xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ยังไม่เคาะประชามติ! ตั้งทีมศึกษาก่อน คาด 2-3 สัปดาห์เสร็จ แย้มหัวข้อไปต่อวาระ 3 หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ครม.ตั้ง “ประชา-จารุพงศ์-พงศ์เทพ-วราเทพ” คณะทำงานดำเนินการศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติและประชาเสวนา ก่อนชงเข้า ครม.ให้มีมติส่งสภาต่อ รมว.ยธ.คาดใช้เวลาราว 2-3 สัปดาห์ รมต.สำนักนายกฯ เผยเลขาฯ กฤษฎีกายันโหวตไม่ต้องแก้กฎหมายแล้ว ใช้จำนวนเหมือนเดิม พร้อมนัดประชุมสัปดาห์นี้ โยน กกต.รวมข้อมูลเสวนา แย้มหัวข้อเดินหน้าวาระ 3 หรือไม่ ด้าน มท.1 บอกถูกมอบให้ดูประชาเสวนา รอสิ้นปีรู้จำนวนผู้ใช้สิทธิชัวร์


 คลิกที่นี่ แถลงการณ์ โดย "นายวราเทพ รัตนากร"  

วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า จากที่ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาหาวิธีกระบวนการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด และให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยได้มีการศึกษาเรื่องนี้โดยรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และรับฟังข้อเสนอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งทั้งหมดเห็นตรงกันว่าควรจัดให้มีการทำประชามติ เนื่องจากในการทำประชามติมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควร

พล.ต.อ.ประชากล่าวด้วยว่า ในส่วนของระยะเวลาการทำงานของคณะทำงานดำเนินการศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติ ทั้งในข้อกฎหมายและวิธีการปฎิบัติที่เหมาะสม ตามที่ ครม.มีมติแต่งตั้งนั้นจะใช้เวลาทำงานประมาณ 2-3 สัปดาห์เพราะมีความซับซ้อนหลายเรื่อง รวมทั้งในเรื่องเนื้อหาสาระด้วย

จากนั้น นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ชี้แจงถึงการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการออกเสียงประชามติ โดยยืนยันว่าการทำประชามติมีกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 รองรับในมาตรา 165 ซึ่งการออกเสียงประชามติเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญโดยเกี่ยวกับมาตรา 165 (1) และมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ดังนั้น หากจะมีการทำประชามติไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขกฎหมายใดหรือแก้รัฐธรรมนูญ แต่สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่บัญญัติไว้

นายวราเทพกล่าวอีกว่า ในส่วนข้อถกเถียงว่าผลของประชามติคะแนนที่จะให้ความเห็นชอบจะอยู่ที่เท่าไรนั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันชัดเจนว่าเป็นไปตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมี 2 ขั้นตอน 1. จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และ 2. จะได้เสียงข้างมากหรือเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ หากมีผู้มีสิทธิออกเสียง 46 ล้านเสียง ต้องผู้มาลงคะแนนไม่น้อยกว่า 23 ล้านเสียง และเสียงให้ความเห็นชอบจะต้องมากกว่าครึ่งหนึ่งของ 23 ล้านเสียง

นายวราเทพกล่าวต่อว่า นอกเหนือที่ประชุม ครม.จะมีมติรับทราบผลการศึกษาและความคืบหน้าตามที่กระทรวงยุติธรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องรายงาน และรับทราบขั้นตอนการดำเนินการออกเสียงประชามติว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติตามที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแล้วนั้น เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าเนื่องจากการดำเนินการในเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่ซับซ้อน และแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย อีกทั้งก่อนหน้านี้ ครม.ได้เคยมติให้ทำประชาเสวนาไว้แล้ว จึงได้มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นคณะทำงานดำเนินการศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติและประชาเสวนาว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งในข้อกฎหมายและวิธีการปฏิบัติเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จให้สรุปวิธีการที่เหมาะสม พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ให้คณะทำงานชี้แจงเรื่องนี้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนทราบ

นายวราเทพกล่าวว่า ขั้นตอนในเรื่องนี้ ครม.มีมติมอบหมายให้ไปศึกษาแนวทางข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ และวันนี้ ครม.มีมติตั้งคณะกรรมการเพื่อไปดำเนินการพิจารณาในรายละเอียดข้อกฎหมายและแนวทางที่เป็นไปได้เพื่อนำกลับมาให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 หลังจากนั้นขั้นตอนตามจะต้องมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภา ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า หากมีมติ ครม.ในเรื่องการออกเสียงประชามติให้ปรึกษากับประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภา ที่ประชุมจึงให้นำเรื่องนี้คงจะต้องไปดำเนินการปรึกษาประธานทั้งสอง

นายวราเทพกล่าวว่า เหตุผลที่ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาอีกนั้น เนื่องจากเรื่องนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติระบุว่า การจะออกประกาศใดๆหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องจะต้องจัดทำรายละเอียดที่ชัดเจนในการที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 5 ว่าการประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษาจะต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน ได้แก่ กำหนดหัวข้อเรื่องในการจัดทำประชามติซึ่งจะต้องมีข้อความที่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องนั้นๆ ซึ่งในเรื่องนี้มีความความสำคัญทางกฎหมาย จึงเป็นประเด็นที่จะต้องมีคณะทำงานขึ้นไปดำเนินการพิจาณาให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้

ต่อข้อถามว่า ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการทำงานหรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ครม.ไม่ได้กำหนด แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ และต้องดำเนินการแก้ไขให้เกิดความชัดเจนจึงต้องใช้เวลาอย่างรวดเร็ว แต่เราไม่อาจกำหนดได้ว่าเป็นสัปดาห์หน้าหรือไม่ แต่จะพิจารณาโดยเร็ว แต่จะต้องทำอย่างรอบคอบ โดยจะมีการนัดประชุมคณะทำงานภายในสัปดาห์นี้ โดยคณะทำงานจะแถลงความคืบหน้าเป็นระยะ โดยนอกเหนือจากคณะทำงานจะไปประชุมกันแล้วคงจะไปหารือกับทาง กกต.ในเรื่องของความพร้อมจัดการทำประชามติ

นายวราเทพกล่าวถึงความเห็นต่างในเรื่องของผู้ที่จะออกมาใช้สิทธิการทำประชามติว่า ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้จะต้องหารือหลายฝ่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งสิ่งที่มีความเห็นต่างเราคงนำมาพิจารณา ซึ่งคณะทำงานจะพิจารณาด้วยแต่ขณะนี้ขั้นตอนเรากำลังดำเนินการตามกฎหมายอยู่ คงจะได้หารือกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ อีกครั้ง แต่คิดว่าคงไม่มีประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิม เห็นแตกต่างกันมาก

ภายหลังแถลงข่าว นายวราเทพกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่รัฐบาลสังเคราะห์กฎหมาย มาตรา 165 การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญหากจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ถึง 23 ล้านเสียงถือว่าจบ ถ้าเกินรัฐบาลเดินหน้าต่อ เหลือเพียงคณะทำงานที่ตั้งขึ้นต้องไปพิจารณารายละเอียดก่อนเสนอกลับมายัง ครม.จึงนำประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ภายใน 15 วัน และก่อน 30 วัน ลงคะแนนประชามติต้องแจกเนื้อหาสาระการทำประชามติไปยังบ้านเรือนประชาชนทุกคน ส่วนการจัดเวทีสานเสวนานั้นจะเน้นให้ข้อมูลกับประชาชนครบทุกด้านทั้งฝ่ายที่เห็นและไม่เห็นด้วย โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนด ส่วนรายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในการกำหนดยกร่างแก้ไข ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถตอบแทนได้ ส่วนหัวข้อคำถามในการทำประชามติจะอยู่ที่ว่าตามที่ศาลรัฐธรรมนูญให้คำแนะนำเรื่องที่ค้างในสภา คือ จะเดินหน้าในวาระ 3 ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีการแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อลงมติให้มี ส.ส.ร.หรือไม่

ด้าน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องประชาเสวนา โดยจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ขัดกับการทำประชามติ อย่างไรก็ตาม กฎหมายประกอบการทำประชาพิจารณาจะต้องระบุไว้ในมาตรา 10 เมื่อมีการประกาศให้มีการออกเสียงแล้วให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะทำประชามติต้องดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวข้องเรื่องจะทำประชามติแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้น ในหัวข้อรายละเอียด คือ 1. ชื่อเรื่องที่จะทำประชามติและเหตุผลจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการทำประชามติ 2. สาระสำคัญของกิจการในเรื่องของการทำประชามติ 3. ขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการทำทำประชามติ 4. ประมาณการค่าใช้จ่าย และที่มาของงบประมาณที่จะนำไปใช้ 5. ประโยชน์ได้เสียที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ ประชาชน รวมทั้งมาตราในการป้องกันแก้ไข และเยียวยาความเดือดร้อนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการ พร้อมสรุปเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียด้วย

นายจารุพงศ์กล่าวว่า สำหรับงบประมาณนั้นเป็นข้อเสนอของ กกต.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้นเพราะคนที่จะดำเนินการจัดการออกเสียงคือ กกต. อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยจะมีการรณรงค์ทำความเข้าใจต่อประชาชน ทั้งนี้ในส่วนของจำนวนของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามตินั้นขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปว่าเป็นเท่าใดแน่ ต้องรอให้มีการสรุปจำนวนประชากร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 55 เสียก่อนจึงจะทราบจำนวนของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างแท้จริง ก่อนที่จะดูว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิใช้เสียงเป็นจำนวนเท่าใด เพราะตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ในมาตรา 9 กำหนดกติกาการออกเสียงประชามติไว้ 2 ขั้น คือ 1. การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และ 2. ต้องมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามติ หมายความว่าหากมีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิก็จะแสดงว่าเรื่องนี้ไม่ผ่านความเห็นของประชาชน แต่หากมีผู้มาออกเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งก็ต้องมาดูว่ามีผู้เห็นด้วยมากกว่าหรือไม่

เมื่อถามถึงกระบวนการประชาเสวนาสร้างความปรองดองที่ทางกระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการอยู่ นายจารุพงศ์กล่าวว่า อาจจะใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นการดำเนินการคนละส่วน ซึ่งการออกเสียงประชามติสามารถทำได้หากมีการจัดทำขั้นตอนรายละเอียดทั้งหัวข้อและวิธีดำเนินการแล้วเสร็จก็ไม่จำเป็นต้องรอให้การทำประชาเสวนาเสร็จสิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น