xs
xsm
sm
md
lg

ฆ่าทิ้งมาตรา 190 อหังการและโหดเหี้ยม เปิดช่องเซ็งลี้แผ่นดิน!?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

วันนี้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 3 ร่าง 4 ประเด็น

ประเด็นหนึ่งคือการยกเลิก ส.ว.สรรหาให้มีแต่ ส.ว.เลือกตั้ง โดยเพิ่มจำนวนเป็น 200 คน และไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง อันจะเป็นผลให้ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2557 สามารถสมัครรับเลือกตั้งต่อได้ทันที

ประเด็นหนึ่งคือตัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้องโดยตรงจากประชาชนในกรณีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 68

ประเด็นหนึ่งก็ยกเลิกโทษยุบพรรคการเมือง

แต่ที่น่าตกใจที่สุดในความอหังการและโหดเหี้ยมคือประเด็นแก้ไขมาตรา 190 ว่าด้วยหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน!

ไม่รู้จิตใจของ ส.ส.และ ส.ว.ที่เข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขมาตรานี้ทำด้วยอะไร เป็นนักประชาธิปไตยพันธุ์ไหน ถึงได้จงใจตัดอำนาจรัฐสภา และตัดสิทธิของประชาชน ที่เคยมีเคยได้มากว่า 5 ปี ได้อย่างเลือดเย็นถึงปานนี้ อ่านแล้วเกิดความรู้สึกสลดหดหู่พลุ่งพล่านขึ้นมาอย่างยากที่จะระงับได้

เพราะเป็นการแก้ไขชนิดรื้อใหม่หมด ย้อนยุค ด้วยการตัดหนังสือสัญญา 3 กลุ่มใหญ่ออกจากมาตรา 190 ปัจจุบัน อันจะทำให้หากสำเร็จกิจด้วยเสียงข้างมาก หนังสือสัญญา 3 ประเภทต่อไปนี้จะไม่ต้องนำเข้ามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกต่อไป

1. หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ

2. หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง

3. หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ


คงเหลือหนังสือสัญญาเพียง 2 ประเภทเท่านั้นที่จะต้องนำเข้ามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา คือ หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ และหนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา

นอกจากนั้นยังล้มเลิกกระบวนการที่ต้องปฏิบัติเดิมของมาตรา 190 ที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวดทั้งก่อนและหลังลงนามรวม 4 ขั้นตอน

1. ครม.ให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (มาตรา 190 วรรคสาม..เดิม)

2. ครม.ชี้แจงต่อรัฐสภา และเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา (มาตรา 190 วรรคสาม..เดิม)

3. ก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน ครม.ต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น (มาตรา 190 วรรคสี่..เดิม)

4. ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ครม.ต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม (มาตรา 190 วรรคสี่..เดิม)

คงบัญญัติใหม่ไว้แต่เพียงว่าให้มีกฎหมายว่าด้วยการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญา และการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญา ซึ่งก็อำมหิตพออยู่แล้วเพราะไม่รู้ว่าอีกกี่ชาติจึงจะมีกฎหมายที่ว่านี้ออกมา แต่ยังอุตส่าห์ตอกย้ำซ้ำเติมด้วยการเขียนข้อความต่อไปนี้ต่อท้ายไว้

“...โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป”

การตัดหนังสือสัญญา 3 ประเภทใหญ่ออกไปไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภามีผลใหญ่หลวงมาก

เพราะเมื่อรัฐสภาไม่ต้องพิจารณา ประชาชนก็ไม่ต้องรับรู้

แปลว่าอะไรหรือครับพี่น้อง ?

แปลว่า...หนังสือสัญญาตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ปิโตรเลียมในอ่าวไทยกับกัมพูชา และ/หรือกับบรรษัทปิโตรเลียมต่างชาติ – ไม่ต้องให้รัฐสภาและประชาชนรับรู้

แปลว่า...ทำ FTA กับประเทศใดก็ตาม – ไม่ต้องให้รัฐสภาและประชาชนรับรู้

แปลว่า...หนังสือสัญญาตกลงสัมปทานเรื่องระบบเดินรถไฟด่วนความเร็วสูงกับประเทศใดก็ตาม – ไม่ต้องให้รัฐสภาและประชาชนรับรู้

แปลว่า…


ถ้าพี่ยอดธง ทับทิวไม้ยังมีชีวิตอยู่ ท่านคงจะใช้สำนวนพูดสำนวนเขียนประมาณว่าอย่างนี้ครับ...

“แปลว่า...ธุรกิจขายชาติขายแผ่นดินของเหล่าโสณทุจริตทางการเมืองกำลังจะรุ่งเรือง”

หลายคนหลายฝ่ายกล่าวหาอย่างมักง่ายว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลิตผลจากระบอบเผด็จการ ต้องยกเลิก ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง กรณีมาตรา 190 พิสูจน์ว่านั่นไม่ใช่ตรรกะสูตรสำเร็จ

เพราะมาตรา 190 เปิดโอกาสให้ประชาชนอย่างกว้างขวางชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน

การพิจารณาหนังสือสัญญา 5 ประเภทตามมาตรา 190 ในรัฐสภา ทำให้สมาชิกรัฐสภาและพี่น้องประชาชนได้หูตากว้างไกลขึ้นเป็นอันมาก ในหลายกรณีได้เกิดคำถามและพบข้อบกพร่องของฝ่ายบริหารและฝ่ายราชการประจำ เฉพาะผมเองก็เคยได้ข้อมูลจากมิตรสหายในสายการเงินมาอภิปรายทักท้วงกรณีอภิปรายทักท้วงกรณี Commitment Charge ในสัญญากู้เงินจากธนาคารโลกมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552ซึ่งครั้งนั้นรัฐมนตรีประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ก็ยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

แต่เหตุไฉนการแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยขึ้น เพื่อให้ทำงานสะดวกขึ้น จึงต้องมาลดระดับความรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนลงไปเกินครึ่งเกินค่อน

นี่หรือประชาธิปไตย?

มาตรา 190 ถูกแก้ไขมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2553 เพื่อเปิดช่องให้มีกฎหมายกำหนดประเภทของหนังสือสัญญาให้ชัดเจนได้ วันนี้เวลาผ่านไปกว่า 2 ปี รัฐบาลยังไม่ได้เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเลย

พูดง่ายๆ ว่าแก้ไขครั้งก่อนยังไม่เห็นผลเลยว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ประการใด ครั้งนี้ “ไอ้เสือเอาวา...” อีกแล้ว

สิทธิที่เคยมีเคยได้ของประชาชนกำลังจะถูกพรากจาก – จะยอมกันง่ายๆ หรือพี่น้อง?
กำลังโหลดความคิดเห็น