xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"กดคลิก"ประชามติ" ดับร้อนแก้รัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทำเอาบรรยากาศการเมืองไทยที่ทำท่าว่าจะร้อนแรงอีกครั้ง เย็นลงไปได้มากโข สำหรับกองไฟรัฐธรรมนูญที่คุกรุ่นค้างเติ่ง อยู่ที่รัฐสภาในวาระ 3 มานานหลายเดือน ที่เมื่อไม่นานมานี้พลพรรคเพื่อไทย ผนึกกับพรรคร่วมรัฐบาล เพิ่งเป่านกหวีดเตรียมจะรื้อกันต่ออีกรอบ
จนแนวร่วมต้านต้องออกมาตีเกราะเคาะไม้ ส่งสัญญาณคัดค้านกันแบบยกแผง ทำเอาคนในรัฐบาลเริ่มเสียงแตกกันไปคนละทิศละทาง
โดยเฉพาะกับบรรดาแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพวกทีมงานยุทธศาสตร์ "สายเหยี่ยว" ที่ออกมาตะโกนสั่งลุยโลด ไม่ต้องสนหน้าอินทร์หน้าพรหม
** บอกแบบไม่ต้องอ้อมค้อมว่า ต่อให้ไม่แก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรคนไม่เอา “ทักษิณ" ก็หาเงื่อนไขอื่นจ้องโค่น "รัฐบาลนอมินี" นี้อยู่ดี ตามประสาคนเหม็นขี้หน้ากัน
ขณะที่อีกพวกที่คิดตรงข้ามกับแนวทางบู๊บ้าบิ่นนี้ ก็หนีไม่พ้นทีมยุทธศาสตร์ "สายพิราบ" ในพรรคเพื่อไทย กับบรรดาเสนาบดี ที่กำลังอิ่มหนำ อยู่ในหน้าที่การงานที่มองว่า เสถียรภาพของรัฐบาล คือสิ่งที่สำคัญที่สุด จึงพร้อมใจกันเชียร์ “ยิ่งลักษณ์” ให้เลือกเดินบนถนนหนทางที่ปลอดภัย อย่าเสี่ยงอะไรแบบโง่ๆ
ใช้จังหวะสานฝันนโนบาย ปั้นผลงานสร้างคะแนนนิยมซื้อใจประชาชนที่ใช้เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กชั้นดีในวันข้างหน้าที่อาจพลั้งพลาด แล้ววันไหนทุกอย่างมันลงตัวแล้วจะเริ่มขยำขยี้ “รัฐธรรมนูญหน้าแหลมฟันดำ” เมื่อไหร่ ก็ยังไม่สาย ตราบใดที่อำนาจยังอยู่ในอุ้งมือ
อีกทั้งในทางตรงกันข้าม วันนี้หากเลือกลุยรื้อ ฉีกชำแหละไปโดยไม่สนใจ หมายเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แบบหวาดเสียวเกี่ยวกับการทำประชามติ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ไม่ต่างกับการจงใจเดินไปสู่กับดักของฝ่ายตรงข้ามที่วางเอาไว้
** ต่อให้ปากกล้าขาสั่น เชื่อมั่นในคำวินิจฉัยแบบเข้าข้างตัวเองของทีมกฎหมายเพื่อไทยมากแค่ไหน แต่ไม่มีใครการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์สักคนว่า เมื่อบรรดาแนวต้านประเคนเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกันอีกหน เรื่องมันจะลงเอยอย่างไร
นี่ยังไม่นับรวมเรื่องภายในของรัฐนาวาลำนี้ โดยเฉพาะในส่วนของความไว้เนื้อเชื่อใจ บรรดาส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะยกมือโหวตให้ในวาระ 3 ให้ เพราะต้องไม่ลืมว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมโดยการลงมติของส.ส.นั้น ผลของการกระทำดังกล่าว อาจนำไปสู่การถอดถอนได้ในภายหลัง หากศาลรัฐธรรมนูญ เคาะเปรี้ยงลงมาว่า “ขัดรัฐธรรมนูญ”
**ตามประสานักการเมืองไทยไม่มีคนไหนไม่รักตัวเอง
ดังนั้นการยอมอดเปรี้ยว ไว้กินหวาน ยอมเสียเวลาย่อมคุ้มค่ากว่าการลุ่ยฝ่าไปในความมืดที่เต็มไปด้วยศัตรูที่เฝ้ารออยู่ระหว่างทาง เพราะอย่างน้อยถึงจะเสร็จช้า ไม่ทันใจ “นายใหญ่” แต่ก็ได้แก้ในสภาวะที่อุ่นใจกว่าตอนนี้ก็แล้วกัน
ดังภาพที่ปรากฏออกมาว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จะยืนจ้อให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญได้แบบมีทิศมีทาง และมีประเด็นมากกว่าครั้งก่อนๆ ที่มักจะโยน จะโบ้ยว่าเป็นเรื่องของรัฐสภาอยู่เสมอ
**รอบนี้ “นารีปู” ลอยหย้าพูดแบบเต็มปากเต็มคำ ชัดๆว่า ให้ทำประชามติ แล้วค่อยลง วาระ 3
ขณะเดียวกัน “นายห้างดูไบ” ที่พเนจรอยู่ฮ่องกง ก็เปิดใจผ่านการปาฐกถาในหัวข้อ “สนทนากับทักษิณ” ที่สถาบันเอเชียโซไซตี้ (ASIA SOCIETY) จัดขึ้นในวันเดียวกันว่า น้องสาวของเขา เลือกจะทำประชามติ
ตามเนื้อเรื่องก็เข้าอีหรอบ พี่-น้อง สนทนาคลิ๊กกันไว้ก่อนแล้ว
สอดคล้องกับหลักฐานตอกย้ำว่า รัฐบาลเลือกแนวทางนี้ กับกรณีที่ “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ถอนเรื่องการชงงบจัดประชาเสวนา จำนวน 168 ล้านบาท ออกจากที่ประชุม ครม. ดื้อๆ ทั้งๆ ที่สัปดาห์ก่อนเพิ่งจะประชุมกันหยกๆ ให้เอาแนวทางจัดประชาเสวนา มาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝ่ายยุทธศาสตร์ข้างกายคงฟันธงกันแล้วว่า “ประชาเสวนา” ไม่ได้มีความชอบธรรมตามบัญญัติไตรยางค์ของกฎหมาย การลุยทำไปอย่างไรก็ไม่พ้นฝ่ายต้านจะหาเรื่องมาเอาผิดอยู่ดี
ผิดกับ “ประชามติ” ที่เป็น “ยันต์กันผี” ไว้ใจได้กว่าเยอะ ทั้งผลทางกฎหมาย และที่สำคัญตรงตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเอาไว้ เมื่อช่วงที่ผ่านมา
เรียกว่า หากรัฐบาลทำ “ประชามติ” แล้วลุยโหวตวาระ 3 นาทีนั้น แนวต้านก็หาข้ออ้างมาเบรกได้ยากเหลือเกิน
ทว่า การเลือกเดินทางนี้ของรัฐบาลก็หาใช่ว่าราบรื่น บริบูรณ์ตลอดทาง เพราะหากพลิกไปมองกฎหมาย เรื่องการทำประชามติ ก็ถือว่าไม่ใช่งานหมูหมู ที่รัฐบาลจะถือธงเข้าวินง่ายๆ
เพราะกรณีการออกเสียงประชามติที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ตามมาตรา 165 (1) ของรัฐธรรมนูญ ระบุ ไว้ว่า การออกเสียงประชามติในกรณีนี้จะต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ และจะต้องมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
**อธิบายแบบง่ายๆ คือ หากมีผู้มีสิทธิออกเสียง 10 ล้านคน ผลการลงคะแนนที่จะทำให้การทำประชามติตรงนี้ผ่านได้ก็คือ 5 ล้านเสียงเป็นอย่างน้อย แต่ความยากมันอยู่ที่ว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวน 10 ล้านคนที่ว่า จะพร้อมใจกันมาลงประชามติในครั้งนี้หรือไม่ ?
เพราะหากมองย้อนไปดูผลการเลือกตั้งส.ส. ทั่วไปเมื่อปี 2554 หรือครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งไหนที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะออกมากันครบร้อยเปอร์เซ็นต์สักครั้ง และหนนี้ ยิ่งมีแนวต้านอย่างพวกที่ไม่เอาด้วยแล้ว ถือว่าผ่านลำบาก
ตามจังหวะที่ “โภคิน พลกุล” ประธานคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล รีบออกตัวมารักษาสถานภาพรัฐบาลว่า การทำประชามติครั้งนี้ ถือเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นหากไม่ผ่านรัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบ
** หรือที่รู้กันทางเกมการเมืองก็คือ “ยุบสภา”
เล่นปล่อยเชิงการเมืองดักคอฝ่ายตรงข้ามกันตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่กันไปเลย
แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่มีทางออก หรือ ทางแถ เพราะแม้รัฐบาลอาจจะผ่านการทำประชามติด่านนี้ไปได้ยาก ด้วยจำนวนที่ถูกกำหนดไว้ในเพดานที่สูงลิ่ว แต่กระนั้นด้วยความที่พรรคมีอดีตนักกฎหมายมหาชน ที่ถนัดพลิกแพลงกฎหมาย และช่ำชองในเรื่องเลี่ยงบาลี
**ไม่แน่ว่างานนี้อาจได้เห็น การพลิกพลิ้วกฎหมายเรื่องการประชามติกันอีกรอบก็เป็นได้ ฉะนั้นต้องจับตา !!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น