xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ชี้นายใหญ่กลัวเผยไต๋เหตุแก้ รธน. ถึงสั่งประชามติ-จี้ รบ.แจงปมทุจริตศึกซักฟอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
“ประสาร” จวก รบ.ถูก “นช.แม้ว” สั่งการเดินตามหมากแก้ รธน. ให้ประชามติ ยังไม่แก้เป็นรายมาตรา หวั่น ปชช.รู้ทันทำเพื่อตัวเอง มั่นใจไม่สำเร็จ “สมชาย” ย้ำประชามติคือทางออก ศาล รธน.วินิจฉัยไม่ใช่ปรึกษา เตือนอำนาจเหนือ รธน.คือ ปชช. รัฐสภามาจาก รธน.จะแก้ รธน.เองไม่ได้ ดัก ม.261 หน้าที่สภา แต่ห้ามแก้ทั้งฉบับ สะกิด กกต.ทำประชามติสะอาด ส.ว.บุรีรัมย์ชมกองทัพเรือแก้ต่างทันทีหลังถูกซักฟอก บี้ รบ.เร่งเคลียร์ข้อหา “วิชาญ” ติง รบ.-กฤษฎีกา ปชช.บ่นไร้ส่วนร่วมร่าง กม.สิทธิ-เสรีภาพ

วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนางพรทิพย์ โลห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ โดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นบางบอนเรียงมาตรา หรือปฏิญญาเขาใหญ่ ในที่สุดก็ต้องสิโรราบให้ดูไบประกาศิต ความจริงศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ทางสว่างไว้แล้วว่า โดยลำพังรัฐสภาสามารถแก้ไขรายมาตราได้ แต่ผู้ที่แก้ไขก็ไม่เลือก แต่เลือกวิถีทางซึ่งเป็นปัญหา เพราะการแก้ไขเรียงมาตราเป็นวิธีที่หงายไพ่ โปร่งใส เปิดเผยว่าต้องการจะลบล้างมาตรา 309 ใช่หรือไม่ เพื่อต้องการยกเลิกองค์กรอิสระ หรือควบคุมให้อยู่ในอำนาจ ซึ่งกำลังทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเข้มข้นอยู่ รวมถึงการจะไปยกเลิกมาตรา 66 และ 67 ให้อำนาจชุมชนพิทักษ์ดิน น้ำ ป่า อากาศ ไว้อย่างแข็งขัน แต่เป็นวิธีการที่เผยไต๋มากเกินไปจึงไม่เลือก อยากเรียนว่าประกาศิตดูไบ ประชามติเดินหน้าไปเลยประชาชนจะได้เรียนรู้ เข้าใจได้อย่างชัดแจ้ง ตนไม่ใช่หมอดู แต่บอกได้ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะมีความล้มเหลวเป็นที่หมาย

ส่วนนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา หารือว่า การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ การขัดแย้งของรัฐบาลกับแกนนำ นปช. จะโหวตคว่ำวาระ 3 หรือเดินหน้าโหวตวาระ 3 แต่ตนคิดว่าการลงประชามติที่คนทางไกลเสนอมาชอบแล้ว การเดินหน้าประชามติเป็นทางออกของบ้านเมืองตอนนี้ ในฐานะที่เป็นผู้เข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ตนยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญให้คำวินิจฉัย ไม่ใช่ให้คำปรึกษา ซึ่งศาลเห็นว่าอำนาจสูงสุดในการสถาปนาองค์กรสูงสุดทางบ้านเมืองและอำนาจที่จะทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เป็นของประชาชน ซึ่งมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นไปไม่ได้ที่องค์กรที่รับอำนาจจากรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหมือนการแก้กฎหมายอื่นตามรัฐธรรมนูญ

นายสมชายกล่าวต่อว่า รัฐสภาเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ การตรารัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการลงประชามติโดยประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ต้องกล่าวย้ำเพราะมีการสับสนในการให้ข่าวของผู้ที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าการออกเสียงประชามติเป็นแค่สิทธิ ไม่ใช่หน้าที่ การไม่ไปออกเสียงประชามติไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ แต่จะผิดถ้ากระทำผิดตามมาตรา 43 และมาตรา 38 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 จึงขอให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างโปร่งใส ยุติธรรม เมื่อผลออกมาอย่างไรก็ต้องเคารพตามนั้น

ด้านนายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ กล่าวว่า การอภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านที่ผ่านมา ฝ่ายค้านได้นำเสนอกรณีที่น่าจะมีการทุจริตในโครงการตามแผนงานต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การประมูลข้าวตามโครงการรับจำนำ การฟื้นฟูสร้างและซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะถนนในภาคอีสาน ซึ่งได้ระบุอย่างชัดเจนว่ามีโครงการใดบ้าง และใครเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ทั้งตัวบุคคล นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่ขณะนี้รัฐบาลไม่มีการสอบสวนและแถลงต่อสาธารณชนว่าข้อมูลที่ฝ่ายค้านอ้างเป็นจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขอชมเชยกองทัพเรือหลังจากถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ได้แถลงในวันรุ่งขึ้น โดยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้แถลงอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นอยากขอให้รัฐบาลได้เร่งรัดในเรื่องนี้

ขณะที่นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา หารือถึงการยกร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ของรัฐบาลว่า ขอเรียนไปยังคณะรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สืบเนื่องจากการพิจารณากฎหมายต่างๆ ของวุฒิสภา พบว่ามีเสียงบ่นจากภาคประชาชนว่ากฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ได้เชิญภาคประชาชนเข้าร่วมหรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งตนคิดว่าเป็นการยกร่างฝ่ายเดียวและคิดว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่ยกร่างกฎหมายคงไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ ซึ่งถ้าได้อ่านก็จะทราบว่าเจตนารมณ์ของทั้ง 2 หมวดดังกล่าวต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะยกร่างกฎหมายฉบับใดก็ตามขอให้คำนึงถึงสิทธิของประชาชนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น