xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ขอโทษแก้ไข รธน.ล่าช้า เหตุต้องทำประชามติลดแรงต้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“ยิ่งลักษณ์” อ้างพระราชดำรัสทำบ้านเมืองให้อยู่รอดด้วยความสงบ ยันทำประชามติแก้ไข รธน. พร้อมส่งคนขอโทษ ปชช.เหตุแก้ไขล่าช้า ก่อนโพสต์เฟซบุ๊กย้ำความจำเป็น ขั้นตอนแก้ รธน.วาระ 3 ด้าน ปคอป.ขอถอนวาระเบิกงบฯ 168 ล.จัดเวทีเสวนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 ธ.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปรารภต่อที่ประชุม ครม.ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในความสนใจประชาชน มีการพูดกันกว้างขวางให้เกิดความไม่เข้าใจกัน สิ่งที่รัฐบาลต้องการ คือ สร้างความปรองดอง สร้างความสงบสุข ดูแลปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ตอนนี้มีประเด็นการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 อยู่ในที่ประชุมรัฐสภา ควรหาทางออกเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ประเทศต้องเดินหน้า ขอให้นายวราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกฯ ไปหารือกับประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภา ถึงระบบการลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ว่าด้วยการลงประชามติจะใช้ระบบไหน ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และให้รีบกลับมารายงาน ครม.โดยเร็วที่สุด อยากให้ไปทำความเข้าใจขอโทษพี่น้องประชาชนด้วย ที่สงสัยว่าทำไมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความล่าช้า แต่เพื่อความรอบคอบเราอาจต้องทำประชามติ เพื่อลดแรงเสียดทานจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งที่ประชุมครม.ว่า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ขอถอนวาระการพิจารณาขอเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น จำนวน 168,232,200 บาท ในโครงการจัดเวทีประชาเสวนาหาทางออกประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินงานภายใน 120 วัน พื้นที่ดำเนินการจำนวน 108 จุด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันเดียวกันนี้เมื่อเวลา 18.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า สำหรับรัฐบาล การเดินหน้าผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เราเห็นว่าเรื่องใหญ่คือจะทำอย่างไรให้ประเทศมีทางออก และทำให้เกิดความสงบ เพราะวันนี้เราได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตรัสเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ว่าทำอย่างไรให้บ้านเมืองมั่นคง อยู่รอดไปได้ด้วยความสงบมาปฏิบัติ ดังนั้นจึงเห็นว่าน่าจะต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากที่สุด โดยการมีส่วนร่วมนั้นต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมที่ได้รับการยอมรับ จึงได้มีมติ ครม.ให้กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงมหาดไทย ไปหารือและศึกษาแนวทางการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะมีวิธีไหน ซึ่งก็ได้เสนอ 2 แนวทาง คือ การทำประชาเสวนา และการทำประชามติ จากนั้นให้นำกลับมาเสนอ ครม.ให้พิจารณาโดยเร็วที่สุด ส่วนกระบวนการของรัฐสภาเราคงไม่ไปก้าวก่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น