xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” รอด! ป.ป.ช.ไม่รับพิจารณาคดีปล่อยกู้สามีนอกสมรส 30 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ไม่รับพิจารณาคดี กรณีนายกฯ ปล่อยเงินกู้ 30 ล้านบาทให้บริษัทของสามีนอกสมรส ระบุไม่มีพฤติการณ์จงใจปกปิด “กล้าณรงค์” เผยแถลงข่าวยืนยันเพราะมีข้อสงสัยผ่านสื่อ และรับทราบข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเสนอมา แต่ไม่มีคำร้อง


วันนี้ (4 เม.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แถลงข่าวกรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปล่อยเงินกู้ 30 ล้านบาท ให้บริษัท แอ็ดอินเด็กซ์ ของนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามีนอกสมรส ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีมติเอกฉันท์ไม่รับพิจารณาคดี ตามความเห็นของคณะทำงาน โดยระบุว่าพฤติกรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ให้บริษัทแอดอินเด็กซ์กู้ 30 ล้านบาทมีอยู่จริง แต่ไม่มีพฤติการณ์จงใจปกปิด หรือแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินเป็นเท็จ เพราะมีหลักฐานการชำระการเงินกู้จริง และเมื่อตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ไม่พบความผิดปกติใดๆ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการทำงานของ ป.ป.ช.นั้น ไม่ถูกกดดันจากฝ่ายใด และให้เก็บข้อมูลไปเปรียบเทียบอีกครั้งกับการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหากออกจากตำแหน่ง

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษก เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์รับทราบรายงานจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งสส.เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2554 และเข้ารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2554 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 263 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 มาตรา 34 จากกรณีให้บริษัทแอ็ด อินเด็กซ์ จำกัด กู้ยืมเงินจำนวน 30 ล้านบาท โดยจะไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแต่อย่างใด
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบในแต่ละประเด็นพบว่า ประเด็นที่1.การกู้เงินยืม 3 ครั้งรวม 30 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้กู้เงิน 3 ครั้งจริงได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 6 ต.ค.2549 จำนวน 20 ล้านบาท ครั้งที่2 วันที่ 9 มี.ค.2550 จำนวน 5 ล้านบาท และครั้งที่ 3 วันที่ 13 มี.ค.2550 จำนวน 5 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 ครั้งบริษัทฯมีหลักฐานการกู้ยืมเงินจริงเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับที่ 01/2549 ฉบับที่ 01/2550 และ ฉบับที่ 02/2550

ประเด็นที 2 สถานที่ออกตั๋วและรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 3 ฉบับทำขึ้นที่บริษัทฯทำขึ้นตามวันที่มีการกู้เงินกัน แม้รูปแบบของตั๋วสัญญาใช้เงินจะมีรูปแบบและเนื้อความคล้ายกันโดยแตกต่างกันตรงตัวเลขที่ตั๋วและวันที่ออกตั๋ว แต่นั่นเป็นเพียงรูปแบบของตั๋วสัญญาใช้เงินที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

ประเด็นที่ 3 งบการเงินของบริษัทฯ เดิมเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ได้ตั้งประเด็นเอาไว้ว่าในรายงานงบดุลของบริษัทฯ ในปี 2549 ไม่พบรายงานการกู้ยืมเงินแต่ไปปรากฏว่าในงบดุลของบริษัทฯแต่ไปปรากฏว่าในงบดุลของบริษัทฯ ในปี 2550 โดยจากการตรวจสอบพบว่างบดุลของบริษัทฯ มีรอบระยะเวลาเริ่มวันที่ 1 พ.ค.และสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.ของปีถัดไป ดังนั้น การกู้ยืมเงินจากน.ส.ยิ่งลักษณ์จำนวน 30 ล้านบาทตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.2549 ถึงวันที่ 13 มี.ค.2550 ทำให้งบดุลปี2549 สิ้นสุด ณ 30 เม.ย.2549 จึงยังไม่ปรากฏข้อมูลเงินกู้ยืมจากบุคคลอื่น โดยจำนวนเงินกู้ยืมเงินทั้งหมดจะมาปรากฏในปีงบดุลปี 2550 ณ วันที่ 30 เม.ย.2550 แทน

ประเด็นที่ 4 การกำหนดอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจะไม่ตรงกัน กล่าวคือ ในตั๋วสัญญาใช้เงินกำหนดดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ขณะที่ในงบดุลของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 เม.น.2550 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เงินในอัตรา 2.5-3.75% ต่อปี แต่จากการตรวจสอบพบสาเหตุที่อัตราดอกเบี้ยไม่ตรงกันเพราะในครั้งแรกบริษัทฯขอกู้เงินจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยตกลงกันว่าจะขอคิดดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประจำ1ปี แต่ภายหลังจากมีการกู้ยืมเงินกันทางบริษัทฯได้ทำข้อตกลงกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใหม่

โดยได้ตกลงกันว่าเงินกู้เงินจำนวน 20 ล้านบาทตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกขอคิดอัตราดอกเบี้ยใน 2 ปีแรกในอัตรา 2.50%ต่อปี ส่วนในปีต่อไปให้คิดดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำ 1 ปี ของธนาคารกรุงไทย ตามที่ปรากฏตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ส่วนเงินกู้อีก 2 ฉบับ ฉบับละ 5 ล้านดังกล่าวได้ตกลงกันว่าให้คิดอัตราดอกเบี้ยของอัตราเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารกรุงไทย ซึ่งในปี 2550 อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.75%ต่อปี ดังนั้น การจัดทำงบดุลของบริษัทฯในปี 2550 มีอัตราดอกเบี้ยหลายอัตรา ดอกเบี้ยในรายการงบดุลจึงต้องลงอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่มีการกู้ คือ 2.5% และสูงสุดที่มีการกู้ คือ 3.75%ต่อปี ด้วยเหตุนี้ทำให้การบันทึกอัตราดอกเบี้ยในงบการเงินของบริษัทฯจึงต้องระบุว่ามีอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 2.5-3.75%ต่อปี

ประเด็นที่ 5 การชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ป.ป.ช.ได้ตั้งประเด็นเอาไว้ว่ารายการเงินให้กู้ยืมเงินนั้นส่อเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ โดยการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันบริษัทฯ ยังไม่มีการชำระเงินต้น 30 ล้านบาทแต่ได้ตกลงชำระดอกเบี้ยให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ และได้ชำระแล้ว 5 ครั้ง ได้แก่ครั้งที่ 1 วันที่ 15 ก.ย.2553 ครั้งที่ 2 วันที่ 13 ต.ค.2553 ครั้งที่ 3 วันที่ 13 พ.ย.2553 ครั้งที่ 4 วันที่ 13 ธ.ค. 2553 และครั้งที่ 5 วันที่ 4 เม.ย.2555 ซึ่งทุกครั้งมีหลักฐานเป็นเช็คทั้งหมด
สำหรับสาเหตุที่ทำการชำระดอกเบี้ยในปี 2553 ทั้งที่บริษัทฯได้กู้เงินจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ตั้งแต่ 2549 เพราะนายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียน และกรรมการบริษัทฯ ได้ตกลงกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าจะชำระดอกเบี้ยเมื่อบริษัทฯเริ่มมีสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งบริษัทฯ เริ่มมีสภาพคล่องทางการเงินในปี 2553 จึงได้เริ่มชำระดอกเบี้ยให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์

“เมื่อพิจารณาจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของผู้ยื่น รวมทั้งได้ตรวจสอบยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานและการให้ถ้อยคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง วินิจฉัยได้ว่ากรณีรายการเงินให้กู้ยืมเงินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ระบุให้บริษัทแอ็ด อินเด็กซ์ จำกัดกู้ยืมเงิน 30 ล้านบาท นั้นมีอยู่จริง ดังนั้น กรณีประเด็นที่ปรากฏเป็นข่าวยังฟังไม่ได้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542” นายกล้านรงค์ กล่าว

นายกล้านรงค์ ยังเปิดเผยผ่านทางโทรศัพท์มือถือว่า การแถลงข่าวของ ป.ป.ช. วันนี้ไม่มีการยกคำร้องกรณีการปล่อยเงินกู้ 30 ล้านบาทของนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีคำร้อง แต่เป็นการแถลงข่าวยืนยันข้อมูลการตรวจสอบของ ป.ป.ช. พบว่านายกรัฐมนตรี ไม่มีพฤติการณ์การแจ้งเท็จปกปิดข้อเท็จจริงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเรื่องการปล่อยเงินกู้ดังกล่าว ดังนั้น ที่ประชุม ป.ป.ช. จึงมีมติรับทราบและเก็บข้อมูลประกอบการตรวจสอบต่อไป และถือเป็นการตรวจสอบตามปกติที่ ป.ป.ช. ต้องตรวจนักการเมืองทุกคนที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

ส่วนสาเหตุที่ ป.ป.ช.ต้องมาแถลงข่าวกรณีนี้ เพราะก่อนหน้านี้ มีข้อมูล ข้อสงสัย ปรากฏบนหน้าสื่อ จึงต้องแถลงให้ทราบ โดยสรุปการประชุมของ ป.ป.ช.เป็นการรับทราบข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเสนอมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบถึง 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2554 นายกฯ ไม่มีพฤติการณ์ปกปิดทรัพย์สินและหนี้สิน และยืนยันเป็นการตรวจสอบตามขั้นตอนปกติ


กำลังโหลดความคิดเห็น