“เฉลิม” รับยากได้ 25 ล้านเสียงในการทำประชามติ เหน็บพวกเดียวกันอย่าเพ้อเจ้อ พร้อมสอนเชิงการเมือง สิ่งใดที่เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งควรทำที่หลัง ชี้ดันแก้ รธน.สะสมปัญหาทำ “นายกฯ ปู” เหนื่อย เชื่อหากคะแนนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่ง ฝ่ายไม่เห็นด้วยจะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบงบฯ 2 พันล้านที่ละเลงไปกับการทำประชามติ อ้างยกเลิก ม. 309 “นช.แม้ว” ไม่ได้ประโยชน์ เหตุไม่มีผลต่อคดีที่ตัดสินไปแล้ว แต่คดีที่ค้างอยู่นับสิบ ไม่ยอมพูดถึง
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมาในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนการทำประชามติว่า ในเรื่องนี้หากพรรคให้ช่วยในการรณรงค์การทำการประชามติ ตนพร้อมร่วมทำหน้าที่ แม้จะไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่เชื่อว่าประสบการณ์ปราศรัยในพื้นที่ภาคอีสานจะช่วยได้ โดยเบื้องต้นได้ศึกษาจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงลงประชามติในปี 2556 จะมีเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 9 แสนราย ทำให้มีจำนวน 49 ล้านเสียง และจะต้องคะแนนเสียง 25 ล้านเสียงในการออกเสียงประชามติถึงจะผ่าน และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาตรา 9 กำหนดไว้ว่า ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และเสียงที่เห็นด้วยต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ หากมีผู้ออกไปใช้สิทธิไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิก็ถือว่าจบ ซึ่งถือว่ายากมาก แต่ก็ต้องช่วยกัน เพราะตนก็เคยหาเสียงไว้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ
“การที่จะได้เสียงในจำนวนดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องยาก และการเมืองนั้นจะต้องมองบนพื้นฐานความเป็นจริง จะเพ้อเจ้อเพ้อฝันไม่ได้ บางคนอ่านกฎหมายไม่ละเอียดแล้วออกมาพูด และวันนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ฟันธงแล้วว่าจะไม่เอาการทำประชามติ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า การรณรงค์ให้ประชาชนไม่ร่วมทำประชามติจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ต้องดูที่พฤติกรรมว่าอยู่ในลักษณะไหน หากบอกว่าไม่เห็นด้วยก็ไม่ผิด แต่หากสกัดกลั้นใช้วิธีการหนึ่งวิธีการใดให้คนมาใช้สิทธิไม่ได้นั้นถือว่าผิด
ส่วนโอกาสที่รัฐบาลอาจจะกลับลำไม่ทำประชามตินั้น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนไม่กล้าพูด แค่นี้พรรคพวกก็หมั่นไส้กันแย่แล้ว และที่ผ่านมาก็ได้แสดงเหตุผลในที่ประชุมพรรคมาตั้งแต่ก่อนนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่กระบวนการแล้ว อย่างไรก็ตาม หากพรรคพวกจะเดินหน้าทำประชามติ ตนก็ไม่ขัด แม้ว่าในทางการเมืองสิ่งใดที่ขัดแย้งควรจะทำทีหลังก็ตาม หากเป็นเช่นนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก็จะเหนื่อย เพราะกำลังทำงานไปได้ดี แต่ต้องมาคอยพะวงเรื่องนี้ ทั้งนี้หากมีการทำประชามติไปแล้วเสียงออกมาไม่เกินกึ่งหนึ่ง แน่นอนว่าต้องมีคนที่ออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลว่าเอาเงิน 2 พันล้านบาทไปใช้โดยเปล่าประโยชน์ต้องรับผิดชอบ เพราะรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ แต่ตอนนี้ยังไม่มีประเด็นเพราะผลยังไม่ออกมา ตอนนี้หากคณะรัฐมนตรีมีมติก็ต้องส่งไปยังรัฐสภา และส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รัฐบาลไม่สามารถแจ้งไปยัง กกต.โดยตรงได้
“เดี๋ยวนี้คนนินทาผมนะว่าอยู่ในตำแหน่งแล้วไม่อยากออก โถอำนาจวาสนา ไม่จำเป็นเลย และถ้าการทำประชามติแล้วคะแนนเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล คนจะมาเรียกร้องความรับผิดชอบ หาว่าเอาเงิน 2,000 ล้านบาทไปทำทำไม รัฐบาลต้องรับผิดชอบ”
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะชี้แจงความไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าวต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์บ้างหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่าคงไม่ได้แจ้ง เกรงว่าจะถูกตำหนิ ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีความเห็นอย่างไรนั้น ตนไม่ทราบ เพราะไม่ได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย
ส่วนหากรัฐบาลจะเปลี่ยนใจไม่ทำประชามติจะถือว่าเป็นการเสียหน้าหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า จะเสียหน้าอะไร เพราะอย่างไรก็จะมีการแก้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว โดยเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้แนะนำมา 2 ช่องทางว่า 1. หากจะแก้ทั้งฉบับก็ต้องทำประชามติ หรือ 2. ให้แก้ไขเป็นรายมาตรา ตรงนี้ถือว่าดีที่ยังไม่ได้โหวตวาระ 3 หากโหวตไปแล้วจะถือว่าผิด ที่สำคัญไม่ต้องไต่สวนนาน เพราะไต่สวนไปแล้ว แต่ที่ยังไม่ผิดเพราะยังไม่ได้ลงมติวาระ 3
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการทำประชามติจริง ถือว่ารัฐบาลเริ่มเดินไปสู่ความเสี่ยงหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ยังไกลไปที่จะประเมิน ถึงตอนนั้นอาจจะชนะก็ได้ต่อข้อถามว่าเคยวิเคราะห์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟังหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ยังไม่ได้เจอ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งแต่ปี 2550 แต่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณติดตามความเคลื่อนไหวผ่านสื่ออยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เป็นการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ตนคิดว่าคนที่มีความคิดเห็นเช่นนี้เป็นคนปัญญาทึบ และหากยกเลิกมาตรา 309 ไปแล้วก็ไม่มีผลกับคดีความที่ตัดสินไปแล้ว จะเอาอะไรไปช่วยได้
“การแก้มาตรา 309 ไม่มีใครได้ประโยชน์ เพราะคดีเสร็จสิ้น และเลยระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ทั้งนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกติกาสูงสุดจะเอาไปโยงกับเรื่องการเมืองไม่ได้ และหากคนในพรรคเพื่อไทยคิดอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นคนปัญญาทึบ ส่วนผมสนับสนุนแนวทางแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะจะสามารถลบข้อครหาได้ เนื่องจากอีกฝ่ายมองว่า พรรคเพื่อไทยพยายามจะแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ หากแก้เป็นรายมาตราจะสามารถชี้แจงได้”