xs
xsm
sm
md
lg

จะทำประชามติ เพื่อใคร? อะไร?

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

ประเด็นร้อนทางการเมือง กรณีมีการจัดกระทำการณ์เพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 ที่คนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะนักการเมืองเป็นเสียงส่วนใหญ่ มองว่า “ตัวบทกฎหมาย” ซึ่งเป็น “ตัวหนังสือ” ที่ได้มาจากผู้แทนบุคคลทุกภาคส่วนช่วงเวลาหนึ่งตามกระบวนการ มาจัดทำเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติ เป็น “ตัวปัญหา” ในการปกป้องและปกครองประเทศเวลานี้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการแก้ไข โดยอาจใช้ประชามติ เสียงของประชาชนเป็นฐานซักฟอกเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินการ เพื่อใคร? อะไร?

หากพินิจรายละเอียดรัฐธรรมนูญ หมวด 7 การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ใน มาตรา 165 ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในเหตุ ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้

(2) ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ การออกเสียงประชามติตาม (1) หรือ (2) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะการออกเสียงประชามติ ต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติ ในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบ และไม่เห็นชอบกับกิจการนั้น มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน

หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการออกเสียงประชามติ ระยะเวลาในการดำเนินการ และจำนวนเสียงประชามติ เพื่อมีข้อยุติ

ผู้เขียนเห็นว่าหากพิจารณาใน (2) ช่วงท้ายที่กล่าวว่า การจัดการออกเสียงประชามติ ในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจการนั้น มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน ข้อความสำคัญที่เน้นไว้นี้ เป็นข้อสังเกตและตั้งคำถามถึงพฤติการณ์ต่อผู้ประสงค์แก้รัฐธรรมนูญ ว่าหากไม่มีวาระซ่อนเร้น และความจงใจแก้รัฐธรรมนูญในมาตราใดๆ ที่มองว่าเป็นปัญหาสำหรับการบริหารประเทศนี้ ควรดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอต่อภาคประชาชน ผู้ซึ่งมักถูกกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากตัวบทกฎหมายที่ต้องการแก้ไข

และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ความรับผิดชอบต่อคำพูดของผู้นำประเทศ ที่กล่าวว่า ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ไขเพื่อประชาชน มิใช่เพื่อใครคนใด รวมทั้งให้โอกาสการแสดงความคิดเห็นของบุคคลที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบต่อกิจการนั้นอย่างเท่าเทียม นับว่ากระบวนการเหล่านี้ เป็นสิ่งท้าทายที่รัฐจำเป็นจะต้องพิสูจน์ความจริงใจต่อประชาชนทั้งประเทศ ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของประเทศนี้ต้องการเป็นอยู่ในประเทศของตนเองอย่างสงบสุข ปรารถนาจะเห็นผู้นำและคณะผู้บริหารประเทศที่มีวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศชาติ มองเห็นวิถีชีวิตและเข้าใจกระบวนการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วน ที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง มิใช่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในตัวหนังสือเท่านั้น

อนึ่ง ในประเด็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองนี้ ผู้เขียนคิดเห็นว่า จะเป็นความเหลวไหลอย่างมิควรให้อภัยยิ่ง เมื่อนักการเมืองบางคน มักกล่าวอ้างสิทธิความชอบธรรม ว่า ตนได้รับฉันทามติจากประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกไปเป็นผู้แทน แต่นั่นมิใช่ประชาชนคนทั้งหมดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการเลือกผู้แทนคนใดคนหนึ่ง เมื่อบางครั้งเกิดได้ดำเนินการหรือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มิได้คำนึงถึงประชาชนทุกภาคส่วน ผู้ซึ่งต้องทำมาหากินเลี้ยงชีวิต พร้อมกับเสียภาษีให้รัฐสำหรับพัฒนาประเทศนี้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมทั้งยังต้องจ่ายค่าจ้างให้กับนักการเมืองที่บริหารประเทศนี้อีกเสียด้วยซ้ำต้องมารับผลกระทบ พลอยตกระกำลำบากและทุกข์ยากใจเบื่อหน่ายกับการเมืองและการบริหารประเทศที่มิได้คำนึงถึงภาคประชาชน ซึ่งถูกเรียกร้องให้เป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวมตามกติกาที่รัฐกำกับไว้

ถึงเวลาหรือยัง ที่ต่างเหล่านักการเมืองและฝ่ายบริหารประเทศ เสียเวลาสักนิด มีจิตสำนึกสักหน่อย คิดถึงสถานภาพและบทบาทของตนเองที่มีต่อความรับผิดชอบในหน้าที่ต่อประชาชนอย่างซื่อสัตย์ ทำงานให้คุ้มค่ากับเงินเดือนในตำแหน่ง มุ่งมั่นทำงานอย่างสุจริต ลด ละ เลิก พฤติกรรมคอร์รัปชัน กระทำเพื่อพวกพ้องและรักษาอำนาจทางการเมือง รวมทั้งให้คิดเสมือนหนึ่ง ว่า ประชาชนทุกคนในประเทศนี้ คือพี่น้องร่วมสายโลหิตที่เกิดตามกันมาร่วมบิดามารดา เตือนตนอย่างมีสติเสมอว่า

นักการเมืองอย่าเพลินใช้เวลาเล่นละครการเมือง จนลืมเวลาแห่งการทำหน้าที่ผู้แทนที่ดีของประชาชน ไปมุ่งผลแก้ไขตัวหนังสือให้เป็นไปได้ดั่งใจในกิเลสของคนที่ต้องการสร้างความชอบธรรม ให้กับตนและผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งซ้ำจะเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น หากเลยเถิดคิดจะใช้ประชาชนเป็นฐานและเครื่องมือสำหรับซักฟอกให้การกระทำนั้นๆ ให้หวังผลเป็นความถูกต้องและความบริสุทธิ์ชอบธรรม แล้วจะเสียเวลามาทำประชามติไปไย ในเมื่อธงคำตอบ มีอยู่ในใจใครบางคนแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น