xs
xsm
sm
md
lg

เปิดขั้นตอนแก้ รธน.พรรคเพื่อไทย ปลดล็อกทุกเงื่อนไข-อุ้ม “ทักษิณ” กลับไทยได้แน่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“วราเทพ” เผยเพื่อไทยเดินเครื่องเต็มที่แก้รัฐธรรมนูญ ชี้ 4 เดือนเสร็จ มั่นใจประชาชนลงมติเห็นด้วย เพราะช่องกฎหมายไม่ได้ต้องการ 22 ล้านเสียง แต่ต้องการแค่ 11 ล้านเสียง เตรียมสั่ง “มหาดไทย” ลงพื้นที่รณรงค์ควบ “ส.ส.” พรรค ที่กำลังจะมีการวางยุทธศาสตร์รายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่พลังพรรคยังอ่อน ทั้งนี้เมื่อการลงประชามติเสร็จเรียบร้อย พร้อมนำเข้าที่ประชุมสภาฯ โหวตวาระ 3 มาตรา 291 เดินหน้าตั้ง สสร.แก้ รธน.ดึงทักษิณกลับประเทศไทยภายในปีหน้า โดยไม่มีมลทินติดตัว!

แม้จะอยากดัน พ.ร.บ.ปรองดอง และแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ให้เสร็จโดยเร็วที่สุด และมีเป้าหมายตั้งแต่แรกว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะผลักดันให้เกิดในเดือนธันวาคม แต่ท้ายที่สุดแล้วการจะฝ่าด่านศาลรัฐธรรมนูญแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า ก็ดูท่าจะเสียมากกว่าได้ ดังนั้นผลจึงออกมาที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะลงประชามติถามความเห็นชอบของประชาชนตามขั้นตามตอน ก่อนที่จะเข้าไปสู่การโหวตรับมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญที่จะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ทั้งฉบับ ช้าหน่อย แต่ผ่านฉลุยย่อมดีกว่า!

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรลุเป้าประสงค์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยในที่สุด!

 
เพื่อไทยเดินหน้าลงประชามติ-แค่ 11 ล้านเสียง

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับ “ทีม Special Scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน” ว่าต่อจากนี้ไปการลงประชามติจะดำเนินการตามกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญมาตรา 165 ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552

โดยตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายจะเริ่มจากขั้นตอนแรก คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.จะต้องเป็นผู้ลงมติเห็นชอบให้มีการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะถือเป็นวันเริ่มนับหนึ่ง

จากนั้นภายใน 90 วัน จะต้องออกประกาศว่ารัฐบาลจะมีการให้ประชาชนมาลงประชามติ ซึ่งจะเป็นช่วงของการรณรงค์ให้ประชาชนมาลงมติ โดยในช่วงนี้รัฐบาลจะมอบหมายให้หน่วยงานราชการเป็นผู้ให้ความรู้ประชาชน และรณรงค์ให้มาออกเสียงลงคะแนน โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นหน่วยงานหลักในส่วนนี้

ส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น จะใช้กระบวนการ ส.ส.ในการลงพื้นที่เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนที่มาลงประชามติ ลงมติเห็นชอบในส่วนของการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

“เมื่อดูตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว จะนับจำนวนคะแนนเสียงจากผู้มาใช้สิทธิกึ่งหนึ่ง คือสมมติว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 44 ล้านคน ก็จะต้องมีคนมาลงมติเกิน 50% หรือ 22 ล้านคนขึ้นไป จากนั้นในจำนวนนี้ตามกฎหมายระบุไว้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาจะต้องมีผู้เห็นชอบกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด คือประมาณ 11 ล้านคนเท่านั้น ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจผิดกันอยู่ว่าจะต้องมีเสียงถึง 22 ล้านคน”
 

 
มั่นใจได้รับแรงหนุนจากปชช.-4 เดือนเสร็จทั้งกระบวนการ

นายวราเทพกล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยไม่ห่วงเรื่องการมาลงคะแนนเสียงของประชาชนเลย และอยากให้มองแยกส่วนว่าในการลงประชามตินี้ออกจากการเลือกตั้งปกติ ที่ฐานคะแนนเสียงพรรคเพื่อไทยมีจำนวน 15 ล้านคน เพราะการลงประชามติไม่เกี่ยวกับฐานคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง เพียงแต่ว่าถ้าประชาชนที่ไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยแต่คิดว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาและต้องแก้ไข ก็สามารถลงมติเห็นชอบได้

“จำนวนผู้ที่จะเห็นชอบคือกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดเป็นตัวเลขไม่มาก พรรคค่อนข้างมั่นใจว่า การลงประชามติครั้งนี้ประชาชนจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

จากนั้นเมื่อรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงประชามติแล้ว ขั้นตอนของการลงประชามติจะอยู่ที่ไม่เกิน 120 วัน หลังจากรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนก่อนหน้าไป 90 วัน จึงน่าจะมีการลงมติในช่วงเดือนแรก ซึ่งจะอาศัยระยะเวลาของการลงประชามติครั้งนี้ประมาณ 4 เดือน

จากนั้นก็จะมีการนำผลการลงประชามตินี้ไปเข้าโหวตในมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

“ซึ่งจะเป็นขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องดูว่าเป็นช่วงของการเปิด หรือปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าเป็นช่วงสภาฯ ปิด ก็ต้องรอหลายเดือน ถ้าเป็นช่วงนั้นก็น่าจะมีการเสนอให้มีการจัดประชุมวิสามัญฯ ขึ้นมาเพื่อพิจารณาเป็นวาระพิเศษ”

อย่างไรก็ดี ในเรื่องคะแนนเสียง พรรคเพื่อไทยไม่ห่วงเรื่องการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่าไร โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน มีเพียงแต่ภาคใต้ที่อาจจะมีปัญหาหน่อยเพราะว่าแม้จะมีผู้สมัครฯ อยู่ทุกเขตแต่ก็ยังมีพลังน้อยกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งจุดนี้ทางพรรคเพื่อไทยจะมีการวางยุทธศาสตร์ในการลงพื้นที่แบบเจาะรายภาคอีกครั้งหนึ่ง แต่ตอนนี้รอกระบวนการทางกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน

ทั้งนี้ นายวราเทพเปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยมีความมั่นใจว่าจะได้รับเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด และไม่น่ามีปัญหาขัดข้องอะไรในการแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้

“สิ่งที่เราต้องการ คือแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาไม่เคยมีตัวชี้วัด แต่ถ้าครั้งนี้มีคะแนนประชาชนหนุน การแก้รัฐธรรมนูญก็จะเดินหน้าได้”
 
อีสานปึ้ก-มั่นใจประชามติผ่าน

เช่นเดียวกับ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม ประธานกลุ่มอีสานพัฒนา พรรคเพื่อไทย ที่เชื่อมั่นว่าจะได้รับคะแนนประชามติของภาคประชาชนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างท่วมท้น โดยเชื่อมั่นว่า รัฐธรรมนูญอันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ประชาชนโดยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลก็ต้องอยากได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งต่างจากตอนเลือกตั้งที่มีเพียง 15-16 ล้านเสียงเท่านั้นที่เลือกพรรคเรามา

“พอพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ มั่นใจว่าจะเป็นความต้องการในการแก้ไขของประชาชนทุกคน และพรรคทุกพรรค เราจึงเชื่อว่าจะได้รับการโหวตจากประชาชนในนัยที่ท่วมท้น พรรคทำการเมืองแบบตรงไปตรงมา คือคิดว่าอะไรดี อะไรที่เป็นประโยชน์ ประชาชนก็คงเอาตามนั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีกลยุทธ์อะไรมากมายในการที่จะได้ครึ่งหนึ่งของเสียงประชามติ”

นายไพจิตกล่าวอีกว่า ตนไม่เชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองใดออกมาคัดค้านไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะอยากอยู่แบบเผด็จการ ซึ่งเป็นเรื่องย้อนยุค คนไทยคงเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่คุ้มครองประชาชนตามหลักประชาธิปไตยเท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ในการลงประชามติจึงไม่เชื่อว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น หากจะมีคงมีแค่บัตรเสียหรือโหวตผิดช่องเท่านั้น แต่คนโหวตว่าไม่แก้คงไม่มี จึงไม่ต้องไปวิตกอะไรมาก

ขณะที่ “นายวราเทพ” ทิ้งท้ายไว้ว่า หากพรรคฝ่ายค้านจะรณรงค์ให้ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคฝ่ายค้านก็มีสิทธิที่จะทำ ซึ่งก็คงต้องสู้กันเต็มที่!

อย่างไรก็ดีภายหลังที่กระบวนการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเสร็จสิ้น ในอีก 4 เดือนข้างหน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนี้มีเป้าหมายจะให้สภาฯ สามารถแต่งตั้ง ส.ว. องค์กรอิสระและองค์กรศาลได้ ซึ่งเป็นการครอบงำอำนาจฝ่ายตุลาการเบ็ดเสร็จของฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายบริหาร หลังจากที่ฝ่ายการเมืองสามารถครอบงำองค์กรนิติบัญญัติอย่างเบ็ดเสร็จไปแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีการดัน พ.ร.บ.ปรองดอง ปลดล็อกตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้กลับบ้านอย่างไม่มีมลทินติดตัว และถ้าโชคดีพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงจะได้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านทันในปลายปีหน้า

แต่นั่นอาจเป็น “โชคร้าย” ของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายคงไม่ยอม บ้านเมืองกำลังจะถูกนำไปสู่ความวุ่นวายอย่างหนักอีกครั้ง!

สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 บัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในเหตุดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า กิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้ (2) ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ การออกเสียงประชามติตาม (1) หรือ (2) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติ โดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการ ตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้ ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจการนั้น มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการออกเสียงประชามติ ระยะเวลาในการดำเนินการ และจำนวนเสียงประชามติ เพื่อมีข้อยุติ


กำลังโหลดความคิดเห็น