xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ลุ้นแก้รธน.ผิดกฎหมาย-ยื่นตีความปมหักดิบแปรญัตติ15วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ตั้งกมธ.ชำเรา รธน. 3 คณะ “ปชป.”วอล์คเอาท์ ลั่นผิดกม.ชี้ชัดกระบวนการแก้ไขรธน.มิชอบ ฝันชนะฟาล์ว ยันยังมี "ญัตติค้างอยู่" แต่ซีกรัฐบาลดิ้นประชุมกมธ.ให้ได้ ส่อทำผิดก.ม. "มาร์ค" เล็งยื่นศาลรธน.ตีความ ลั่นหักดิบแปรญัตติ 15 วันทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบขัดรธน.ชัด

ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา 3 ฉบับ ที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ผู้ทำหน้าที่ประธานในห้องประชุมได้สั่งปิดการอภิปรายและนับองค์ประชุมรัฐสภา โดยมีจำนวน 428 ครบองค์ประชุม ต่อจากนั้นได้สั่งดำเนินการลงมติด้วยวิธีการขานชื่อสมาชิกทีละคน และให้โหวตทีละฉบับ จนเวลาล่วงเลยมาถึงเวลา 01.30 น.ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระแรก ร่างแรก แก้ไขฯที่มาของส.ว. ด้วยคะแนน 367 ต่อ 204 เสียง งดออกเสียง 34 ร่างที่สองแก้ไขฯมาตรา 190 ด้วยคะแนน 374 ต่อ 209 เสียง งดออกเสียง 22 และร่างที่สามแก้ไขฯมาตรา 68 และมาตรา 237 ด้วยคะแนน 374 ต่อ 206 เสียง งดออกเสียง 25 ถือว่าที่ประชุมมีมติรับหลักการทั้ง 3 ร่าง โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯขึ้นมาพิจารณา 3 คณะ คณะละ 45 คน และเป็นที่น่าสังเกตว่าสมาชิกพรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง หลังจากนั้นประธานจึงสั่งปิดการประชุมเมื่อเวลา 02.00 น.ของวันที่ 4 เม.ย.56

**ตั้งกมธ.3คณะปชป.วอล์คเอาท์ลั่นผิดกม.

ขณะที่เช้าวานนี้(4 เม.ย.56) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237 นัดแรก โดยที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง นายดิเรก ถึงฝั่ง สว.นนทบุรี เป็นประธาน

ทั้งนี้ ในการประชุมกิดปัญหา เมื่อตัวแทนจากกรรมาธิการ พรรคประชาธิปัตย์ วอล์คเอาท์ เนื่องจากเห็นว่าการประชุมร่วมรัฐสภาคืนที่ผ่านมา มีการเสนอญัตติปิดอภิปราย ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ดังนั้นการที่ประชุมกรรมาธิการต่ออาจจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์อีก 2 คณะงดที่จะเสนอชื่อเป็นประธานและรองประธาน

เช่นเดียวกับการประชุมกมธ. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พศ... (มาตรา 190) ละการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 ว่าด้วยเรื่องที่มาของของสมาชิกวุฒิสภาตัวแทนจากกรรมาธิการ พรรคประชาธิปัตย์ ก็วอล์คเอาท์

ขณะที่กมธ.มาตรา 19 0 เลือกได้มีมติเลือก นายกฤช อาทิตย์แก้ว เป็นประธาน ส่วนที่กมธ.มาตรา 111 มีมติตั้ง นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน

**ฝ่ายค้านฉะ“สมศักดิ์”ทำผิดข้อบังคับ

เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่า ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านมีความเห็นคือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 2.มาจากใบสั่งใบเดียวกัน 3.มีวาระซ่อนเร้น เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง

"เห็นชัดว่าเป็นการรวบรัด มีการละเมิดข้อตกลงของวิป 3 ฝ่ายที่ตัดเวลาของวิปฝ่ายค้านไป การตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 3 ชุดเพื่อพิจารณาสะท้อนว่ารวบรัดจะให้เสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้"นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์องค์ประชุมล่มระหว่างการเสนอญัตติกำหนดวันแปรญัตติ ซึ่งมีอยู่ 2 ความเห็น โดยฝ่ายรัฐบาลเสนอ 15 วัน ขณะที่ฝ่ายค้านเห็นว่าควรเป็น 60 วัน ซึ่งประธานจะต้องขอมติจากที่ประชุม แต่ตรวจสอบองค์ประชุมแล้วไม่ครบ ประธานต้องปิดประชุมแต่ประธานกลับดำเนินการต่อ โดยวินิจฉัยว่าเมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ให้ถือว่าที่ประชุมมีมติให้แปรญัตติใน 15 วันพร้อมนัดหมายให้มีการประชุมของกรรมาธิการทั้ง 3 คณะในเวลา 11.00 น. พวกตนจึงเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มิชอบ การดำเนินการของประธานรัฐสภาก็มิชอบด้วย ซึ่งฝ่ายค้านจะรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

เมื่อถามว่า จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ยังไม่ขอพูดในรายละเอียดแต่เบื้องต้นเห็นว่ากระบวนการที่ผ่านมาไม่น่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

**ขู่ยื่นตีความแก้รธน..หักดิบแปรญัตติ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีความพยายามรวบรัด ไม่ทำตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่อการกำหนดวันแปรญัตติ 15 วัน ทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบถือเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ ซึ่งต้องหารือกันว่าฝ่ายค้านจะมีช่องทางดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยตนยังยืนยันว่า นายสมศักดิ์ ต้องนัดประชุมร่วมรัฐสภาใหม่เพื่อที่จะลงมติว่าแปรญัตติภายในกี่วัน แต่หากยังเดินหน้าต่อก็มีความเป็นไปได้ว่าจะต้องมีการยื่นตีความกัน เพราะกระบวนการมันผิดชัดเจน ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสภา และขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ครบองค์ประชุม

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง กล่าวว่า เกิดเหตุการณ์องค์ประชุมไม่ครบในระหว่างที่มีการเสนอจำนวนวันแปรญัตติ ทำให้การประชุมถือว่าไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และขัดรัฐธรรมนูญในเรื่ององค์ประชุมที่อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้เป็นโมฆะ ซึ่งตนและคณะได้ไปทักท้วงในคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 แล้ว ทั้งนี้ถือว่าการพิจารณากฎหมายไม่สมบูรณ์ ทำให้คณะกรรมาธิการที่พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 คณะต้องเสนอเรื่องกลับมายังรับสภาพิจารณาใหม่ ซึ่งการที่ตนออกมาท้วงติงตั้งแต่แรก เพราะไม่อยากให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะและกระบวนการพิจารณาต้องสูญเปล่า

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ชี้แจงว่า การประชุมที่ขัดต่อกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาว่าธรรมนูญ การประชุมเมื่อคืนนี้ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 137 การประชุมร่วมรัฐสภาที่บัญญัติว่าการประชุมร่วมรัฐสภาให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาซึ่งการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหากเป็นญัตติทั่วไปหรือเรื่องอื่นหากมีการเสนอ 1 คน และไม่มีผู้เห็นต่างหรือเสนอแย้งถือว่าทีประชุมเห็นชอบ ตามข้อที่ 59 วรรคแรก แต่กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาตามวรรคสองที่ต้องลงมติแม้จะไม่มีผู้เห็นแย้ง ซึ่งกระบวนการปิดประชุมนั้นไม่ชอบ ซึ่งการดำเนินการต่อมาจึงถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งหมด รวมทั้งการตั้งคณะกรรมาธิการด้วยจึงไม่ชอบ และเมื่อตนเข้าไปทักท้วงต่อคณะกรรมาธิการทำให้ที่ประชุมตกใจเพราะคาดไม่ถึงว่าจะมีประเด็นนี้

**" ส.ส.ถูกเพิกถอน-ส.ว.โดนอาญา

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าหาเป็นไปตามคำร้องที่ยื่นไว้สมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงมติ ในวาระแรกของร่างแก้ไขมาตรา 68 และ 237 ก็จะต้องได้รับการพิจารณาโดย ส.ส. ก็จะถือว่าถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี และ ส.ว.เข้าสู่กระบวนการทางอาญา โดยส่งให้ป.ป.ช. พิจารณา และคนที่ลงมติรับหลักการอาจจะมีผลประโยชน์ขัดกันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง รับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กรณีที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีที่ ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 312 คน เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่าเข้าข่ายใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไว้พิจารณานั้น เสียงข้างน้อย 2 เสียงประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัติยังสามารถลงมติได้ เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ผู้ร้องนำมายังไม่ปรากฏเป็นมูลเหตุสมควรเพียงพอซึ่งเป็นเพียงการคาดการณ์ไว้หน้าจึงยังไม่ถึงเวลาที่ศาลควรจะรับไว้พิจารณา

ส่วนนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นการใช้อำนาจตามช่องทาง มาตรา 291 เป็นสิทธิที่สามารถดำเนินการได้ อีกทั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยังไม่มีมูลเหตุที่จะฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 ด้วย อย่างไรก็ตามขั้นตอนหลังจากนี้คือศาลรัฐธรรมนูญได้ให้สั่งให้นายสมชายผู้ร้องส่งสำเนาคำร้องจำนวน 312 คำร้องให้ศาล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการส่งให้ผู้ถูกร้องเพื่อทำให้หนังสือชี้แจงกลับมาภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งขณะนี้ทางนายสมชาย ยังไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องทั้งหมดมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ

**อัดศาลรธน. ขยายกรอบอำนาจตัวเอง

ส่วนฝากผู้สนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายพีระพันธ์ พาลุสุข ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คัดค้านในสิ่งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรับคำร้อง เนื่องจากประเด็นาการพิจารณาหากไม่มีการกระทำใดที่เป็นการขัดต่อบทบัญยัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา การแก้ไข ม. 68 เป็นการทำหน้าที่ตาม รัฐธรรมนูญมา 291 ตนยังมองแง่ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้และจากนั้นจะยกคำร้อง เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่ทำได้ของ สมาชิกรัฐสภา

"สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญพยายามทำเป็นการขยายกรอบอำนาจตามที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ เชื่อว่าจะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน "นายพีระพันธ์ กล่าว

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเมืองจากนี้จะไม่มีอะไรร้อนแรง แต่มีกลุ่มคนชอบปล่อยข่าว อย่างไรก็ตามตนดูแลเรื่องข่าวสาร ดูแล้วก็ไม่มีอะไร แต่การเมืองก็เป็นธรรมดา ทุกคนต้องแสดงบทบาท แต่ตนไม่ใช้ความรุนแรง ใครจะชุมนุมประท้วง ไม่ว่าเสื้อแดงหรือ พธม. ก็เชิญเลย “

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00น. วันที่ 5 เม.ย. นายวรชัย เหมะ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.เพื่อไทย จะเข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญาฐาน ศาลรธน.ทำเกินหน้าที่ตามป.อาญา ม.157ที่สน.ทุ่งสองห้อง

**“ปู”คุมเข้มสั่งเช็คชื่อกมธ.2ล้านล.-แก้รธน.

มีรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งให้นายสาโรจน์ หงส์ชูเวช รองผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย กำชับไปยังรัฐมนตรี ส.ส.ส่วนหนึ่งของพรรคที่เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งที่เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ห้ามขาดการประชุมเด็ดขาด และต้องมียุทธศาสตร์การอภิปรายในชั้นกรรมาธิการ หากใครขาดการประชุมให้รายงานโดยตรงมาที่นายกฯ และสั่งให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วิทยาศาสตร์ รับผิดชอบจัดหาอาหารให้กับกรรมาธิการ หลังจากพรรคเพื่อไทยมีคำสั่งไปยังคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ในสภาฯให้งดการเดินทางไปต่างประเทศ

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่สภาผู้แทนราษฏร ได้ผ่านวาระแรก มีกระแสข่าวว่า นายสมศักดิ์ เตรียมที่จะงดประชุมสภาในวันพุธที่ 10 เม.ย. และวันพฤหัสบดีที่ 11 เม.ย. โดยอ้างว่าใกล้เทศกาลสงกรานต์ จึงเปิดโอกาสให้ส.ส.ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะประชาชนในช่วงเทศกาล และจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับการปิดประชุมสภา หลังจากครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา ปิดการประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. เป็นต้นไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็เท่ากับว่าสภาจะไม่ได้พิจารณากฏหมาย หรือญัตติที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนอีกแล้วในสมัยประชุมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น