xs
xsm
sm
md
lg

มติศาล รธน. 6:3 “วราเทพ” ไม่ขาดคุณสมบัติ รมต. ชี้ไม่เคยจำคุกจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ให้ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ระบุโทษจำคุกคดีหวยบนดิน ศาลมีคำพิพากษาแล้วจึงค่อยมารับตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะเดียวกันอยู่ในระหว่างการลงโทษ ไม่ได้จำคุกจริง จึงไม่เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อ่านคำวินิจฉัย 

วันนี้ (1 ก.พ.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา และคณะรวม 24 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรี ของนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (3) ( 5) ประกอบมาตรา 174 (5) หรือไม่ เนื่องจากต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้จำคุก 2 ปี โดยให้รอลงอาญา 2 ในคดีทุจริตหวยบนดิน โดยนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับมอบหมายได้อ่านคำวินิจฉัยว่า มติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียงเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายวราเทพ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

ทั้งนี้ข้อเท็จจริงประกอบคำร้องฟังได้ว่านายวราเทพ ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 55 และเคยเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่อม.10/2552 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2555 ให้จำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่โทษจำให้รอการลงโทษ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ซึ่งการวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายวราเทพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ รัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง( 3) บัญญัติว่า ต้องคำพิพากษาให้จำคุกแม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สิ้นสุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด หรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท จะเห็นได้ว่ากรณีต้องคำพิพากษาจำคุกดังกล่าวจะต้องเป็นขณะที่ดำรงตำแหน่งรมต.จึงจะเป็นเหตุให้สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

แต่กรณีของนายวราเทพ ต้องพิจารณาประกอบมาตรา 182 วรรคหนึ่ง(5) ที่ได้บัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรมต.ว่าให้นำรัฐธรรมนูญมาตรา 174 (5) ที่ระบุว่า ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษมาพิจารณาด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้คนที่เป็นรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีคุณลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรมต. อย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาของการดำรงตำแหน่ง โดย (5)ของรัฐธรรมนูญมาตรา 174 บัญญัติว่า ต้องไม่เคย ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

ขณะที่มาตรา 182 วรรคหนึ่ง ( 3) บัญญัติว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุกแม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สิ้นสุด หรือมีการรอการลงโทษ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการกำหนดลักษณะต้องห้ามเพราะเหตุเคยต้องคำพิพากษาไม่ได้เป็นการห้ามโดยเด็ดขาด แต่ให้เข้าดำรงตำแหน่งได้เมื่อพ้นโทษมา 5 ปี การบัญญัติเช่นนี้เข้าข่ายตัดสิทธิเสรีภาพชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด และโดยเหตุแห่งการสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (3 (5) อยู่ในมาตราเดียวกัน การพิจารณาความหมายของคำว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตามาตรา 182 (3) (5) ประกอบมาตรา 174 (5) จึงต้องพิจารณาเปรียบเทียบกัน เมื่อมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (3 ) บัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุด หรืออยู่ระหว่างรอการลงโทษ แสดงว่ารัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ให้รัฐมนตรี หากต้องคำพิพากษาให้จำคุก ในขณะดำรงตำแหน่งต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีทันทีแม้คำพิพากษานั้นยังไม่ถึงที่สุด หรือคำพิพากษานั้นให้รอการลงโทษก็ตาม

ขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 174 (5) บัญญัติไว้เพียงว่า ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ก่อนได้รับตำแหน่ง ไม่ได้มีถ้อยคำขยายลักษณะของการต้องคำพิพากษาให้จำคุก ดังเช่น มาตรา 182 (3)“การเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 174 (5) จึงเป็นเพียงการกำหนดเงื่อนไข เงื่อนเวลา ของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แม้จะถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (5) การพิจารณาความหมายของการเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 174 (5 ) จึงต้องมีความหมายต่างจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (3) เพราะมีการบัญญัติคำขยายที่ต่างกัน เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (5) ประกอบมาตรา 174 (5) ไม่ได้มีคำขยายความว่า”การเคยต้อง”คำพิพากษาให้จำคุก รวมถึงกรณีคำพิพากษานั้นยังไม่ถึงที่สุด หรือรวมถึงศาลให้รอการลงโทษไว้ด้วย การเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (5) ประกอบมาตรา 174 (5) จึงต้องหมายความว่าให้จำคุกจริงเท่านั้น “เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่าการเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 174 (5) หมายความรวมถึง กรณีการที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกโดยรอการลงโทษไว้ด้วย การพิจาณาการเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตามรัฐธรรมนูญ 174 (5 ) จึงต้องเป็นกรณีที่จำคุกจริง ไม่ได้ความว่าเป็นกรณีที่ศาลรอการลงโทษไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีหมายเลขแดงที่อม. 10/2552 ลงวันที่ 30 กันยายน 52 ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี จึงถือไม่ได้ว่าผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตามรัฐธรรมนูญ 174 (5) ศาลรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายวราเทพ ไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (3 ) (5) ประกอบมาตรา 174 (5)

ด้านนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อย 3 เสียง ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และนายจรัญ ภักดีธนากุล โดยทั้งหมดเห็นว่า ต้องหมายรวมถึงโทษการรอลงอาญา รวมถึงต้องดูเจตนารมณ์ของถ้อยคำในข้อกฎหมาย ขณะที่เสียงข้างมากแม้จะเห็นว่ากฎหมาย มีเจตนาให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องได้พ้นโทษจำคุกมาเกินกว่า 5ปี แต่การจำคุกนั้นต้องเป็นการจำคุกจริง ไม่ใช่การรอลงอาญา

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนที่ศาลจะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ที่ประชุมได้ใช้เวลาในการหารือร่วมกันนานกว่า 2 ชั่วโมง โดยได้มีการพูดคุยในประเด็นและข้อกฎหมาย มาตรา 182 และ 174 ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติข้อความไว้ที่แตกต่างกัน ซึ่งตุลาการฯเสียงข้างน้อย 3 เสียง เห็นว่า บุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีราคี ไม่ควรที่จะต้องมีคดีติดตัวมาก่อน โดยตุลาการ 2 ใน 3 เสียง นี้ เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญและทราบถึงเจตนารมณ์ เป็นอย่างดี แต่ตุลาการเสียงข้างมาก ควรพิจารณาตีความเพียงตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้เท่านั้น

ด้าน นายวราเทพ กล่าวว่า ตนคิดว่าเมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นการดี ในเรื่องของข้องกังวลในการทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งก็ต้องขอบคุณตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ได้วินิจฉัยในเรื่องนี้ให้เป็นบรรทัดฐาน ตนเชื่อมั่นว่าการตีความของศาลรัฐธรรมนูญนี้จะมีการมองได้หลายมุม อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การทำหน้าที่ก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

“ขอบคุณตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่ยึดหลักการในเรื่องของการตีความรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในข้อขัดแย้งในรัฐธรรมนูญโดยตรงอย่างเคร่งครัด และขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้กรุณาเลือกผมเข้ามาในตำแหน่งเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว โดยเชื่อมั่นว่าคุณสมบัติครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกิดขึ้นก็ได้เป็นเรื่องการทำงาน ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องการทุจริต ถึงแม้จะมีข้อกล่าวหาว่าทุจริตก็ตาม จริงๆ แล้วคำว่าทุจริตมันถูกมองไปในแง่ลบ โดยคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็วินิจฉัยออกมาชัดเจนว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์ และโครงการหวยบนดินทำเพื่อประโยชน์ของเด็กผู้ยากจน” นายวราเทพ กล่าว

ส่วนกรณีที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีในเร็วๆนี้แทนตำแหน่งของนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกฯ และ รมว.ท่องเที่ยวฯนั้น นายวราเทพ กล่าวว่า การปรับ ครม.เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว และตำแหน่งที่ว่างลงก็ไม่ใช่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี








กำลังโหลดความคิดเห็น