ประชุม กมธ.แก้ รธน.มาตรา 68 และ 237 นัดแรกวุ่น ปชป.วอล์กเอาต์ เหตุ ส.ส.เพื่อไทยไม่สนใจข้อท้วงติง ปิดประชุมสภาโดยไม่มีการลงมติถือว่าผิดข้อบังคับการประชุม รีบดันตั้ง “ดิเรก” นั่งประธาน กมธ. “วิรัตน์” เล็งยื่นศาล รธน.วินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 เม.ย.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237 นัดแรก โดยมี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรค พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมชั่วคราว ซึ่งในที่ประชุมได้มีมติเลือกตั้งคณะทำงาน โดยเลือกให้นายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธานคณะกรรมาธิการ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1 พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 3 นายวิทยา บุรณศิริ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 4 นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ รองประธารคณะกรรมาธิการคนที่ 6 และเว้นวรรคให้สมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 2 และคนที่ 5
นายประสาท ตันประเสริฐ เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ นายรณเทพ อนุวัฒน์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการคนที่ 1 และเว้นวรรคให้สมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการคนที่ 2 นายขจิตร ชัยนิคม, นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์, นายภราดร ปริศนานันทกุล, นายอนุรักษ์ นิยมเวช และสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ และ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ โดยมีนายพีระ มานะทัศน์, นายสมชาติ พรรณพัฒน์ พร้อมด้วยสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
ทั้งนี้ จะมีการประชุมนัดที่ 2 ในวันพุธที่ 10 เมษายนนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.ถึงเวลา 17.00 น.
อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้มีการหารือก่อนเริ่มประชุมโดย 3 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ได้ท้วงติงถึงการปิดการประชุมร่วมรัฐสภาและเรื่องสภาล่มในการลงมติรับรองแปรญัตติใน 60 วันเมื่อคืนนี้ว่าผิดข้อบังคับการประชุมและขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรจะมีการประชุมคณะกรรมาธิการในครั้งนี้ ซึ่ง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ก็ได้โต้แย้งว่าเป็นไปตามข้อบังคับและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้วจึงขอให้มีการประชุมคณะกรรมธิการต่อ ทำให้ 3 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์วอล์คเอาท์จากห้องประชุมทันทีเพื่อแถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าว ขณะที่การประชุมยังคงเดินหน้าต่อไป
นายวิรัตน์กล่าวว่า ตามข้อบังคับการประชุมในการปิดประชุมเมื่อคืนนี้จำเป็นต้องมีการลงมติจากสมาชิกรัฐสภาก่อนแม้ไม่มีผู้เห็นแย้งก็ตาม ดังนั้นการปิดประชุมจึงมิชอบและกระบวนการต่อมาจึงถือว่าขัดรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งมีผลเท่ากับว่ายังไม่มีการปิดการประชุมร่วมรัฐสภา โดยจากนี้ตนจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับกรรมธิการส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะทำอย่างไรต่อ ส่วนเรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นทีมกฎหมายได้เตรียมไว้หลายเรื่องแล้ว แต่กำลังรวบรวมหลักฐานอยู่
ด้านนายวรงค์กล่าวว่า ในการขอมติรับรองแปรญัตติใน 60 วันนั้น ในการลงมติปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ ประธานรัฐสภาจึงรวบรัดให้แปรญัตติ 15 วันตามข้อบังคับ ซึ่งไม่สามารถทำได้
ด้านนายนิพิฏฐ์มองว่า เมื่อองค์ประชุมไม่ครบมติย่อมไม่สมบูรณ์จึงเสนอให้คณะกรรมาธิการทั้ง 3 คณะนำเรื่องทั้งหมดมาพิจารณาในการประชุมร่วมรัฐสภาใหม่เพื่อให้ถูกต้องตามข้อบังคับ ไม่เช่นนั้นการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นโมฆะ