มีเสียงออกมาเติมน้ำหนักหนุนให้มีการทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้าการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ของรัฐสภาในวาระ 3 แบบทันทีทันใดจากหลายฝ่าย
แม้แต่อภิชาต สุขคานนท์ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งที่ผ่านมากกต.ไม่อยากแสดงความเห็นเรื่องนี้เพราะความเป็นองค์กรอิสระและต้องทำหน้าที่จัดการทำประชาติโดยตรง แต่พอฝ่ายการเมืองไล่ตั้งแต่ทักษิณ ชินวัตร-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร -แกนนำพรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีจะเอาแนวทางการทำประชามติก่อนให้สะเด็ดน้ำให้ผลออกมาอย่างไรก่อน จากนั้นถึงค่อยมาว่ากันในรัฐสภา ประธานกกต.ก็เลยเด้งรับเลย
“การทำประชามติก่อนที่จะลงมติวาระ 3 จะทำให้ประเทศมีความวุ่นวายน้อยลง คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีเป็นทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจจะทำให้ความขัดแย้งลดลง”
ถึงตอนนี้ แม้จะมีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากคนในพรรคเพื่อไทยด้วยกันเองที่ไม่เห็นด้วยกับการจะทำประชามติก่อนการโหวตวาระ 3 โดยเฉพาะพวกส.ส.เพื่อไทยสายนปช.และแกนนำนปช. ที่ออกมาโวยวายทำนองว่าแบบนี้เท่ากับรัฐบาลเพื่อไทยกลัวองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องพลิกท่าทีจากเดิมที่จะเดินหน้าโหวตวาระ 3 ก็จะกลับไปทำประชามติ พวกส.ส.เสื้อแดงเลยบ่นเสียอารมณ์กันใหญ่
กระนั้นก็อย่างที่รู้กัน สำหรับเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พวกส.ส.เพื่อไทย-แกนนำนปช.แม้มีราคาการเมืองทำให้ยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกฯ ทำให้ตระกูล ชินวัตร กลับมาใหญ่อีกครา แต่ก็ไม่มีค่าพอเมื่อถึงจุดที่ทักษิณเห็นว่าหากจะเดินหน้ารีบแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอาจทำให้รัฐบาลพังก่อนเวลาได้
พวกส.ส.เพื่อไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติแม้มีราคาแต่ก็ไม่มีค่าพอให้ทักษิณและตระกูลชินวัตร ต้องสนใจ!
การที่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เริ่มมีท่าทีจะให้ทำประชามติก่อนการโหวตรธน.วาระ 3 จึงเป็นแค่การคิดจะประคองรัฐบาลให้อยู่นานที่สุด ทำนองเพลย์เซฟตัวเองไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
ทว่าหนทางการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลจะออกมาแบบไหน ถึงตอนนี้แม้จะชัดแล้วว่าทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ต้องการให้ทำประชามติก่อนการโหวตวาระ 3 แต่ก็ไม่ได้ทิ้งแนวทางทำประชาเสวนาไปเสียทีเดียว คืออาจพลิกกลับมาเป็นตั้งเวทีเสวนาประชาชนหนุนแก้ไขรธน.ทั่วประเทศเหมือนเดิมแล้วก็ให้รัฐสภาโหวตวาระ 3 ไปก่อนแล้วค่อยทำประชามติก็ยังมีโอกาสขึ้นได้ ยังวางใจอะไรไม่ได้ ท่าทีเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แกนนำเพื่อไทยเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอด
อย่างก่อนหน้านี้ก่อนวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ท่าทีของฝ่ายแกนนำรัฐบาลและแกนนำเพื่อไทยก็บอกว่าให้โหวตวาระ 3 ไปก่อนแล้วค่อยทำประชามติ
พอเริ่มเห็นปัญหารออยู่ตรงหน้ามากมาย ทั้งการสุ่มเสี่ยงจะโดนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกรอบ และแรงต้านมากมายที่พร้อมจะออกมาคัดค้านการลงมติวาระ 3 ก่อนการทำประชามติ
ทำเอาฝั่งเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลก็ถอยร่นแม้แต่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีโภคิน พลกุล เป็นประธาน เดิมทีแนวทางชัด บอกต้องโหวตวาระ 3 ก่อนแล้วค่อยว่ากันเรื่องประชามติ
พอหลังวันรัฐธรรมนูญวันเดียว หลักที่บอกให้โหวตวาระ 3 ไปเลย ชักเป๋ หลักไม่แน่นเหมือนเคย เปิดช่องทางเลือกให้พรรคร่วมรัฐบาลตัดสินใจกันเอง เสมือนกับได้สัญญาณบางอย่างมาจากทักษิณ จากคำแถลงข้อยุติการแก้ไขรธน.5ข้อดังนี้
ข้อยุติ 5 ข้อเรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 คือ
1. รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามวาระ 3
2. คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลตระหนักดีว่า สังคมไทยยังมีความขัดแย้งกันอยู่มาก การลงมติวาระ 3 จึง ควรพิจารณาใช้ช่วงจังหวะเวลาให้รอบคอบ และก่อนลงมติ รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลควรรณรงค์ทำความเข้าใจให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นความจำ เป็นของการแก้รัฐธรรมนูญ
3. สำหรับการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญที่ยังค้างสภาอยู่ในวาระที่3 ได้ มีการบัญญัติเรื่องการลงประชามติไว้แล้ว ว่า เป็นการลงประชามติก่อนจะเป็นกฎหมาย คือ เมื่อส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะนำไปให้ประชาชนลงประชามติว่า จะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ถ้าประชาชน เห็นชอบก็จะเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป เช่นเดียวกับการลงประชามติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ถ้า ประชาชนไม่เห็นชอบ ก็ตกไป ดังนั้นการทำประชามติเมื่อส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประสงค์ มิให้เกิดข้อโต้แย้ง คัดค้านรัฐธรรมนูญ ครมก็อาจจัด ให้มีการออกเสียงประชามติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแข้งและความปรารถนาดี มิใช่ ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบจากครม.หากประชามติไม่ผ่าน หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะ ให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา165 เพิ่มเติมการทำ ประชามติ กรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่น เดียวกัน ทั้งต้องอธิบายให้ชัดเจนด้วยว่า ไม่ใช่การถ่วงเวลาแต่เป็นความรอบคอบโดยจะเร่งรัดดำเนินการไปพร้อมๆกับการรณรงค์ทำความเข้าใจ
4. ในระหว่างนี้ หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ควบคู่กันไปด้วย ก็สามารถทำได้ โดยสมควรที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทุกฝ่ายเห็นฟ้องต้องกันก่อนเช่นมาตรา 237
5. ส่วนกรณีที่ว่า หากมีการลงมติวาระที่ 3 แล้ว จะยังคงมีการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ หรือจะมีกระบวนต่อต้านในรูปแบบต่างๆอีกหรือไม่ เห็นว่า โดยบริบทของสังคมปัจจุบันซึ่งยังคงมีความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอยู่ คงไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะไม่มีเหตุเช่นนั้น แต่รัฐสภาและรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญต่อไป
ข้อสรุปของคณะทำงานชุดโภคินเมื่อ 11 ธันวาคม 2555 ที่ไม่มีการเสนอแนวทางแบบสรุปชัดเหมือนก่อนหน้านี้คือเมื่อ 3 ธันวาคม 2555 ที่บอกชัดกว่าว่าให้โหวตวาระ 3 ได้เลย
จึงทำให้เห็นนัยสำคัญทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่ในโครงสร้างคณะทำงานชุดโภคินได้ว่า การเปิดช่องทางให้เลือกได้หลายๆ ทางและไม่มีการผูกมัดด้วยเงื่อนเวลาว่าต้องทำเมื่อใด ทำแบบไหน ใช้เวลานานแค่ไหน ก็เพื่อผลประโยชน์การเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลล้วนๆ
เช่นหากจะทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 โดยไม่เสนอกฎหมายเฉพาะเรื่องการทำประชามติรัฐธรรมนูญขึ้นมาตามข้อเสนอของคณะทำงานชุดโภคิน
ก็ต้องแก้ไขรธน.มาตรา 165 เพื่อให้การทำประชามติสามารถทำได้ เพราะมาตรา 165 ปัจจุบันไม่เปิดโอกาสให้มีการทำประชามติถามความเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ซึ่งหากใช้วิธีนี้ ก็จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลสบช่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตัวเองและทำลายอำนาจการตรวจสอบนักการเมือง ด้วยการพ่วงมาตราที่ต้องการแก้ไขไปด้วย เช่น มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคและตัดสิทธิการเมืองห้าปีหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อลดอำนาจองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ -ศาลรัฐธรรมนูญติดพ่วงไปด้วยเลยกับการแก้ไข 165
จึงอย่าได้แปลกใจที่ทำไม ท่าทีของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-โภคินและพรรคร่วมรัฐบาลเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในช่วงหลังจึงเปลี่ยนไปมาตลอดเห็นได้จากข้อสรุปคณะทำงานชุดโภคิน ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรมากเป็นการวางเงื่อนไขแบบกว้างๆ เพื่อจะได้ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลไม่ผูกตัวเองไว้กับทางใดทางหนึ่ง จนขยับอะไรไม่ได้ ครั้นถึงเวลาต้องตัดสินใจ จะได้โยนไปว่าเป็นเรื่องของรัฐสภา รัฐบาลไม่เกี่ยว จะได้ให้พรรคร่วมรัฐบาลได้มีรูหายใจไว้หลายๆ รู และไม่ต้องรีบเร่ง หาวิธีการไหนที่แก้รธน.ทำให้ตัวเองมีอำนาจมากขึ้นก็ใช้วิธีนั้น แบบค่อยๆ คิดกันไป
ถึงได้บอกว่า อย่าเพิ่งวางใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะใช้วิธีการทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3จนกว่าจะเห็นความชัดเจนมากกว่านี้
เมื่อดูความเป็นไปต่างๆ “ทีมข่าวการเมือง”วิเคราะห์แล้ว หนทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของรัฐบาลผสม 4 พรรค พรรคเพื่อไทย-ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน-พลังชล เวลานี้มีหนทางความเป็นไปหลักๆหากจะเดินหน้าเรื่องนี้ ตามจังหวะดังนี้
1.เดินหน้าโหวตวาระ 3
ในช่วงประมาณเดือนมีนาคมหรือช่วงใกล้ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฏรที่จะมีการเปิดกันในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ ส่วนการทำประชามติทำหลังส.ส.ร.ยกร่างรธน.ฉบับใหม่เสร็จ
2.แก้ไขรายมาตรา
แต่เป็นแนวทางที่เสียเวลา ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ถูกใจสะใจเพื่อไทยและมวลชนของตัวเองโดยเฉพาะเสื้อแดง แต่ความเสี่ยงน้อย อาจมีเสียงไม่เห็นด้วยบ้างแต่ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะอย่างสมัยประชาธิปัตย์ก็ยังแก้ไขรธน.เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบเรื่องการเลือกตั้ง วิธีนี้หากเปรียบเป็นถนนก็เป็นถนนคอนกรีตราบเรียบอาจต้องระวังลื่นออกนอกถนนบ้างแต่ก็คุมจังหวะได้ ไม่ใช่ถนนลูกรัง เหมือนวิธีแรก
3.โหวตวาระ 3 ไม่เห็นชอบร่างฯแก้ไข 291 ที่ค้างอยู่ในรัฐสภาทำให้ร่างตกไป
แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เสนอร่างกันใหม่ปิดช่องโหว่ทั้งหมดของร่างเดิม แต่เป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ของเพื่อไทยไม่เอาด้วยเพราะเท่ากับพ่ายแพ้ย่อยยับทางการเมือง ทั้งที่กุมเสียงข้างมากในสภาฯ แม้จะมีข้อเสนอนี้ขึ้นมาจากบางส่วนในพรรคเพื่อไทยแต่ไร้เสียงตอบรับ
ความเป็นไปในหมากแก้รัฐธรรมนูญ ของทักษิณและเพื่อไทย แม้ตอนนี้จะชัดแต่ก็ชัดในสภาพที่พร้อมแปรเปลี่ยน จังหวะการรุกได้ตลอดเวลา