xs
xsm
sm
md
lg

พรรคร่วมรัฐบาลจุดไฟข้ดแย้ง ประกาศเจตนารมณ์ลุยแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พรรคร่วมรัฐบาลประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าแก้ รธน. ไม่สนมาจากการออกเสียงประชามติ อ้างเฉยเป็นการบีบบังคับ และการทำรัฐประหาร พท.ยันต้องโหวตวาระเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่าง รธน. เสร็จแล้วทำประชามติ ไม่สนถูกยื่นศาล รธน.ตีความ ด้านโฆษก ภท.ติงการตัดสินใจใดๆ ควรคำนึงถึงคำวินิจฉัย ศาล รธน. และความสงบของประเทศชาติ ระบุช่วงนี้ยังไม่เหมาะที่จะแก้


 คลิกที่นี่ แถลงการณ์ โดย "นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ"  

ที่รัฐสภา วันนี้ (10 ธ.ค.) นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 พร้อมด้วยนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล และนายสันต์ศักย์ งามพิเชษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังชล ในฐานะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่วมกันหารือก่อนแถลงเจตนารมณ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยหลังการหารือในที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก็เป็นผลพวงโดยตรงของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ซึ่งแม้จะมีการอ้างว่ามาจากการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่การออกเสียงประชามติดังกล่าวก็เป็นไปในลักษณะบีบบังคับว่าถ้าหากประชาชนไม่รับคณะรัฐประหาร สามารถนำเอารัฐธรรมนูญในอดีตที่เคยมีมาปรับปรุงแก้ไขแล้วใช้บังคับต่อไปได้ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแบบกึ่งเผด็จการหรือเผด็จการ จึงเป็นที่ปรากฏชัดเจนต่อสังคมว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมือง ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งการได้มาซึ่งบุคคลในองค์กรอิสระต่างๆ ก็ขาดการเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ยังมีการนิรโทษกรรมให้แก่คณะรัฐประหาร และรับรองการประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหาร ตลอดจนการปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศและคำสั่งดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรับธรรมนูญ อันเป็นการขัดต่อความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเองและขัดต่อหลักนิติธรรมโดยชัดแจ้ง

นายจารุพงศ์กล่าวว่า เพื่อให้สังคมได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรมเป็นประชาธิปไตย ค้ำประกันหลักนิติรัฐ นิติธรรม มีสันติสุขและความมั่นคง พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล จึงขอประกาศเจตนารมณ์ ดังนี้ 1. จะร่วมกันพิทักษ์รักษา ส่งเสริม สนับสนุน และธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ จะต้องมีที่มาจากประชาชนโดยประชนมีส่วนร่วมในการจัดทำ ตั้งแต่การยกร่างจนถึงการให้ความเห็นชอบ และ 3. รัฐธรรมนูญ ต้องมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กรอย่างเต็มที่ มีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้านนายภูมิธรรมกล่าวว่า ทางพรรคเองยังไม่ได้มีข้อสรุปรเสนอโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ขอให้มีการศึกษารายงานที่คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลได้ส่งมาก่อน ซึ่งจะมีการประชุมที่พรรคเพื่อไทยในวันพรุ่งนี้ (11 ธ.ค.) คาดว่าจะมีความชัดเจนกว่านี้ในหลายเรื่อง เพราะตอนนี้รายงานดังกล่าวยังไม่ได้ส่งมา

นายวราเทพกล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะทำงานพรรคร่วมฯแล้ว ก็จะได้ส่งรายงานครั้งสุดท้ายให้กับพรรคร่วมฯนำไปหารือกันเองในพรรคอีกครั้ง ว่าแต่ละพรรคมีความเห็นต่อแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทย เบื้องต้นก็มีความเห็นตามแนวทางที่อยู่ในรายงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับฟังความเห็นจากนักวิชาการ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเดินหน้าต่อในการโหวตวาระ 3 เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.ร.ได้ทำงานร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างเสร็จแล้วจึงทำประชามติจากประชาชนว่าจะเอาหรือไม่ ถ้ารับก็ประกาศใช้ ถ้าไม่รับก็ตกไป ส่วนจะมีใครไปร้องศาลรัฐธรรมนูญอีกนั้น ก็ถือว่าเป็นสิทธิ

อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการของ ส.ส.ร.เริ่มต้นไปแล้ว จะมี ส.ว.รวบรวมรายชื่อ ส.ส.และส.ว. เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ตนคิดว่าทำได้ไม่มีข้อห้ามอะไร

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย หนึ่งในพรรคร่วมฝ่ายค้านกล่าวถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลการประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยจะประชุมพูดคุยกันถึงจุดยืนและแนวทางของพรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23-24 ธันวาคม ซึ่งต้องมีมติพรรคว่าจะลงมติอย่างไร หากมีการพิจารณาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เบื้องต้นทางพรรคเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การตัดสินใจร่วมลงมติหรือไม่ ต้องคำนึงถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โทษทางกฎหมายในประเด็นที่ถ้าฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผลให้ถูดถอดถอนหรือไม่ รวมถึงสถานการณ์ของบ้านเมืองเป็นหลัก

โดยทางพรรคภูมิใจไทยจะยึดหลักความสงบ เรียบร้อยของสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก ทั้งนี้การใช้ดุลพินิจของ ส.ส.ในพรรค จะไม่ยึดโยงกับความเห็นของฝ่ายรัฐบาล หรือพรรคประชาธิปัตย์

นายศุภชัยกล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่าช่วงจังหวะนี้ไม่ควรรีบเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นการเร่งสถานการณ์ความไม่สงบของบ้านเมือง นอกจากนั้นแล้วตนมองว่าหากคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจริง เนื้อหาเกินครึ่งน่าจะยังคงเหมือนเดิม ดังนั้น ทางที่ดีควรหารือร่วมกันทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อหาจุดร่วมที่จะไม่สร้างความขัดแย้ง เช่น มาตรา 237 ว่าด้วยเรื่องการยุบพรรค ที่ทุกพรรคการเมืองต่างมีความเห็นร่วมกันว่าควรมีการแก้ไข









กำลังโหลดความคิดเห็น