xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรธน.นัดถกด่วนวันนี้ รับ-ไม่รับคำร้องยุบปชป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 เม.ย.) นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัย ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ได้ส่งนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และพวกรวม 11 คน เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237 และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน สั่งให้กรรมาธิการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 11 คน หยุดทำหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ว่า เบื้องต้นขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการตรวจสอบเอกสารเนื้อหาของคำร้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้เสนอคำร้องดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันนี้ (11 เม.ย. ) เวลา 14.00 น. เพื่อพิจารณาว่า จะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมนัดพิเศษที่กำหนดขึ้นเพื่อพิจารณาคำร้องที่เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน และจากการนำเอกสารแจ้งการประชุมต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังไม่มีตุลาการฯคนใดแจ้งขอลา หรืองดเข้าร่วมการประชุม ดังนั้นเป็นไปได้ว่า การประชุมในวันนี้ ( 11 เม.ย.) องค์ประชุมน่าจะครบ 9 คน

**ลุ้นองค์ประชุมอย่างน้อย5 คน

รายงานข่าวแจ้งว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่พบว่ามีตุลาการคนใดยื่นหนังสือลาประชุม แต่ก่อนหน้านี้ ก็มีตุลาการบางคนเดินทางไปต่างประเทศ และก็มีบางส่วนที่ครั้งที่แล้วมีการพิจารณารับคำร้องนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ลาประชุม เพราะเดินทางไปต่างประเทศ ได้เดินทางกลับมาแล้ว
ดังนั้นจึงไม่แน่ว่าในการเรียกประชุมด่วนของคณะตุลาการในวันนี้ จะมีตุลาการเดินทางมาประชุมถึง 5 คน ที่จะถือเป็นองค์ประชุมพิจารณคำร้องหรือไม่ และ 5 คนที่อาจจะเดินทางมา จะเป็นองค์คณะเดียวกับที่พิจารณารับคำร้องนายสมชาย หรือไม่ แต่ทั้งนี้หากตุลาการฯ เดินทางมาประชุมไม่ถึง 5 คน ก็จะไม่สามารถประชุมได้ และการพิจารณาคำร้องดังกล่าวก็ต้องเลื่อนออกไป
อย่างไรก็ตาม หากตุลาการฯมาไม่น้อยกว่า 5 คน ซึ่งถือเป็นองค์ประชุมที่สามารถประชุมได้ ก่อนที่จะมีการพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย คณะตุลาการฯ ก็จะต้องมีการพิจารณาคำคัดค้านการเป็นองค์คณะในการวินิจฉัยคำร้องนี้ของตุลาการทั้ง 8 คน ที่มีคำวินิจฉัยในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ยกเว้น นายจรัญ ภักดีธนากุล ก่อน ซึ่งโดยวิธีการแล้ว ที่ประชุมจะมีการพิจารณาการคัดค้านตุลาการเป็นรายๆไป ว่า รายนี้คำคัดค้านรับฟังได้หรือไม่ สมควรที่จะไม่ได้เป็นองค์คณะหรือไม่ จนครบทั้ง 8 คนที่ถูกคัดค้าน และดูว่าตกลงแล้วเหลือตุลาการที่ที่ประชุมเห็นว่าสามารถทำหน้าที่เป็นองค์คณะพิจารณาคำร้องนี้ได้เท่าใด หากเหลือไม่ถึง 5 คน การพิจารณาคำร้องนี้ ก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน จนกว่าจะได้ตุลาการเป็นองค์ประชุมครบ 5 คน

** นัดโหวตกรอบเวลาแปรญัตติ 18เม.ย.

นายอำนวย คลังผา ส.ส. ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรอบเวลาวันแปรญัตติ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับ ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอให้แปรญัตติใน 60 วัน ว่า ตนได้ประสาน เพื่อหารือกับนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา และประธานวิปรัฐสภาแล้ว โดยทางวุฒิสภาไม่ขัดข้อง หากจะมีการเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ เพื่อลงมติในญัตติดังกล่าว และล่าสุดนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จะออกหนังสือเรียกสมาชิกรัฐสภา เพื่อประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 18 เม.ย. นี้ ในเวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาวันแปรญัตติ จากนั้นเวลา 13.00 น. จะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระต่อไป
นายอำนวย กล่าวด้วยว่า แม้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 96 จะให้แปรญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใน 15 วัน แต่เมื่อมีความเห็นต่างในที่ประชุม ก็ต้องมีการลงมติโดยใช้เสียงข้างมากของที่ประชุม ว่าจะเห็นด้วยกับการแปรญัตติใน 60 วันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประชุมกรรมาธิการไปแล้วก็คงไม่มีผลกระทบ เพราะหากเดิมทีฝ่ายค้านจะประสงค์ลงมติในวันแปรญัตติ จะต้องกดบัตรแสดงตนในที่ประชุมให้ครบองค์ประชุมเพื่อลงมติ เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่จะต้องแปรญัตติใน 15 วัน แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงติงถึงการลงมติในกรอบเวลาการแปรญัตติอยู่ ก็คงต้องประชุมเพื่อลงมติเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป
ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เตรียมเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติในเรื่องการแปรญัตติ ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทักท้วงไปนั้น เนื่องจากเกรงว่าจะถูกยื่นถอดถอน เพราะการใช้ดุลพินิจของนายสมศักดิ์ แต่เดิมที่เห็นว่าญัตติดังกล่าวตกไปแล้วนั้น เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม อยากทวงถามความรับผิดชอบของนายสมศักดิ์ ที่มักวินิจฉัยผิดพลาดในที่ประชุมบ่อยครั้ง ว่าจะรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตัวเองอย่างไร

**กมธ.ถกแก้ไขรธน.มาตรา 68 และ237

เมื่อเวลา13.00น. วานนี้ (10 เม.ย.) ที่อาคารรัฐสภา 2 ห้อง 213-214 มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ....(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237) มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน
ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระที่ประชุมได้มอบตำแหน่งรองประธาน รองโฆษก ให้กับกรรมาธิการในซีกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้วอลก์เอาต์ ในการประชุม เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ โดยจะทำหน้าที่ในส่วนของกรรมาธิการเท่านั้น
จากนั้น นายดิเรกได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยกล่าวถึงสาระ และเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ มาตรา 237 เนื่องจากผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญที่ตนเป็นประธาน ได้สรุปการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ซึ่งรวมถึง 2 มาตรา นี้ด้วย เพราะหากไม่มีการแก้ไข บ้านเมืองจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะมาตรา 68 หากศาลรัฐธรรมนูญมาปิดประตูอีก ก็จะทำให้เกิดระเบิดอีกครั้ง
ส่วนที่มองว่า สาเหตุหลักแก้ มาตรา 68 เพื่อเปิดช่องให้รัฐสภาได้โหวต มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในวาระ 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภานั้น ไม่เป็นความจริง เพราะถึงไม่มีการแก้มาตรา 68 รัฐบาลก็ตัดสินใจจะโหวตอยู่แล้ว เพราะมองว่าเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ตนได้บอกไปยังฝ่ายรัฐบาลว่า อย่าเพิ่งโหวต ควรแก้ทีละมาตรา ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ควรแก้ทีละเล็กทีละน้อย แล้วแก้เรื่อยๆ ก็จะสามารถทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากตัวแทนประชาชน อีกทั้งยังลดกระแสต่อต้านได้
นอกจากนี้ตนยังได้อ่าน มาตรา 68 อย่างละเอียด ก็ขอยืนยันว่า การแก้ไข มาตรา 68 ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เป็นการแก้ไขเพื่อให้บ้านเมืองได้มีทางออก
เมื่อประธานพูดจบ ทำให้นานนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง กรรมาธิการ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวโต้แย้งว่า ตนก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ซึ่งนายดิเรก พูดความจริงไม่หมด เพราะข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้ระบุในเรื่องการยุบพรรค มาตรา 237 ว่า ให้ลงโทษหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ที่รู้เห็นการกระทำให้เกิดการทุจริต จะต้องถูกตัดสิทธิ์ให้ยาวขึ้น และลงโทษให้หนักขึ้น แต่ร่างแก้ไขฯที่ นายดิเรก นำมาเสนอในครั้งนี้กลับไม่มีการเสนอแก้ไขแบบเดียวกับผลสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ
ส่วนมาตรา 68 ตนอยากให้ไปอ่านหนังสือ เรื่อง “หลักการตีความ” ของนายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือที่ตีความกฎหมายดีที่สุดในประเทศ และได้เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 68 ที่เสนอไว้ 2 ทาง คือ 1.ยื่นผ่านอัยการสูงสุด (ออส.) 2. ยื่นผ่านศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ในต่างประเทศหากมีการตีความกฎหมายไว้ 2 ทาง ส่วนใหญ่ก็จะเพิ่มสิทธิของประชาชน ไม่มีประเทศไหนที่ตัดสิทธิประชาชนเลย
นายดิเรก ได้แย้งกลับว่า สาเหตุที่ไม่ได้พูดตามข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพราะเป็นเรื่องรายละเอียด แต่ตนเห็นชอบในแนวหลักการ เพราะมิเช่นนั้นในสมัยที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้แก้ไขเรื่องเขตเลือกตั้ง ซึ่งตนเสนอให้ส.ส.มีจำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่นายอภิสิทธิ์ ก็เสนอให้ ส.ส.เขต 375 คน ขณะที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ตนก็ยังเห็นชอบในหลักการ และพาส.ว.ไปโหวตสนับสนุน ถึงแม้ตนจะไม่เห็นชอบในรายละเอียดก็ตาม
จากนั้นที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยมีผลสรุปตรงกันเป็นเอกฉันท์ ให้แก้ไข มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง แต่ยังถกเถียงกันว่า ควรเพิ่มโทษกรรมการรบริหารพรรคให้หนักขึ้นหรือไม่
ขณะที่ มาตรา 68 มีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน โดยเฉพาะฝ่ายที่คัดค้านพุ่งประเด็นไปที่การตัดอำนาจของประชาชน และไม่ไว้วางใจในการทำหน้าที่ของอัยการ โดยนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยในการแก้ไขมาตรา 237 ยกเลิกการยุบพรรคการเมือง แต่ให้ลงโทษหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ที่มีส่วนรู้เห็นในการทุจริตการเลือกตั้ง ส่วนคณะกรรมการบริหารพรรคที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิด ก็ไม่ต้องรับผิดเหมือนในปัจจุบัน
ส่วนสาเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 68 เพราะอัยการสูงสุด เนื่องจากตนเป็นอัยการมา 19 ปี จึงเห็นว่าแม้อัยการสูงสุดจะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็หาผลประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ อาทิ เข้าไปเป็นบอร์ด รับโบนัส รับเบี้ยประชุม รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ค่าเครื่องบิน โดยฝ่ายบริหารถือว่าเป็นเจ้าหนี้ ส่วนอัยการสูงสุดถือว่าเป็นลูกหนี้ ที่ต้องมาใช้บุญคุณ ดังนั้นหากมีเรื่องร้องเรียนมาที่ฝ่ายบริหาร อัยการสูงสุดอาจละเลย ไม่ทำงาน และช่วยเหลือรัฐบาล ดังนั้นตนเห็นว่า ควรเปิดสิทธิให้ประชาชนอีกหนึ่งช่องทาง
พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่า จะทำอย่างไรให้อัยการสูงสุดทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดกรอบ การกลั่นกรองสำนวนการร้องเรียนต้องทำภายในกี่วัน เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่อ้างว่าอัยการสูงสุดถ่วงเวลา
จากนั้นนายดิเรก ได้นัดประชุมครั้งหน้า ในวันที่ 24 เม.ย. เวลา 13.00น. โดยเบื้องต้น กมธ.จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาตรา 68 และ 237 มาหารือตามช่วงจังหวะเวลา อาทิ ผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง เช่น นายโภคิน พลกุล ตัวแทนผู้ถูกร้อง และ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนผู้ร้อง ตัวแทนอัยการสูงสุด ตัวแทนเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ตัวแทนสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 และ ส.ส.ร.ปี 2550 นักวิชาการ รวมถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น