xs
xsm
sm
md
lg

ถกชำเรา รธน.ไม่รู้จบ ปชป.โวยไม่ไว้ใจอัยการ พท.บลัฟ “มาร์ค” เคยแก้เขตเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
ประชุมกรรมาธิการชำเรารัฐธรรมนูญ ปชป.โวยแก้ ม.237 เลิกยุบพรรค แต่ไม่มีให้ลงโทษคนผิดหนักๆ ม.68 บีบให้ฟ้องอัยการ เสียงอ่อนเจอซีกเพื่อไทยงัดมุก “อภิสิทธิ์” เคยแก้เขตเลือกตั้งยังทำได้ “ถาวร” ฉะไม่ไว้ใจอัยการ เพราะหากินกับรัฐ ควรเปิดสิทธิ์ “โรมานอฟ” แก้เกี้ยวเตรียมแส้ฟาดอัยการแก้เรื่องเกียร์ว่าง คราวหน้าเตรียมเชิญ “โภคิน-สุรพล-บิ๊กบัง” คุย

วันนี้ (10 เม.ย.) ที่อาคารรัฐสภา 2 ห้อง 213-214 เมื่อเวลา 13.00 น.มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237) มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระที่ประชุมได้มอบตำแหน่งรองประธาน รองโฆษก ให้กับกรรมาธิการในซีกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้วอล์กเอาต์ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ โดยจะทำหน้าที่ในส่วนของกรรมาธิการเท่านั้น

จากนั้นนายดิเรก ได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยกล่าวถึงสาระและเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ มาตรา 237 เนื่องจากผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญที่ตนเป็นประธานได้สรุปการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ซึ่งรวมถึง 2 มาตรานี้ด้วย เพราะหากไม่มีการแก้ไขบ้านเมืองจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะมาตรา 68 หากศาลรัฐธรรมนูญมาปิดประตูอีก ก็จะทำให้เกิดระเบิดอีกครั้ง

ส่วนที่มองว่าสาเหตุหลักแก้มาตรา 68 เพื่อเปิดช่องให้รัฐสภาได้โหวต มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในวาระ 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภานั้น ไม่เป็นความจริงเพราะถึงไม่มีการแก้มาตรา 68 รัฐบาลก็ตัดสินใจจะโหวตอยู่แล้ว เพราะมองว่าเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ตนได้บอกไปยังฝ่ายรัฐบาลว่าอย่าเพิ่งโหวต ควรแก้ทีละมาตราตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ควรแก้ทีละเล็กทีละน้อย แล้วแก้เรื่อยๆ ก็จะสามารถทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากตัวแทนประชาชน อีกทั้งยังลดกระแสต่อต้านได้ นอกจากนี้ตนยังได้อ่าน มาตรา 68 อย่างละเอียดก็ยืนยันว่าการแก้ไข มาตรา 68 ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แต่เป็นการแก้ไขเพื่อให้บ้านเมืองเกิดทางออก

เมื่อประธานพูดจบ ทำให้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง กรรมาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวโต้แย้งว่า ตนก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ซึ่งนายดิเรก พูดความจริงไม่หมด เพราะข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้ระบุในเรื่องการยุบพรรค มาตรา 237 ว่าให้ลงโทษหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคที่รู้เห็นการกระทำให้เกิดการทุจริต จะต้องถูกตัดสิทธิ์ให้ยาวขึ้นและลงโทษให้หนักขึ้น แต่ร่างแก้ไขฯ ที่นายดิเรก นำมาเสนอในครั้งนี้กลับไม่มีการเสนอแก้ไขแบบเดียวกับผลสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ส่วนมาตรา 68 ตนอยากให้ไปอ่านหนังสือ เรื่อง “หลักการตีความ” ของนายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือที่ตีความกฎหมายดีที่สุดในประเทศ และได้เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 68 ที่เสนอไว้ 2 ทาง คือ 1. ยื่นผ่านอัยการสูงสุด (อส.) 2.ยื่นผ่านศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ในต่างประเทศหากมีการตีความกฎหมายไว้ 2 ทาง ส่วนใหญ่ก็จะเพิ่มสิทธิของประชาชนไม่มีประเทศไหนที่ตัดสิทธิ์ประชาชนเลย

นายดิเรก ได้แย้งกลับว่า สาเหตุที่ไม่ได้พูดตามข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพราะเป็นเรื่องรายละเอียด แต่ตนเห็นชอบในแนวหลักการ เพราะมิเช่นนั้นในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้แก้ไขเรื่องเขตเลือกตั้ง ซึ่งตนเสนอให้ ส.ส.มีจำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่นายอภิสิทธิ์ ก็เสนอให้ ส.ส.เขต 375 คน ขณะที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ตนก็ยังเห็นชอบในหลักการและพา ส.ว.ไปโหวตสนับสนุน ถึงแม้ตนจะไม่เห็นชอบในรายละเอียดก็ตาม

จากนั้นที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยมีผลสรุปตรงกันเป็นเอกฉันท์ ให้แก้ไขมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง แต่ยังถกเถียงกันว่าควรเพิ่มโทษกรรมการรบริหารพรรคให้หนักขึ้นหรือไม่ ขณะที่ มาตรา 68 ต่างมีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน โดยเฉพาะฝ่ายที่คัดค้านพุ่งประเด็นไปที่การตัดอำนาจของประชาชน และไม่ไว้วางใจในการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุด

โดย นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยในการแก้ไขมาตรา 237 ยกเลิกการยุบพรรคการเมือง แต่ให้ลงโทษหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ที่มีส่วนรู้เห็นในการทุจริตการเลือกตั้ง ส่วนคณะกรรมการบริหารพรรคที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิดก็ไม่ต้องรับผิดเหมือนในปัจจุบัน ส่วนสาเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 68 เพราะอัยการสูงสุด เนื่องจากตนเป็นอัยการมา 19 ปี จึงเห็นว่าแม้อัยการสูงสุดจะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแต่ก็หาผลประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ อาทิ เข้าไปเป็นบอร์ด รับโบนัส รับเบี้ยประชุม รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ค่าเครื่องบิน โดยฝ่ายบริหารถือว่าเป็นเจ้าหนี้ ส่วนอัยการสูงสุดถือว่าเป็นลูกหนี้ ที่ต้องมาใช้บุญคุณ ดังนั้นหากมีเรื่องร้องเรียนมาที่ฝ่ายบริหาร อัยการสูงสุดอาจละเลย ไม่ทำงาน และช่วยเหลือรัฐบาล ดังนั้นตนเห็นว่าควรเปิดสิทธิให้ประชาชนอีกหนึ่งช่องทาง

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าจะทำอย่างไรให้อัยการสูงสุดทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดกรอบ การกลั่นกรองสำนวนการร้องเรียนต้องทำภายในกี่วัน เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่อ้างว่าอัยการสูงสุดถ่วงเวลา

จากนั้นนายดิเรก ได้นัดประชุมครั้งหน้าในวันที่ 24 เม.ย. เวลา 13.00 น.โดยเบื้องต้น กมธ.จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาตรา 68 และ 237 มาหารือตามช่วงจังหวะเวลา อาทิ ผู้ร้องและผู้ถูกร้อง เช่น นายโภคิน พลกุล ตัวแทนผู้ถูกร้อง และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนผู้ร้อง ตัวแทนอัยการสูงสุด ตัวแทนเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ตัวแทนสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 และ ส.ส.ร.ปี 2550 นักวิชาการ รวมถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช.เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น