ประธาน กมธ.เสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิ ร่วม 7 ส.ส.ปชป.และ 11 ส.ว. ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ จี้แสดงบทบาทแก้น้ำโขงกรณีเขื่อนไซยะบุรี หลังไม่พบบรรจุญัตติในที่ประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง วอนทบทวนมติ ครม.ให้ กฟผ.ซื้อไฟฟ้า โวยระบบพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ดีที่สุดในโลกกำลังจะถูกทำลาย
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 12.00 น. นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว. สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) เสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมี ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ 7 คน และ ส.ว.11 คน ร่วมกันลงชื่อ เช่น น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงบทบาทในการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง ในกรณีเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากการประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขงที่จะเกิดขึ้น โดยมีผู้แทนจากประเทศไทย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่พบว่ามีการบรรจุวาระเรื่องปัญหาดังกล่าวที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการสร้างเชื่อนไซยะบุรี และถึงแม้ว่าเขื่อนดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ประเทศไทยถือว่ามีส่วนรวมกับการสร้างเขื่อนดังกล่าวอย่างชัดเจน เพราะผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัท ช.การช่าง โดยได้รับเงินกู้จากธนาคารของประเทศไทยอีก 6 แห่ง
นายประสารกล่าวต่อว่า ส.ส.และส.ว.ที่ร่วมกันลงนามในจดหมายฉบับนี้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติหลักการให้ กฟผ. หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงนามซื้อไฟฟ้าได้คือเมื่อผ่านกระบวนการ MRC แต่ในความจริงแล้ว กฟผ.ได้ไปลงนามซื้อไฟฟ้าในขณะที่กระบวนการดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติ อีกทั้งกระบวนการแจ้งและปรึกษาหารือล่วงหน้ายังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทั้งนี้ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีข้อมูลว่ามีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,280 เมกะวัตต์ และไทยโดยกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับซื้อในปริมาณสูงถึง 90% ของการผลิต รวมทั้งการสร้างเขื่อนดังกล่าวยังส่งผลผลกระทบมหาศาล ถึงระบบนิเวศที่ดีที่สุดในโลก ระบบพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกกำลังจะถูกทำลาย และการสร้างเขื่อนไซยะบุรีอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำโขงและระบบนิเวศน์วิทยาข้ามพรมแดนตามมา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องตระหนักว่าผลกระทบต่อความมันคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศ หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนอย่างมีนัยสำคัญตามรัฐธรรมูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 190 วรรคสอง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งกรณีดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแต่อย่างใด