คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญ นัดถกท่าที “วราเทพ” เผยพรรคอื่นเห็นพ้องทำประชามติก่อน ส่ง “ประชา” แจ้ง ครม.รณรงค์ชำเราก่อนโหวต ใช้ รธน.มาตรา 165 บวก พ.ร.บ.ประชามติ ม.9 ให้คนใช้สิทธิเกิน 23 ล้าน และโหวตผ่าน 11.5 ล้าน ล่าสุดจ้อแถลงการณ์ยันไม่ล่วงหมวดพระมหากษัตริย์-เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ใช้อำนาจรัฐกล่อมชาวบ้าน จี้ทุกฝ่ายยอมรับผล แต่ถ้าประชาชนไม่เอาด้วยรัฐสภาก็มีสิทธิแก้ได้
วันนี้ (14 ธ.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค ได้มีการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อกำหนดท่าทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 หลังจากคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้ส่งรายงานเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณา โดยมีคณะทำงานพรรคร่วมฯ ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง เช่น นายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานพรรคร่วมฯ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมประชุม ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา นำโดย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และนายนิกร จำนง อดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย, พรรคชาติพัฒนา นำโดย นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม ที่เป็นตัวแทน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค ที่ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ, พรรคพลังชล มีนายสันต์ศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดินทางเข้าร่วมประชุม, ในส่วนของพรรคประชาธิปไตยใหม่ มีนายสุรทิน พิจารณ์ เข้าร่วมประชุม ขณะที่ในส่วนของคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นตัวแทนเข้าร่วมรับฟังการหารือในประเด็นที่อาจมีการแก้ไขในส่วนของข้อกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมาย ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวได้ใช้เวลาในการหารือและรับประทานอาหารนานกว่า 1 ชั่วโมง
นายวราเทพกล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะทำงานพรรคร่วมฯ และถือเป็นข้อสรุปที่ตรงกัน หลังจากนี้ พล.ต.อ.ประชา ที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปรายงานต่อ ครม. และจะหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อออกเป็นแนวทางในการรณรงค์ให้ประชาชนรับทราบก่อนทำประชามติภายใน 90-120 วัน ภายหลังจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปหาวิธีการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด
ส่วนแนวทางการทำประชามตินั้น นายวราเทพกล่าวว่า จะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 165 ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 ในมาตรา 9 คือ จะต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ มากว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและต้องได้รับการเห็นชอบมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ ซึ่งขณะนี้มีผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ 46 ล้านคน จึงต้องมีผู้ออกเสียงลงประชามติมากกว่า 23 ล้านคน และต้องได้รับคะแนนประชามติเห็นชอบมากกว่า 11.5 ล้านเสียง จึงถือว่าทำประชามติผ่าน ทั้งนี้ ตนดูแล้วว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนดเพราะการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในความสนใจของประชาชนไม่เหมือนกับการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่ดูเหมือนถูกบังคับให้มาใช้สิทธิ
อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับข้อเสนอการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยระบุว่า ตามที่รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... วาระที่ 1 และวาระที่ 2 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 77 คน และจากการคัดเลือกของรัฐสภา จำนวน 22 คน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยังไม่มีการลงมติในวาระที่ 3 เนื่องจากมีกรณีกลุ่มบุคคลไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวหานั้น
ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย พรรคร่วมรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อศึกษากรณีปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ค้างการพิจารณาอยู่ในวาระที่ 3 นั้นได้กำหนดให้มีการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับข้อแนะนำในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก็ยังอาจมีความไม่เข้าใจหรือความเห็นว่าควรจะมีการทำประชามติเสียก่อนจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลจึงได้เสนอไว้ในรายงานว่า ในกรณีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประสงค์มิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง คณะรัฐมนตรีก็อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความปรารถนาดี มิใช่ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี หากประชามติไม่ผ่าน หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะ ให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เพิ่มเติมการทำประชามติกรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่นเดียวกัน ทั้งต้องอธิบายให้ชัดเจนด้วยว่า ไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่เป็นความรอบคอบ โดยจะเร่งรัดดำเนินการไปพร้อมๆ กับการรณรงค์ทำความเข้าใจ
พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นชอบร่วมกันว่า 1. แม้ว่าการลงมติในวาระที่ 3 จะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรรัฐสภาเท่านั้น แต่หากสมาชิกรัฐสภา หรือประชาชน 50,000 คนที่เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ประสงค์จะให้มีการทำประชามติว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก็ไม่มีช่องทางจะทำได้ คงมีเพียงคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
2. เพื่อให้ข้อเสนอแนะของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีความมุ่งหมายให้เกิดข้อยุติ ลดความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ว่าสมควรจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีความชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมขึ้นหรือไม่ โดยการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะไม่มีการแก้ไขในเรื่องรูปของรัฐ รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์
3. รัฐบาลควรสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง สถาบันการศึกษา องค์กรประชาธิปไตย และองค์กรประชาชนในทุกภาคส่วน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ ชี้แจงต่อประชาชนให้เข้าใจถึงเหตุผลในการจัดทำประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมยิ่งขึ้น
4. การทำประชามติในครั้งนี้ มีความชัดเจนว่า เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง และเป็นความปรารถนาดี เพื่อให้สังคมไทยมีทางออกอย่างละมุนละม่อม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าผลของประชามติออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องถือเป็นข้อยุติ และไม่มีกรณีที่จะอ้างประโยชน์ หรือกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งให้ต้องรับผิดชอบในผลแห่งประชามตินั้น
5. ไม่ว่าผลแห่งประชามติจะออกมาในทางใด ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่ารัฐสภาทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สอดคล้องต่อหลักนิติธรรมได้ตลอดไป
นายจารุพงศ์กล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง จึงให้ครม.จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ได้แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และความปรารถนาดี จึงไม่ใช่ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบของ ครม. หากประชามติไม่ผ่าน หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เพิ่มเติม การทำประชามติกรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่นเดียวกัน และต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า ไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่การดำเนินการเช่นนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และดำเนินการไปพร้อมกับการรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชน
นายจารุพงศ์ยืนยันด้วยว่าจะไม่มีการแก้กฎหมายเพื่อลดจำนวนเสียงประชามติ เพราะหากทำเช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวายแล้วก็ไม่ได้แก้กันพอดี เราเคารพ กติกาจะดำเนินการตามข้อบังคับที่มีหากประชาชนเห็นด้วยก็ให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างขึ้นมาจากนั้นค่อยทำประชามติอีกครั้ง และวิธีการทำประชามติให้ได้เสียงประชาชนมา 23 ล้านเสียงนั้น ในส่วนของพรรคร่วมก็ต้องเดินหน้ารณรงค์และมหาดไทยก็มีเวทีสานเสวนาที่มีนักวิชาการและผู้มีความรู้ มาให้ความรู้แก่ประชาชนและไม่ใช่กลไกของรัฐในการเข้าไปช่วยเพราะมหาดไทยมีโครงการนี้อยู่ก่อนแล้ว
ด้าน นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวว่า หากการทำประชามติไม่ผ่านก็จะไม่แก้ทั้งฉบับ แต่ทั้งนี้เห็นว่ายังสามารถเสนอแก้เป็นรายมาตราได้
ขณะที่ พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนรัฐบาล ที่ได้รับมอบหมายจาก ครม.รับข้อเสนอจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อนำไปดำเนินการเรื่องการจัดทำประชามติ ก็จะรับข้อเสนอดังกล่าวไปดำเนินการ ซึ่งจะพยายามเสนอเรื่องการจัดทำประชามติเข้า ครม.ให้ได้โดยเร็วที่สุดภายในสัปดาห์หน้า
ทางด้าน นายโภคิน กล่าวถึงกรณีการเสนอแนวคิดให้ลดจำนวนเสียงในการทำประชามติว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว จะยังใช้บทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่ในการเดินหน้าทำประชามติคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ พ.ศ. 2552 ส่วนจำนวนเสียงของผู้ออกมาใช้สิทธิในการทำประชามติทีจะต้องให้ได้เกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงนั้น ถือเป็นเรื่องรายละเอียด ยังไม่ขอพูดถึง แต่เราก็ต้องรณรงค์อย่างสุดความสามารถให้ประชาชนออกมามีส่วนร่วมมากที่สุด