ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -"การจัดการควบคุมน้องสาวทั้งสองในฐานะตัวแทนทางการเมืองเป็นเหมือนเชือกที่ถูกดึง เพื่อทิ่มแทงประเทศไทย ที่มีการบริหารแปลกประหลาดและน่าละอายอย่างที่สุดที่ได้อนุญาตให้ความเป็นผู้นำของประเทศถูกไฮแจ็กไป โดยคนไม่ปกติ ร่ำรวย และทะเยอทยาน ผู้เนรเทศตัวเองอยู่ในดูไบ"
บทวิเคราะห์ของ ฟิลิป เจ. คันนิงแฮม นักวิจัยทางด้านสื่อสารมวลชนและนักเขียนอิสระ ในหัวข้อ "ทักษิณพูดมากก็จริง แต่มีใครฟังบ้างหรือเปล่า ? " ซึ่งตีพิมพ์ใน เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ หนังสือพิมพ์ของฮ่องกง โดยนสพ.ไทยโพสต์ นำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา
บทวิเคราะห์ดังกล่าวมีเนื้อหาเสียดแทงใจดำ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พอสมควร โดยเฉพาะการระบุว่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังมีปัญหาในกรณีรายงานทรัพย์สินที่บกพร่อง ซึ่งทำให้ตำแหน่งนายกฯ ของเธออยู่ในอันตราย แต่นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาวของเธอก็ได้รับการวางตัวไว้ทดแทนแล้ว”
"แม้ว่าไหวพริบทางด้านการทำธุรกิจทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐี แต่ทักษิณ ยังมีประวัติหมกมุ่นกับตัวเองอย่างเซ่อซ่า และนิยมใช้ความแตกแยกของประชาชนเพื่ออำนวยให้กับเป้าหมายของตัวเอง"
นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ยังระบุอีกว่า “น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับความนิยมมากกว่าทักษิณเสียอีก ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสคริปต์ เมื่อตอนที่ทักษิณตั้งเธอขึ้นสู่อำนาจ และสิ่งที่เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ เมื่อทักษิณพูด ไม่มีใครฟังอีกแล้ว การโฆษณาชวนเชื่อโดยการสไกป์แผนนิรโทษกรรมได้หายไปกับสายลม และได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อยจากสังคม โดยผลโพลระบุว่ามีคนเห็นด้วยเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”
ทำให้ทักษิณโกรธตัวสั่น จนต้องโพสต์รูปตัวเองในหน้าเฟซบุ๊ก
ที่สำคัญบทวิเคราะห์ยังได้อธิบายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อตัวเอง
แต่ความไม่แนนอนทางการเมือง โดยความพยายามผลักดันให้ส.ส.ในสังกัด สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย ทำให้ต้องมีแผนนำร่องในการยืดอำนาจรัฐบาล
นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ จึงกลายเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย หมายเลข 2 แทนที่ ส.ส.ในสังกัดที่ลาออกไปตามคำสั่ง
โดยไม่แคร์ว่า จะต้องใช้เงินอีก 10 ล้านบาท จัดการเลือกตั้ง
เหตุผลสำคัญก็คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบกรณีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ปล่อยเงินกู้ 30 ล้านบาทให้บริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ จำกัด ที่มีนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามีถือหุ้นอยู่
หากไม่มีการยืมเงินจริง แสดงว่า ยิ่งลักษณ์ได้สร้างเอกสารเท็จ นั่นหมายถึงการส่งเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง
ศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเป้าของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
สำนักข่าวอิศรา ได้ตีแผ่ข้อมูลแสดงให้เห็นถึง “การสร้างเอกสารเท็จ” ก็คือ การคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 30 ล้านบาท
โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า มีเงินให้กู้ยืมเงินจำนวน 30 ล้านบาท มีตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดย บริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ จำกัด โดย น.ส.สุมิตรา อิงคผาติ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เป็นหลักฐาน ได้แก่ ฉบับแรก วันที่ 6 ตุลาคม 2549 จำนวน 20 ล้านบาท ฉบับที่ 2 วันที่ 9 มีนาคม 2550 จำนวน 5 ล้านบาท ฉบับที่ 3 วันที่ 13 มีนาคม 2550 จำนวน 5 ล้านบาท
ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 3 ฉบับ ระบุว่า คิดดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประจำ 1 ปี ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
“อัตราดอกเบี้ย”ดังกล่าวเมื่อเทียบกับงบการเงินของบริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ จำกัด ที่ส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตั้งแต่ปี 2550-2555 พบว่าไม่สอดคล้องกัน ในช่วงปี 2550-2553 กล่าวคือ
ปี 2550 ปีสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2550 หมายเหตุประกอบงบการเงินบริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ จำกัด ระบุการคิดอัตราดอกเบี้ยไว้ว่า “เงินกู้ยืมจากบุคคลอื่น คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.50-3.75 ต่อปี”
ปี 2551 ปีสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2551 หมายเหตุประกอบงบการเงิน ระบุว่า “เงินกู้ยืมจากบุคคลอื่น คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.50-3.75 ต่อปี”
ปี 2552 ปีสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2552 หมายเหตุประกอบงบการเงิน ระบุว่า “เงินกู้ยืมจากบุคคลอื่น คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1-3 ต่อปี”
ปี 2553 ปีสิ้นสุด วันที่ 30 เมษายน 2553 หมายเหตุประกอบงบการเงิน ระบุว่า “คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.75 -1 ต่อปี (ปี 2552:ร้อยละ 1-3 ต่อปี)”
นั่นแสดงว่า ไม่มีรายการกู้ยืมที่คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ยิ่งลักษณ์ให้กู้ยืมแต่อย่างใด
แต่เพิ่งแก้ไขให้สอดคล้องกันในปี 2554 -2555 ทั้งๆที่กู้ยืมกันตั้งแต่ปี 2549 และ 2550
โดยใน ปี 2554 ปีสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2554 (ส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าวันที่ 19 กันยายน 2554) หมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 7 ระบุเงินกู้ยืมระยะยาวจากบุคคลอื่น “เป็นเงินกู้ยืมจากบุคคลอื่น คิดดอกเบี้ยตามประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ของสถาบันการเงิน”
ปี 2555 ปีสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2555 (ส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าวันที่ 25 กันยายน 2555) หมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 8 ระบุ เงินกู้ยืมระยะยาว “เป็นเงินกู้ยืมจากบุคคลอื่น คิดดอกเบี้ยตามประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีของสถาบันการเงิน”
ทั้งนี้ บริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ จำกัด โดย น.ส.สุมิตรา อิงคผาติ ส่งงบการเงินรอบปี 2554 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าวันที่ 16 กันยายน 2554 (กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับวันที่ 19 ก.ย.2554)
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.วันที่ 2 ส.ค.2554 และกรณีเข้ารับตำแหน่งนายกฯ วันที่ 10 ส.ค. 2554 โดยยื่นพร้อมกันทั้งสองตำแหน่งวันที่ 1 ก.ย.2554
โดยคนที่ทำบัญชีให้บริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ จำกัด คือเครือญาติผู้บริหารระดับสูงของพรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้สถานะการเงินของบริษัทแอ็ด อินเด็กซ์ ไม่ดีเอาเสียเลย
โดยระหว่างปี 2542-2550 มีผลประกอบการขาดทุนติดต่อกัน 8 ปี
โดยในปีที่ยิ่งลักษณ์ให้กู้ยืมคือปี 2549 มีรายได้ 8,036,772 บาท รายจ่าย 9,138,422 บาท ขาดทุนสุทธิ 2,575,493 บาท
ปี 2550 มีรายได้ 4,918,100 บาท รายจ่าย 8,973,180 บาท ขาดทุนสุทธิ 5,254,283 บาท
นั่นทำให้ยิ่งลักษณ์ เร่งผลักดันพรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทำให้อดีต ส.ส.ร.ส่งหนังสือขอกล่าวโทษนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เนื้อหาระบุว่า “ขอกล่าวโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ครม.นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กระทำการอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ด้วยเหตุที่กระทำการที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ”
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติโดยเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 รับคำร้องกรณีสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ขอให้วินิจฉัยว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กับคณะ กระทำการที่ส่อไปในทางกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการยกเลิกความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า คำร้องนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าผู้ที่ถูกร้องที่ 2 ถึง 312 คน ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ.... ต่อประธานรัฐสภา เพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แล้วเสนอเนื้อความใหม่ที่เป็นการยกเลิกสิทธิของประชาชน ในการที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไป คงเหลือแต่เพียงให้บุคคลผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงประการเดียว และให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่นนอกเหนือจากการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันเป็นการลิดรอนสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชน มีมูลกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบมาตรา 68 วรรคสอง กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 50 ข้อ 17 (2) ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
โดยมีตุลาการที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้มีเพียง 5 จาก 9 คน ประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์, นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 3 คนที่เห็นว่าควรให้รับคำร้องคือนายจรัญ ภักดีธนากุล, นายจรูญ อินทจาร, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 2 เสียงที่เห็นว่าไม่ควรรับคำร้องคือ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
นั่นหมายความว่า หากยิ่งลักษณ์ถูกชี้มูลว่า ทำเอกสารการกู้ยืมเป็นเท็จจริง นายกฯสำรองอย่างเยาวภา ก็พร้อมที่จะสวมตำแหน่งแทน
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระทำการของส.ส. และ ส.ว. 312 คน ส่อไปในทางกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญจริง
สมการอำนาจการเมืองไทย...อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง !!