xs
xsm
sm
md
lg

ทำประชามติส่อขัดรธน."ปู"ลังเล"ใส่เกียร์ถอย" กกต.ยกคำร้องยุบปชป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ยิ่งลักษณ์" ส่อใส่เกียร์ถอยประชามติ ตั้งคณะทำงานศึกษาฯ "เหลิม"เตือนรัฐบาลจะเสียเหลี่ยม หากประชาชนไม่เล่นด้วย "บรรเจิด" ชี้การทำประชามติส่อขัดรธน. "มาร์ค"ไม่สนเสียงขู่ยุบพรรค ย้ำชัดแก้รธน.เพื่อช่วย"แม้ว" ด้าน"สุกำพล" เย้ยปชป.กลัว “แม้ว”จนขนหัวลุก ด้านกกต. ยกคำร้องยุบพรรคปชป. กรณีพท.ร้องสอบขึ้นป้ายต่อต้านแก้ไขรธน.

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการจัดทำประชามติ เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งมีการหารือในที่ประชุมครม.ว่า ได้มอบหมายให้นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ชี้แจงแล้ว ส่วนเรื่องรายละเอียด ครม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการศึกษาเพิ่มเติม

ในลำดับขั้นตอนจะต้องมีการถามความเห็นจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย ตอนนี้มติครม. ยังให้หารือในส่วนของการทำประชาเสวนา และประชามติอยู่

ซึ่งจะเริ่มทำหลังจากที่ครม.มีมติ และ ครม.ได้หารือกับประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ กกต. ก่อน ทั้งนี้ยังคงเป็นมติ ครม.ที่ให้ไปทำการศึกษา ระหว่างการทำประชาเสวนา กับประชามติ ยังอยู่ในขั้นตอนนี้

** ขอเวลา 3สัปดาห์ก่อนสรุป

ด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และรับฟังข้อเสนอจาก กกต. ซึ่งทั้งหมดเห็นตรงกันว่า ควรจัดให้มีการทำประชามติ ส่วนระยะเวลาการทำงาน คาดว่าจะใช้เวลา ประมาณ 2-3 สัปดาห์

**แจงเกณฑ์นับคะแนนประชามติ

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมครม. นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ชี้แจงถึงการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการออกเสียงประชามติ โดยยืนยันว่า การทำประชามติมีกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 รองรับใน มาตรา 165 ซึ่งการออกเสียงประชามติเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ โดยเกี่ยวกับกับมาตรา 165 (1) และมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ดังนั้น หากจะมีการทำประชามติ ไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขกฎหมายใด หรือแก้รัฐธรรมนูญ แต่สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่บัญญัติไว้

ส่วนข้อถกเถียงว่าผลของประชามติ คะแนนที่จะให้ความเห็นชอบจะอยู่ที่เท่าไรนั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันชัดเจนว่า เป็นไปตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่กำหนดไว้ว่า จะต้องมี 2 ขั้นตอนคือ 1. จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และ 2. จะได้เสียงข้างมากหรือเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ หากมีผู้มีสิทธิออกเสียง 46 ล้านเสียง ต้องมีผู้มาลงคะแนนไม่น้อยกว่า 23 ล้านเสียง และเสียงให้ความเห็นชอบจะต้องมากกว่าครึ่งหนึ่งของ 23 ล้านเสียง

นายวราเทพ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา ดำเนินการศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติ และประชาเสวนาว่าจะดำเนินการอย่างไร
จากการที่รัฐบาลสังเคราะห์กฎหมาย มาตรา 165 การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ถึง 23 ล้านเสียง ถือว่าจบ ถ้าเกินรัฐบาลเดินหน้าต่อ เหลือเพียงคณะทำงานที่ตั้งขึ้นต้องไปพิจารณารายเละเอียดก่อนเสนอกลับมายัง ครม. จึงนำประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ภายใน 15 วัน และก่อน 30 วัน ลงคะแนนประชามติ ต้องแจกเนื้อหาสาระการทำประชามติไปยังบ้านเรือนประชาชนทุกคน

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องประชาเสวนา โดย จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ขัดกับการทำประชามติ

สำหรับงบประมาณนั้น เป็นข้อเสนอของ กกต. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้น เพราะคนที่จะดำเนินการจัดการออกเสียงคือ กกต.

** "เหลิม"กลัวเสียเหลี่ยม ปชช.ไม่เอาด้วย

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ไม่เข้าร่วมการประชุม ครม.เมื่อวานนี้ ว่า ตนไม่สบาย ไม่ใช่อย่างที่หลายฝ่ายมองกันว่าไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ซึ่งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย มีความคิดเห็นอย่างไร ตนก็เห็นตาม แต่ตนต้องพูดถึงความเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ ซึ่งตนดูตัวเลขแล้วว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 48 ล้านคน มีเศษกว่า 3 แสนนั้น จะต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 24 ล้านเสียง ซึ่งมันเป็นเรื่องยาก

** เสียงไม่ถึง รัฐบาลส่อใส่เกียร์ถอย

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับที่รัฐบาลยังไม่เดินหน้าให้มีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ โดยตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายการทำประชามติ ขึ้นมาศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติก่อน เพราะรัฐบาลยังไม่มั่นใจในเรื่องของจำนวนผู้มีสิทธิที่จะมาออกเสียง ว่าจะถึงตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ถ้าตั้งสมมุติฐานว่ารัฐบาลจะทำประชามติที่เป็นข้อยุติ จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จากการเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 มีทั้งสิ้น 46,939,549 คน หากมีการจัดทำประชามติ จะต้องมีผู้มาออกเสียงในชั้นแรกก่อนเกินครึ่งหนึ่ง คือ ต้องเกินกว่า 23,469,775 คน จากนั้นต้องมาคิดจำนวนเสียงที่ลงประชามติเห็นชอบกับประเด็นที่ตั้งไว้ ว่า ต้องเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ คือ เกินกว่า 11,734,887 คนขึ้นไป

แต่เมื่อนำคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อที่เลือก 6 พรรคร่วมรัฐบาล ในการเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 มาพิจารณาเป็นเสียงที่จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า พรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 15,752,470 คะแนน พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ได้คะแนน 495,762 คะแนน พรรคประชาธิปไตยใหม่ ได้คะแนน 125,753 คะแนน พรรคพลังชล 178,042 คะแนน ชาติไทยพัฒนา ได้คะแนน 907,106 คะแนน และพรรคมหาชน ได้คะแนน 133,752 คะแนน รวมเป็นคะแนนทั้งสิ้น 17,592,885 คะแนน ซึ่งยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้ที่ต้องออกมาใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด หรือถ้ารวมคะแนนของพรรคภูมิใจไทยที่โหวตผ่านไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่ผ่านมาอีก 1,281,652 คะแนน ก็ได้คะแนนรวม เพียง 18,874,537 คะแนนเท่านั้น

จากคะแนนดังกล่าว เชื่อว่าทำให้รัฐบาลต้องถอยกลับไปตั้งหลัก ด้วยการตั้งคณะทำงานและให้ความสำคัญกับการให้กระทรวงมหาดไทย ไปดำเนินการเรื่องการสานเสวนา เพื่อหยั่งกระแสเสียงของประชาชนเสียก่อน

** ทำประชามติ เรื่องก็ไม่จบ

นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงการทำประชามติ ก่อนโหวตแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 ว่า ถ้าย้อนดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่า ถ้าจะแก้ทั้งฉบับไม่สามารถทำได้ ต้องถามประชาชนก่อน แต่พอจะไปทำ ก็ต้องยึดโยงว่า มาตรา 291 ไม่ได้เปิดช่องไว้โดยตรง จึงต้องไปใช้มาตรา 165 โดยวรรค 4 บอกว่า “การออกเสียงประชามติ ต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติ ในเรื่องที่ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้”

ทีนี้พอมาดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นที่นำมาสู่สาระสำคัญของการลงประชามติ คือ แก้ทั้งฉบับ หรือไม่ ให้มี ส.ส.ร. หรือไม่ กระทบต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปล่า และร่างรัฐธรรมนูญนี้ บอกให้ประธานสภาเป็นคนชี้ ประเด็นนี้โดยตัวของมันเองขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมาถ่วงดุลเสียงข้างมากของรัฐสภา การที่ให้ประธานสภามาชี้ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ มาตรา 291 ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เรียกว่าเป็นหลักการชั่วนิรันดร์ แต่เรากลับจะเขียนรัฐธรรมนูญไปให้อำนาจประธาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเสียงข้างมากของรัฐสภา หมายความว่า เราทำให้รัฐธรรมนูญพังทั้งฉบับ

“ปัญหาคือ ประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น การทำประชามติ จะขัดมาตรา 165 ว่าด้วยการทำประชามติ เพราะถ้าประชาชนเห็นชอบด้วย ท้ายที่สุดพอโหวต วาระ 3 ก็จะเป็นประเด็นทางข้อกฎหมายอีก และขอยืนยันว่ารัฐสภาไม่ได้มีอำนาจสูงสุด ต้องผูกพันกับรัฐธรรมนูญ ” นายบรรเจิด กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รณรงค์ให้ประชาชน ไม่ออกไปใช้สิทธิลงประชามติ ว่า ขัดกฎหมายหรือเปล่า นายบรรเจิด กล่าวตอบว่า ไม่เข้าข่าย มาตรา 43 ของ พ.ร.บ

.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ระบุความผิดของการกระทำไว้ว่า “หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ” แต่แม้ไม่เข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย ด้านนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ดูเชิงคณิตศาสตร์ เลือกตั้งครั้งล่าสุดเพื่อไทยได้ 15 ล้านเสียง ต่อให้โอนเสียงทั้งหมดนี้มาใช้ในการผ่านประชามติ ก็ยังไม่พออยู่ดี

** ผลประชามติไม่ผูกพันโหวต วาระ 3

นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง และการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ให้การทำประชามติ เป็นอำนาจของครม. และเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม ตรงตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดให้สามารถทำประชามติได้ จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อมีข้อยุติ หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ครม. เพราะทั้ง 2 กรณี จะใช้จำนวนเสียงจำนวนเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียงแตกต่างกัน

เมื่อถามว่า การทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของครม. เสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ที่ระบุว่า ให้ครม.ทำประชามติได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารประเทศ เช่น สมควรสร้างแก่งเสือเต้นหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า ขณะนี้บ้านเมืองไม่ปกติ รัฐบาลถูกฟ้องได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ถ้าไปดูคำวินิจฉัยของศาลรธน. ก็ระบุว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมควรที่จะต้องถามประชาชนเสียก่อน ขณะเดียวกันกฎหมายก็เขียนให้อำนาจ การทำประชามติ เป็นของรัฐบาล แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา

** "มาร์ค"ไม่สนเสียงขู่ยุบพรรค

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลข่มขู่ว่า จดหมายเปิดผนึกรณรงค์ให้คว่ำประชามติ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ถึงขั้นยุบพรรค ว่า ตนไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพราะการทำประชามติ จะต้องมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย อีกทั้งที่ที่ตนเขียนในจดหมายเปิดผนึก ก็ไม่มีส่วนใดที่จะก่อความวุ่นวาย แต่ให้ดำเนินการตามระบบ จึงไม่เข้าใจว่าจะมีความผิดถึงขั้นยุบพรรคได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ ยังสนับสนุนแนวคิดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ชะลอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน และเห็นว่า หากแก้รัฐธรรมนูญควรแก้เป็นรายมาตรา มากกว่า เพื่อให้เห็นชัดเจนถึงความต้องการของรัฐบาล เพราะมีการแสดงออกชัดเจนว่า เป้าหมายคือ มาตรา 309 เพื่อช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นผิดในคดีทุจริต ซึ่งพรรคไม่เห็นด้วย และจะคัดค้านเรื่องนี้

** เย้ย"มาร์ค"กลัว"แม้ว"จนขนหัวลุก

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวถึง การลงประชามติ ว่า รัฐบาลทำตามกลไก กฎหมาย กติกาที่มีอยู่ ทุกอย่างเราทำตามกติกา และเปิดเผย อย่าไปตีตนก่อนไข้ว่าเขาจะแก้อย่างนั้น อย่างนี้ แล้วไปลงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ

" กลัว พ.ต.ท.ทักษิณ มากหรืออย่างไร หรือเมื่อเห็นรูปแล้วขนหัวลุก ผมขอท้าให้นำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาให้พูดคุยให้เห็นหน้ากัน แต่พรรคประชาธิปัตย์ กลัวไม่อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา" พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว

** กกต.ยกคำร้องยุบพรรคปชป.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทย เตรียมจะยื่นให้กกต. ตรวจสอบกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ ประกาศจะรณรงค์ให้ประชาชนล้มการทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เข้าข่ายเป็นผิดกฎหมายหรือไม่ นั้น แหล่งข่าวจาก กกต. ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศให้มีการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังไม่รู้ว่าประกาศดังกล่าว จะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งก็เหมือนกับการจะเลือกตั้ง เมื่อ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งยังไม่มีผลบังคับใช้ การกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายไม่ถือว่าเป็นความผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ธ.ค.มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้ใช้เวลาหารือถึงการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนานกว่า 50 นาที รมต.ส่วนใหญ่แสดงความกังวลต่อจำนวนเสียงที่จะมาลงประชามติ นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย แจ้งต่อครม.จากทะเบียนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั่วประเทศอายุเกิน 18 ปี มีจำนวน 46 ล้านเสียง ซึ่งจะมีการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการสิ้นเดือนธันวาคมนี้ โดยจะมีผู้มีสิทธิอายุเกิน 18 ปี เพิ่มขึ้นอีก 7 แสนคน จะทำให้ผู้มีสิทธิ จำนวน 46.7 ล้านคน ซึ่งการลงประชามติต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งประมาณ 24 ล้านคน ถ้ามาไม่ถึง 24 ล้านการประชามติตกไป แต่ถ้ามาถึง 24 ล้าน ต้องดูว่าจะมียอดผู้ลงคะแนนเห็นด้วยแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงเกิน 12 ล้านเสียงหรือไม่ โดยนายกฯ ขอให้คณะทำงานไปรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิประชามติมากๆ โดยต้องเน้นให้ความสำคัญว่า “ นี่คือการลงประชามติครั้งแรกของประเทศ ที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย “ และต้องบอกกับประชาชนด้วยว่า ถ้าไม่ไปใช้สิทธิจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจะพลาดโอกาสสำคัญ เพราะนี่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ขณะที่พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังออกมารณรงค์ให้ประชาชานอย่าไปสิทธิลงประชามติ ถือว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิประชาชน เป็นการกระทำการที่ผิดกฎหมาย ประชาธิปัตย์กำลังก้าวพลาดอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น