ผ่าประเด็นร้อน
การประชุมร่วมรัฐสภาสามวันต่อจากนี้ คือ 1-3 เมษายน 2556 เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. ...จำนวน 3 ร่าง ที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อันประกอบไปด้วย
1. ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 ที่เป็นบทบัญญัติเรื่องการพิจารณาคำร้องเรื่องการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ศาลรธน.ได้มีคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ ให้สามารถพิจารณาคำร้องในความผิดดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องรอให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องมา
ในร่างแก้ไข รธน. มาตรา 68 ดังกล่าวก็เขียนล็อกเอาไว้ว่า ให้อัยการสูงสุดเท่านั้นที่จะส่งเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าว
คือ ปิดช่องไม่ให้ประชาชนยื่นคำร้องไปที่ศาลรธน.โดยตรงได้อีกต่อไป
และในร่างดังกล่าวยังเสนอให้ตัดทิ้ง มาตรา 237 วรรคสอง ที่เป็นบทบัญญัติเรื่องการยุบพรรค และตัดสิทธิการเมืองห้าปี กับกรรมการบริหารพรรคการเมืองแบบยกพวง หากโดนศาลรธน.ตัดสินยุบพรรคตาม มาตรา 68 แต่ยังคงไว้ซึ่งการตัดสิทธิฯนักการเมืองผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอยู่
ร่างนี้ตัวตั้งตัวตีในการยื่นคือ นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี มีส.ว.และส.ส.เพื่อไทย ร่วมกันลงชื่อท่วมท้น 311 คน
2.ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตราเกี่ยวกับที่มาของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ยกเลิกการมีส.ว.สรรหา 74 คน แต่ไม่กระทบกับส.ว.สรรหา ที่ทำหน้าที่อยู่ตอนนี้ เพราะจะให้อยู่จนครบวาระ
หากแก้ไขรธน.สำเร็จ จากนั้นก็จะไปสู่ขั้นตอนการแก้ไขพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.ต่อไป เบื้องต้นคาดกันว่าน่าจะแล้วเสร็จไม่เกินสิงหาคมเป็นอย่างช้า ทำให้พวกส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระ 2 มีนาคม 2557 สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก จากเดิมที่ต้องเว้นวรรค ร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวมี ส.ส.-ส.ว. ร่วมลงชื่อ 308 คน
3. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 190 โดยจากปัจจุบันที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าหนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หนังสือดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จากนั้นหากต้องมีการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศให้มีผลผูกพัน ก็ต้องมาให้รัฐสภาเห็นชอบกรอบการเจรจาก่อนอีกครั้ง
ร่างแก้ไข มาตรา 190 ดังกล่าวจึงเสนอแก้ไขเป็นแค่ว่า หนังสือสัญญาใดที่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือต้องออกเป็นพ.ร.บ.เพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
เท่ากับว่า ต่อไปการจะไปเจรจาความใดๆกับต่างประเทศ ที่เข้าข่ายมาตรา 190 ฝ่ายบริหารเช่น รัฐบาลหรือกระทรวงการต่างประเทศ สามารถทำได้เลย ไปตกลงได้ก่อน แต่ตกลงกันแล้ว ก็ต้องเอาเรื่องมาให้รัฐสภาเห็นชอบ หากรัฐสภาเห็นชอบ ก็มีผลบังคับใช้ แต่หากรัฐสภาไม่เห็นชอบ ข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่มีผล ซึ่งจะเป็นการแก้ มาตรา 190 ที่เหมือนกับรธน.ปี 40
พบว่าในบรรดาทั้ง 3 ร่าง ดังกล่าว ร่างนี้ที่มีคนเดินเรื่องคือ ประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี ผู้กว้างขวางแห่งสภาสูง มีส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว.ร่วมลงชื่อเอาด้วยมากสุดถึง 314 คน
ถูกคาดหมายว่าจะเป็นร่างแก้ไขรธน.ที่พอมีการลงคะแนนเสียงเห็นชอบในวาระแรก จะมีสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบด้วยมากสุด ไม่แน่ ฝ่ายค้านอาจมาร่วมลงคะแนนเสียงด้วยก็เป็นไปได้ เพราะพบว่าก่อนหน้านี้ก็เคยมีการเสนอแก้ไขมาแล้วในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่
เมื่อดูร่างแก้ไขรธน.ทั้ง 3 ร่างแล้ว ก็ต้องยอมรับกันจริงๆ ว่าฝ่ายเพื่อไทย และส.ว.มีการวางแผนเตรียมการกันมาอย่างดี เพราะเลือกที่จะเสนอแก้ไขรธน.รายมาตรา ในส่วนที่ทำแล้วน่าจะมีแรงคัดค้านน้อยมาก
ดูได้จากฝั่งฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ก็ยังค้านแบบไม่เต็มเสียง
โดยประชาธิปัตย์เอง ท่าทีของพรรคที่ชัดก็คือ ไม่เห็นด้วยการแก้มาตรา 68 ที่ในร่างที่ยื่นเสนอแก้ไขบอกว่า การพิจารณาคำร้องว่ามีการกระทำใดที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ฯต้องผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุดก่อน เพื่อให้อัยการสูงสุดตรวจสอบและเสนอความเห็นไปยังศาลรธน. ที่เท่ากับว่าต่อไปนี้ ใครจะไปยื่นตรงต่อศาลรธน.อีกไม่ได้
กรณีที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่มีคณะบุคคล เช่น พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหาไปยื่นศาลรธน. เพื่อคัดค้านการแก้ไข มาตรา 291 ที่เห็นว่าเป็นการไปล้มรธน.50 ทั้งฉบับ แล้วศาลรธน.รับคำร้องไว้ จนทำให้การโหวตวาระ 3 ของมาตรา 291 ในรัฐสภายังทำไม่ได้จนถึงขณะนี้ หากแก้มาตรา 68 ครั้งนี้สำเร็จ ต่อไปการยื่นตรงต่อศาลรธน. แบบก่อนหน้านี้ก็จะทำไม่ได้อีกแล้ว
ขณะที่มาตราอื่นๆ เช่น ที่มาของส.ว.หรือการยกเลิกการยุบพรรค ก็พบว่า ประชาธิปัตย์ไม่ได้ค้านเต็มตัว
ส่วนความเห็นในฟากวุฒิสภา พบว่า มาตราที่ค่อนข้างมีเสียงไม่เห็นด้วยมากก็ตรงกับของประชาธิปัตย์ คือ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 68 แต่ก็ไม่สามารถสร้างกระแสอะไรมากนัก
ขณะที่เรื่องการแก้ไขที่มาของส.ว. ที่จะให้กลับมาแบบเดิมคือให้มี ส.ว.เลือกตั้งอย่างเดียวไม่มีส.ว.สรรหา ก็พบว่า ฝ่ายส.ว.สรรหาเอง โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว. ล่าสุดคุยกันเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่าทีของส.ว.กลุ่มนี้ คงไม่เทน้ำหนักอภิปรายเรื่องนี้กันเท่าไหร่ เพราะเกรงว่าอภิปรายคัดค้านไปแล้ว จะโดนสวนกลับว่า พวกส.ว.สรรหา ที่ค้านเป็นพวกอยากเป็นส.ว. แต่ไม่อยากลงเลือกตั้ง จะรอแต่งตั้งอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ถึงพวกส.ว.สรรหา ไม่อภิปรายตอนพิจารณาร่างแก้ไขรธน. เรื่องที่มาของส.ว. แต่ก็เชื่อว่าคงโดนพวก ส.ส.เพื่อไทย-ส.ว.เลือกตั้ง อภิปรายเสียดสี เหน็บแนม พวกส.ว.สรรหาให้เจ็บกระดองใจอยู่แล้ว ขืนไปอภิปรายไม่เห็นด้วยที่จะไม่ให้มีส.ว.สรรหา มีสิทธิ์โดนซัดกลับเลือดสาดแน่
เบื้องต้นวิปสามฝ่าย คือ วิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-ส.ว. ตกลงกันนอกรอบแล้ว การอภิปราย 3 วัน 3 คืน 1-3 เมษายน จะใช้เวลาอภิปรายทั้งสิ้น 34 ชั่วโมง แยกเป็นส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 15 ชม. -ฝ่ายค้าน 11 ชม. ส่วนส.ว.ได้เวลาอภิปราย 8 ชม.
บรรยากาศภาพรวมการอภิปรายประเมินว่า ดีกรีอาจร้อนแรงน้อยกว่าการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ เพราะเป็นเรื่องของสภาฯ ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล การประท้วงอะไรจึงมีน้อย จะดุเดือดบ้างก็คงเป็นการอภิปรายการแก้ มาตรา 68 และที่มาของส.ว.เท่านั้น
ส่วนเรื่องการลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรธน.ทั้ง 3 ร่าง วาระแรก คาดกันว่า ไม่น่ามีปัญหา เพราะพรรคร่วมรัฐบาลจับมือส.ว.กันมาเป็นอย่างดี วางแผนกันมาหลายเดือน เสียงโหวตน่าจะฉลุย แบบชัวร์ๆ