ประธาน กกต.แนะ ครม.กำหนดประเด็นแก้ไข รธน.ให้ชัด เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลก่อนลงประชามติ ระบุควรเป็นคำถามปลายปิดให้ประชาชนเลือกเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเท่านั้น เตือน “อภิสิทธิ์” เสี่ยงผิดกฎหมายรณรงค์คว่ำประชามติ ขัดขวางประชาธิปไตยถึงขั้นอาจยุบพรรค
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเตรียมทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ กกต.ดำเนินการก็พร้อม แต่ควรกำหนดประเด็นในการจะแก้ไขให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ในส่วนของ กกต.ปรับปรุงระเบียบเพียงเล็กน้อย ก็สามารถจัดทำประชามติได้ อย่างไรก็ตามคาดว่าวันออกเสียงประชามติน่าจะอยู่ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2556 ตามที่กฎหมายระบุให้ กกต.จัดทำประชามติไม่น้อยกว่า 90 วันแต่ไม่เกิน 120 วัน
ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านระบุจะคว่ำการจัดทำประชามติครั้งนี้นั้น นายอภิชาต ขอไม่แสดงความคิดเห็น แต่หากมีบุคคลหรือฝ่ายใดดำเนินการดังกล่าว กกต.ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย
ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า ประเด็นที่จะทำประชามติควรมีความชัดเจน ประชาชนเข้าใจง่าย เป็นลักษณะคำถามหรือหัวข้อปลายปิดเพื่อให้ประชาชนตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นคำถามที่เปิดให้ตอบแบบอธิบายยาว และเมื่อรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติก็ต้องจัดเวทีให้ฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้โต้แย้งแสดงเหตุผลให้กับประชาชนได้รับทราบ โดย กกต.เป็นเพียงผู้จัดทำประชามติตามที่รัฐบาลต้องการเท่านั้น ซึ่งหาก ครม.มีมติในวันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค.) ให้ กกต.เป็นผู้ทำประชามติ การจะเริ่มดำเนินการก็ต้องรอให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 15 วัน โดยกฎหมายกำหนดให้ กกต.ดำเนินการทำประชามติไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน คาดว่าจะสามารถกำหนดวันออกเสียงประชามติได้ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 56
ส่วนกรณีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุจะรณรงค์ให้ประชาชนล้มการจัดทำประชามติครั้งนี้ นางสดศรีกล่าวว่า อาจสุ่มเสี่ยงผิดต่อมาตรา 43 (3) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 ที่ระบุห้ามผู้ใดหลอกลวงบังคับขู่เข็ญหรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวัน เวลา ที่ออกเสียง หรือวิธีการลงคะแนนออกเสียง ซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ดังนั้นการกระทำใดที่ส่อเป็นความผิดอาจถูกร้องต่อ กกต. และศาลอาญาได้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดทางอาญา
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการขัดขวางจะมีผลถึงขั้นถูกยุบพรรคหรือไม่ นางสดศรีกล่าวว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 93 และ 94 บัญญัติความหมายไว้กว้างๆ ว่า หากพรรคการเมืองใดมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย หรือกระทำการที่เป็นปฏิปักษ์หรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย อาจมีความผิดได้ รวมทั้งทำให้เกิดการร้องเรียนได้ง่าย ซึ่งก็ทำให้ศาลสามารถตีความได้กว้างว่า กรณีดังกล่าวสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายความผิดที่ต้องยุบพรรคหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากมีทำประชามติแล้วประชาชนไม่ไปออกเสียงประชามติก็ไม่ถือว่าเป็นเหตุให้เสียสิทธิเหมือนกับการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แต่หากว่ามีบุคคลใดไปบังคับขู่เข็ญไม่ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ถือว่ามีโทษทางกฎหมาย จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ ตนเห็นว่าถ้าประชาชนคนไหนไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ควรจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปลงเสียงประชามติ และกากในช่องไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ก็น่าจะดีกว่าและไม่ขัดกับหลักกฎหมาย
นางสดศรียังกล่าวถึงคะแนนเสียงที่จะใช้ในการออกเสียงประชามติว่า ประชามติจะเป็นผลได้คะแนนเสียงต้องเข้าข่าย 2 องค์ประกอบ คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งในขณะนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 46 ล้านคน ดังนั้นจะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิราว 23 ล้านคนขึ้นไป จากนั้นเสียงที่ทำให้ประชามติครั้งนี้ผ่านต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิก็คือต้องเกินกว่า 12 ล้าน หากไม่เป็นไปตามหลักข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะถือว่าการทำประชามตินั้นตกไปทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการออกเสียงประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2550 มีการใช้งบประมาณไปราว 2,000 ล้านบาท โดยเป็นในส่วนของ กกต.1,500 ล้านบาท สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรโดยรวมในส่วนของสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย 499 ล้านบาท กกต.จึงมีการประมาณการว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้จะใช้งบประมาณราว 2,200 ล้านบาท