สัปดาห์หน้า เพื่อกำหนดจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอนั้น มีการลดทอนอำนาจประชาชนและตัวแทนของประชาชนพอสมควร เช่น ช่องทางการร้องเรียนไปศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลต่อไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างการพิจารณาวาระสามในรัฐสภาหรือไม่ เพราะต้องถามว่าจะตัดช่องทางไม่ให้ประชาชนร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่ออะไร ตนเห็นว่าควรเป็นสิทธิของประชาชนและให้บทบาทกับศาลรัฐธรรมนูญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วย เพราะเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง
“ต้องถามรัฐบาลว่ามีเจตนาที่จะแก้ไขมาตรานี้เพื่อที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยที่ประชาชนไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ หากเห็นว่ามีการกระทำที่อาจเข้าข่ายต่อการทำผิดมาตรา 68 ใช่หรือไม่ เพราะการแก้ไขมาตรานี้ก็เปิดช่องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยไม่มีใครร้องตรงกับศาลรัฐธรรมนูญได้อีก แต่ต้องใช้วิธีการยื่นต่ออัยการสูงสุดเพียงช่องทางเดียวชี้แก้เพื่อเพิ่มอำนาจบริหารตัดทอนสิทธิประชาชน”
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในเหตุการณ์ครั้งที่ผ่านมาก็ชัดอยู่แล้วว่าเกิดปัญหาขึ้นจนประชาชนต้องใช้สิทธิยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิประชาชนจึงเป็นการเปลี่ยนดุลอำนาจ ซึ่งเรื่องความเหมาะสมมีความเห็นต่างกันแน่นอน ส่วนจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องไปดูในรายละเอียดเพราะเป็นปัญหาเทคนิคทางกฎหมาย แต่ต้องถามรัฐบาลและผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ทำไมจึงสนับสนุนการลดทอนสิทธิหรืออำนาจของประชาชนในการปกป้องสิทธิของตัวเอง ปกป้องระบบการเมืองในการที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหาร
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังเป็นการลดทอนอำนาจรัฐสภาที่จะเข้ามาตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ด้วย เพราะมีการเขียนจำกัดให้แคบเหมือนในอดีต โดยตัดเรื่องเศรษฐกิจออกไปเกือบหมด จึงต้องดูข้อเท็จจริงทั้งหมดและสังคมต้องช่วยกันสะท้อนว่าคิดอย่างไร เพราะหากมีการแก้ไขตามนี้ประชาชนจะเสียประโยชน์ เพราะตัวแทนประชาชนไม่มีโอกาสตรวจสอบข้อตกลงหลายเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ
“ผมยืนยันว่าที่นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี อ้างว่าเรื่องนี้เป็นข้อสรุปเก่าของวิปสามฝ่ายนั้น ความจริงคือมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ไปแล้ว โดยอยู่ในขอบเขตที่ให้ออกกฎหมายลูกให้การปฏิบัติเกิดความชัดเจนเท่านั้น แต่แทนที่รัฐบาลจะไปออกกฎหมายลูก กลับไปแก้เพื่อตัดทอนการตรวจสอบหลายอย่างออกไป และในบทสรุปของคณะกรรมการดังกล่าวก็ไม่มีเรื่องมาตรา 68 ที่จะถอดอำนาจประชาชนในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญออกไป เหมือนที่กำลังเสนออยู่ในขณะนี้ ซึ่งแม้การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจะทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่า แก้แล้วจะเป็นผลดี เพราะต้องดูว่านำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหนด้วย”
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้ ยังมีการลดความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งทั้งหมดเป็นจุดที่น่าเป็นห่วง ส่วนรายละเอียดของ ส.ว.ที่เสนอแก้ไขยังไม่ได้ดูรายละเอียดว่าที่มาของ 200 คนจะมาอย่างไร ซึ่งตนกำลังดูว่าวิธีการเลือกตั้งจะกำหนดอย่างไร แต่เราเคยตั้งข้อสังเกตมาโดยตลอดว่า การเลือกตั้งโดยตรงไม่ง่ายที่จะแยกออกจากพรรคการเมือง เพราะคนที่ไปสมัครจะต้องไปอิงกับกลุ่มที่มีฐานเสียงในพื้นที่นั้นๆ แม้จะระบุว่าไม่สังกัดพรรคการเมืองแต่จากประสบการณ์ก็มีปัญหามาแล้ว จึงต้องแก้จุดอ่อนนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งและถูกครอบงำจากการเมืองได้จะย้อนกลับไปสู่สภาทาสเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2548 หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้ทุกคนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ในช่วงนั้นและเก็บเกี่ยวบทเรียนมา เพราะสภาพปัญหามันเคยเกิดแล้วไม่ควรผิดซ้ำรอยอีก จึงอยากให้รัฐบาลคิดว่ากติกาของบ้านเมืองที่กำหนดไว้มีเป้าหมายในเรื่องความสมดุลและความพอดี ถ้าไปคิดว่าอยากมีอำนาจเพิ่มขึ้นแล้วพยายามใช้อำนาจมาเพิ่มอำนาจของตัวเอง มันอันตราย ในประวัติศาสตร์โลกหลายประเทศที่คนมีอำนาจคิดแบบนี้สุดท้ายก็เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง รวบอำนาจเดินตามรอยฮิตเลอร์ จึงเตือนว่าอย่าลืมอดีต
ผู้สื่อข่าถามว่าสามารถเปรียบเทียบกับกรณีของฮิตเลอร์ที่ใช้ประชาธิปไตยบังหน้าแต่สุดท้ายรวบอำนาจมาที่ตัวเองจนกลายเป็นเผด็จการได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้นแต่รุกคืบไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยการเพิ่มอำนาจตัวเอง ลดอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุล แต่วันก่อนมีคนสไกป์มาและบอกว่า ส.ส.และ ส.ว.จะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา วันนี้ก็ทำแบบนั้นอยู่ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง
“ขณะนี้จึงเป็นความพยายามรุกคืบเพิ่มอำนาจของผู้มีอำนาจรัฐ พยายามลืมบทเรียนจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตจนเป็นที่มาของการรัฐประหารในที่สุด นี่คือความอันตรายที่อยากให้ทุกคนต้องตระหนัก หลายคนลืมไปแล้วว่าก่อนรัฐประหารแม้แต่พรรคไทยรักไทยยังยอมรับว่ากติกาบางอย่างใช้แล้วเกิดปัญหาต้องมาทบทวนใหม่ แต่วันนี้พยายามลบสิ่งเหล่านั้น แล้วกลับไปสู่สภาพที่การตรวจสอบถ่วงดุลอ่อนแอ”